เปิด”บันทึก กรธ.” เจตนา รธน.60 ไขปม “นายกฯประยุทธ์” 8 ปี
บันทึกประชุม กรธ. ที่อ้างความเห็น "อ.มีชัย-สุพจน์" ว่าด้วยการดำรงตำแหน่ง นายกฯ ของ "ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ว่า 8ปีที่ นั้น ยังไม่ใช่มติสุดท้าย แต่เมื่อเปิดความมุ่งหมายรธน.รายมาตรา ตอกย้ำให้เห็นข้อเท็จจริง ที่ต้องการไม่ให้ "ใคร" สืบทอดอำนาจ
ประเด็นข้อถกเถียงต่อวาระการดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคท้าย กำหนดข้อจำกัดของผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ว่า ต้องไม่เกิน 8 ปี
ล่าสุด มีเอกสารเผยแพร่ อ้างอิงความเห็นของ มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรธ. และ สุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรธ. คนที่หนึ่ง ที่สรุปความได้ว่า “การนับวาระดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ให้นับรวมวาระที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ก่อนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ใช้บังคับด้วย”
ซึ่งถูกเลือกใช้มาเพียง 2 คนจาก กรธ.ที่เข้าร่วมทั้งหมด 19 คน ตามที่บันทึก กรธ. ครั้งที่500 วันที่ 7 กันยายน 2561 ระบุไว้
ทว่า เมื่อดูไทม์ไลน์ของการบันทึกประชุม ที่ลงไว้ว่า 7 กันยายน 2561 คล้อยหลังจากที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศใช้มาแล้วกว่า 1 ปี (รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560)
ดังนั้น เรื่องของ 2 ความเห็น นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับ “บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ” เพราะรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว เนื้อหาจึงถือว่าเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว
แต่ในช่วงที่อ้างอิงถึง เป็นช่วงที่ “กรธ.” พิจารณาและจัดทำ "ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมูญ 2560” ตั้งแต่ 6 ธันวาคม 2560 ถึง 11 กันยายน 2561
แหล่งข่าวที่อยู่ในวงหารือ เมื่อ 7 กันยายน 2561 เล่าให้ฟังว่า
"เอกสารบันทึกการประชุมกรธ. วันที่ 7 กันยายน 2561 จึงเป็นช่วงท้ายๆ ของการจัดทำ และพิจารณาทำความมุ่งหมาย ของรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับบทเฉพาะกาล มาตรา 264 ซึ่งเป็นการยกประเด็นหารือว่า เจตนารมณ์ดังกล่าวจะเกิดอะไรขึ้น และ ครม. มีผลอย่างไร ส่วนเหตุที่ กรธ.ต้องอยู่ต่อหลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำหน้าที่ต่อจนกว่า ร่างกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับจะประกาศใช้ ดังนั้นเมื่อทำกฎหมายลูกเสร็จ มีระยะเวลาที่ต้องรอ กรธ.จึงใช้เวลาทำหนังสือความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ”
โดยบทบัญญัติมาตรา 264 กำหนด ให้ “ครม.“ ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ให้เป็น “ครม.” ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่า ครม. ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก จะเข้ารับหน้าที่ พร้อมกำหนดบทยกเว้นว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ “รัฐมนตรี” ซึ่งอ้างถึงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557
ความมุ่งหมาย ที่ “กรธ.” จัดพิมพ์ในเอกสาร ระบุว่า “กำหนดให้ ครม. ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีครม. ชุดใหม่ เพื่อความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยต้องมีคุณสมบติและลักษณะต้องห่ามตามบทหลักของรัฐธรรมนูญ ยกเว้นลักษณะต้องห้ามบางประการที่ใช้บังคับกับ ครม. ที่มาตามรัฐธรรมนูญนี้เป็นการเฉพาะ”
ขณะที่คำอธิบายประกอบ ระบุถูกระบุเป็นข้อๆ จำนวน 4 ข้อ แต่มีข้อที่สำคัญ คือ 1. เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารเป็นไปโดยต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดีเอกสารบางส่วนที่ถูกยกมาเป็นประเด็น โดยผสมโรงกับ “ปัญหาทางการเมือง” โดยอ้างถึงมาตรา 158 วรรคท้าย ที่ขีดเส้น “ให้ บุคคลใดที่ดำรงตำแหน่ง นายกฯ จะเป็นนายกฯ เกิน8ปี” ไม่ได้
"แหล่งข่าว ในวงประชุมกรธ.” เล่าย้อนเหตุการณ์วันนั้นว่า ที่ประชุมได้พูดคุยถึงปัญหาทางการเมือง ที่ฝ่ายการเมืองซึ่งอยู่ในอำนาจยาวนานเกินไป อาจทำให้มีปัญหาได้ ดังนั้นจึงควรกำหนดให้อยู่ในตำแหน่ง โดยมีกรอบเวลา เหมือนกับรัฐธรรมนูญบางฉบับก่อนหน้านี้ ที่เขียนไว้ว่า ห้ามเป็นนายกฯ ติดต่อกันเกิน 8 ปี แต่ในที่ประชุมได้พิจารณาและเพิ่มความเข้มข้น ให้กำหนดเส้นที่ 8 ปี แต่ให้นับรวมในช่วงชีวิตที่เป็นนายกฯ มาแล้ว แม้จะเป็นต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่อง ต้องนับรวมกัน ให้ไม่เกิน 8 ปี แต่ไม่นับรวมระยะเวลาที่รักษาการ
“การเขียนบทบัญญัติมาตรา 158 วรรคท้าย ของกรธ. ไม่ได้ตั้งโจทย์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะตอนนั้นไม่ทราบว่าพล.อ.ประยุทธ์จะได้รับเลือกตั้งมาเป็นนายกฯอีกหรือไม หรือจะรับการเสนอชื่อเป็นนายกฯหรือไม่ จึงเขียนบทบัญญัติที่ครอบคลุม โดยไม่สนว่า คุณเป็นนายกฯมาจากรัฐธรรมนูญฉบับใด แต่ในช่วงชีวิตเป็นนายกฯ เต็มที่ได้ 8 ปี”
ส่วน “กรธ.” คนใดที่เสนอ ตัวเลข “8ปี” นั้น เป็นผลการหารือร่วมกันว่า หากจะเป็นนายกฯ สมัยเดียวเท่านั้นอาจสั้นไป ดังนั้น 2 สมัยน่าจะมีความพอดี
ขณะที่ความมุ่งหมายของมาตรา 158 ในความของวรรคท้าย ที่กำหนดว่า “นายกรัฐมนตรี จะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่ไม่ให้นับรวมระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่หลังพ้นจากตำแหน่ง”
มีสาระสำคัญที่เกี่ยวเนื่องตอนหนึ่งว่า “การกำหนดหลักการใหม่ เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา คือ 8 ปี แม้บุคคลดังกล่าวจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแห่งนายกฯ ของบุคคล แล้วเกิน8 ปี ต้องห้าม ไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ”
“การกำหนดระยะเวลา 8 ปีไว้ เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดทางอำนาจทางการเมืองยาวนานเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุวิกฤตทางการเมืองได้”
ทั้งนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องต่อเรื่องนี้ “สุพจน์ ไข่มุกด์” อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตรองประธานกรธ. คนที่หนึ่ง ย้ำชัดว่า ในระหว่างการประชุม กรธ.สามารถมีความเห็นส่วนตัวได้ เพราะเป็นประเด็นที่ถกเถียงเริ่มแรก ซึ่งไม่ใช่มติ แต่ได้ให้ความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไว้ว่า การนับวาระ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ นับปีแรก ในวันที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ 9 มิถุนายน 2562”
แต่เรื่องนี้ คนที่มีอำนาจ วินิจฉัย และชี้ได้ชัดเจนที่สุด “ศาลรัฐธรรมนูญ” ดังนั้นขอให้ไปจบที่สาลรัฐธรรมนูญ.