ร้อง ป.ป.ช.สอบ "มท.1-ผู้ว่าฯชลบุรี-ตร." ปมปล่อยเปิดผับ "เมาท์เทน บี"
ถึงมือ "ศรีสุวรรณ" ลุยยื่นคำร้อง ป.ป.ช. เอาผิด "มท.1-ผู้ว่าฯชลบุรี-ตำรวจ" กับพวก รวม 8 ราย ส่อเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ปมปล่อยให้เปิดผับ "เมาน์เทน บี"
เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องเอาผิด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีปล่อยให้มีการเปิดสถานบริการประเภทผับ "เมาน์เทน บี" ในพื้นที่ต้องห้าม และไม่เป็นไปตามกฎหมาย จนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้สร้างความเสียหายต่อชีวิตนักท่องเที่ยวไปกว่า 15 ราย และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมากนั้น
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นศาลจังหวัดพัทยาได้อนุมัติหมายจับเจ้าของเมาน์เทนบี สถานที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวมาสอบสวนเพื่อส่งอัยการฟ้องต่อศาลเพื่อลงโทษก็ตาม แต่มีประเด็นที่สังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก หลายประการ อาทิ 1.ผับดังกล่าวอยู่ในพื้นที่โซนนิ่งไม่ให้มีสถานบันเทิง เหตุใดจึงสามารถเปิดดำเนินการได้ 2.ผับดังกล่าวแม้จะมีการยื่นคำขอรับใบอนุญาต แต่ทว่าตามกฎหมายไม่สามารถอนุญาตให้เปิดบริการได้ เหตุใดจึงปล่อยให้เปิดดำเนินการได้ 3.ผับดังกล่าวเคยถูก สภ.พลูตาหลวง จับกุมไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 16 ก.ค.65 ในข้อหาก่อให้เกิดเสียงดังสร้างความเดือดร้อนรำคาญต่อชาวบ้านใกล้เคียง แต่ สภ.พลูตาหลวง กลับไม่ตรวจสอบเลยว่าผับดังกล่าวเปิดให้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาต และอยู่ในพื้นที่โซนนิ่งไม่ให้มีสถานบันเทิง
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า 4.ผับดังกล่าวเดิมเป็นเพียงอาคารที่เปิดเป็นร้านอาหารธรรมดาทั่วไป ต่อมามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่อเติมอาคารทำเป็น “ผับ” (ม.3 พรบ.สถานบริการ 2509 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) อย่างชัดแจ้ง แต่กลับไม่มีการตรวจสอบว่าขออนุญาตต่อเติมอาคาร ตาม พรบ.ควบคุมอาคาร 2522 หรือไม่ 5.ผับดังกล่าวเปิดเกินเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ชาวบ้านแจ้งว่าบางวันถึงตี 4 ก็มี เหตุใดจึงสามารถเปิดดำเนินการได้ถึงเวลาดังกล่าวได้ และ 6.ไฟไหม้ผับดังกล่าวพบว่ามีเด็กหรือเยาวชนอายุ 17-18 ปี เสียชีวิตอยู่ด้วย แสดงให้เห็นว่ามีการละเลยการตรวจสอบ ปล่อยให้เด็กหรือเยาวชนเข้าไปใช้บริการได้อย่างไร
นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า พรบ.สถานบริการ 2509 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้ รมว.มหาดไทยเป็นผู้รักษาการกฎหมาย ส่วน ม.3 กำหนดให้ “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความถึง “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ซึ่งใน ม.4ของกฎหมายดังกล่าวระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดตั้งสถานบริการ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” จึงเป็นหน้าที่และอำนาจของฝ่ายปกครองที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และในขณะเดียวกันมีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 7/2551 กำหนดให้ฝ่ายปกครอง-ตำรวจ ต้องกวดขันตรวจตราการฝ่าฝืนกฎหมายข้างต้นอย่างเคร่งครัดในพื้นที่รับผิดชอบของตนด้วย แต่ยังปล่อยให้มีการละเมิดกฎหมายขึ้นมาได้ นำมาซึ่งความสูญเสียอย่างมาก ซึ่ง มท.1-ผู้ว่าฯชลบุรี-ตำรวจ และพวก ต้องร่วมกันรับผิดชอบในกรณีนี้ จะลงโทษทางวินัยแค่สั่งย้ายออกนอกพื้นที่นั้นไม่เพียงพอ สมาคมจึงต้องมาร้อง ป.ป.ช. เพื่อให้ไต่สวนสอบสวนเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด