กทม.จับมือผู้ตรวจฯ บูรณาการ 5 เรื่อง เดินหน้าแก้ปัญหาด่วนให้ประชาชน
กทม.จับมือผู้ตรวจฯ เดินหน้าแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนประชาชนอย่างเร่งด่วน-มีประสิทธิภาพ บูรณการ 5 เรื่องหลัก ใช้ระบบ Fast Track-พีอาร์บทบาท-สร้างเครือข่ายความร่วมมือในชุมชน-เยาวชน-ส่งเสริมวินัยจราจร
เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กับ กรุงเทพมหานคร โดยมีคณะผู้บริหารสำนักงานตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร ร่วมในพิธี จากนั้นได้ร่วมเสวนา "จับมือเดินหน้าร่วมแก้ไขปัญหาให้ประชาชน สผผ. & กทม." ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินกับกรุงเทพมหานครฉบับนี้ เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของทั้งสองหน่วยงานที่มีเป้าหมายในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และการแก้ไขความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะบูรณาการการทำงานและประสานความร่วมมือภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงาน ใน 5 ด้าน คือ
1. ด้านการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเร่งด่วน FAST TRACK OMB & BMA จะเป็นความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในการประสานและลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพ โดยในส่วนของกรุงเทพมหานครมอบหมายให้ผู้ประสานงานในระดับพื้นที่ ได้แก่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตสั่งราชการฝ่ายปกครองเป็นผู้ประสานงานระดับสำนักงานเขต และเลขานุการสำนักเป็นผู้ประสานงานระดับสำนัก โดยเข้าร่วมกลุ่มผ่านแอปพลิเคชันไลน์ LINE Official Account OMB FAST TRACK BMA เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อประสานงานระหว่างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและกรุงเทพมหานคร รวมทั้งช่องทางการประสานงานอื่น ๆ เช่น โทรศัพท์ โทรสาร และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) เป็นต้น สำหรับประชาชนที่ประสบปัญหา มีความเดือดร้อน หรือเป็นผู้พบเห็นปัญหา สามารถแจ้งผ่านระบบ Line Official: “OMB FAST TRACK BMA” หรือ โทรสายด่วน 1676 (ไม่มีค่าใช้จ่าย)
2. ด้านการประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่และอำนาจของทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินและกรุงเทพมหานคร เป็นการจัดกิจกรรมในรูปแบบการออกหน่วยประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ พร้อมให้บริการปรึกษาปัญหาทางกฎหมายและรับเรื่องร้องเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มุ่งเป้าจัดกิจกรรมทั่วทั้ง 50 เขตในกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาได้นำร่อง 4 เขต คือ เขตสวนหลวง ทวีวัฒนา ประเวศ ดินแดง ได้ผลตอบรับดีโดยเฉพาะการรับฟังปัญหาความทุกข์ร้อนและให้คำปรึกษาแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ประชาชนเกิดทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการทำงานของหน่วยงานรัฐเข้าใจระบบ ระเบียบ ขั้นตอนการปฏิบัติงานมากขึ้น ซึ่งครั้งต่อไปกำหนดจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม เขตภาษีเจริญ และวันเสาร์ที่ 24 กันยายน ที่เขตพระโขนง
3. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับชุมชน มุ่งสร้างเครือข่ายระดับชุมชนในรูปแบบกิจกรรมประชาชนคนทำดี จัดอบรมผู้แทนภาคประชาชน โดยเฉพาะผู้นำชุมชนที่เป็นกระบอกเสียงและผู้นำความคิดของชุมชนในหลายภาคส่วน อาทิ ประธานชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข อปพร. แกนนำองค์กรชุมชนผู้นำสตรี ผู้นำศาสนา และชมรมผู้สูงอายุในพื้นที่ โดยให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ และส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเสนอแนะกลไกในการส่งเสริมธรรมาภิบาล และการปฏิบัติงานเพื่ออำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน ซึ่งจะจัดกิจกรรมนำร่องในพื้นที่เขตสวนหลวงเป็นเขตแรก ในวันเสาร์ที่ 17 กันยายนนี้
4. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับเยาวชน ร่วมมือกันในการสร้างเครือข่ายระดับเยาวชน ในรูปแบบกิจกรรมเยาวชนคนดีเพื่อสังคมจัดกิจกรรม “เยาวชนคนดีเพื่อสังคม” อบรมให้ความรู้เยาวชนกว่า 100 คน จาก 50 เขตในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ และส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเสนอแนะกลไกในการส่งเสริมธรรมาภิบาล และการปฏิบัติงานเพื่ออำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน หวังให้เยาวชนคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้สามารถเป็นกระบอกเสียงและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหาในชุมชนตนเองได้
5. การแก้ไขปัญหาส่งเสริมวินัยทางจราจรและทางม้าลาย โดยร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้เป็นแกนหลักในการรณรงค์ ทั้งกลุ่มผู้ขับขี่ ห้างร้าน และประชาชนผู้เดินถนน
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือในการปฏิบัติงานเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการแก้ไขความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมให้กับประชาชน ดังนั้นการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับกรุงเทพมหานคร ภายใต้กรอบการทำงาน 5 ด้าน ในวันนี้ มุ่งให้ประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของคนเมืองสามารถขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการแก้ไขปัญหา ประชาชนที่เดือดร้อน ประสบปัญหาเอง หรือเป็นผู้พบเห็นปัญหา สามารถแจ้งผ่านระบบ Line Official: “OMB FAST TRACK BMA” หรือ โทรสายด่วน 1676 (ไม่มีค่าใช้จ่าย) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วลงแก้ปัญหาทันที ซึ่งที่ผ่านมาแก้ปัญหา เช่น น้ำ-ไฟภายในไม่เกินสองวัน
ในช่วงของการเสวนา "จับมือเดินหน้าร่วมแก้ไขปัญหาให้ประชาชน สผผ. & กทม." นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือ 5 ด้าน ซึ่งในส่วนของการประสานเรื่องร้องเรียนผ่านระบบ Line Official: “OMB FAST TRACK BMA” จะทำงานคู่ขนานกับกรุงเทพมหานครและสำนักงานเขตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หัวใจสำคัญที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน อยากร่วมกับกรุงเทพมหานคร และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมวินัยทางจราจรและทางม้าลาย ถ้าเราสร้างวินัยจราจรให้เกิดขึ้นได้ โดยนำเรื่องทางม้าลายเป็นเรื่องนำ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เป็นในทิศทางที่ดี มีระเบียบวินัย มีน้ำใจต่อกันมากขึ้น การที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงพื้นที่พบปะชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ วันเสาร์ถือเป็นดำเนินงานเชิงรุก สำหรับแนวทางในอนาคตนั้น ทั้งสององค์กรจะร่วมกันขยายความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง เช่นการแก้ไขปัญหาเชิงระบบเกี่ยวกับความเดือดร้อนหรือผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การจัดการขยะ ปัญหาความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่ และเป็น Smart City
ส่วนภารกิจหลักของผู้ตรวจการแผ่นดินด้านการแสวงหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนของพี่น้องประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครนั้น ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกรุงเทพมหานครและหน่วยงานภายใต้สังกัด ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินและเร่งแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างทันท่วงที สำหรับประเด็นที่มีการร้องเรียนจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาถนนและทางเท้าชำรุด ปัญหาความปลอดภัยของการสัญจรบนท้องถนน ปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างไม่ทั่วถึง ปัญหาหาบเร่แผงลอย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแนวทางความร่วมมือในเรื่องอื่นๆ เช่น การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนและการส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอาชีพ และมุ่งยกระดับรายได้ของประชาชนในชุมชนของกรุงเทพมหานครด้วย
ส่วนนายชัชชาติ กล่าวว่า ทั้ง 5 เรื่องหลักเป็นนโยบายที่ กทม. ดำเนินการ เรื่องร้องเรียนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหัวใจหลักของการดูแลพี่น้องประชาชน คือ ให้พลังประชาชนมีสิทธิในการแจ้งปัญหาให้เราทราบ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็เป็นกลกลไกหนึ่งที่เป็นพลังของประชาชนให้มีอำนาจสมดุลกับหน่วยงานราชการ การที่กรุงเทพมหานครได้นำเทคโนโลยีระบบ Traffy Fondue มาใช้รับเรื่องร้องเรียนปัญหาเส้นเลือดฝอยจากประชาชน ทำให้ผู้รับผิดชอบรับทราบปัญหาได้เร็วเพื่อที่จะเข้าไปแก้ไขได้รวดเร็วและแก้ได้มากขึ้นโดยไม่ต้องรอให้ผู้ว่าฯ สั่งการ โดยระบบนี้ถือเป็นสุดยอดแห่งระบบประชาธิปไตย เพราะทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ทุกคนได้รับการแก้ไขโดยเท่าเทียมกัน สุดท้าย หัวใจคือต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ทุกวันอาทิตย์ มีนโยบาย ผู้ว่าฯ สัญจร ลงไปพื้นที่ทุกเขต เพื่อพบพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นแนวความคิดเดียวกับผู้ตรวจการแผ่นดินในการดูแลประชาชน
ในส่วนของของทางม้าลาย หากมองในภาพใหญ่ จะมี 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็น Hard Power คือข้อบังคับทางกฎหมายซึ่งต้องทำให้เข้มข้นขึ้น แต่ที่มีพลังไม่แพ้กัน คือ Soft Power หลาย ๆ เรื่องมาจากจิตสำนึก มาจากพฤติกรรม ต้องรณรงค์ปลูกฝังจิตสำนึกให้คนรู้สึกถึงหน้าที่ ซึ่งต้องมีด้านกายภาพที่ปลอดภัยก่อน และใช้วิธีการแนะนำสร้างจิตสำนึกให้คนนึกถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน
มิติหนึ่งที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือไม่ได้รับการบริการที่มีประสิทธิภาพ สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือ ความไม่สมดุลของข้อมูล ข้อมูลของภาครัฐมีมากกว่า แต่ไม่ได้เปิดเผยให้ประชาชนรู้ คนที่มีข้อมูลกว่าได้เปรียบ คนที่มีข้อมูลน้อยกว่าเสียเปรียบ หน้าที่ของภาครัฐคือ ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้และมีวิธีการสื่อสารที่ดี นี่คือหัวใจของการแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเทคโนโลยีช่วยได้ ซึ่งนโยบายของกรุงเทพมหานคร ทำ 2 อย่าง อย่างแรกคือ เปิดเผยข้อมูล Open Data ให้ประชาชนเห็นงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง เมื่อเปิดเผยข้อมูล ประชาชนได้เห็นข้อมูล ก็จะมีความสมดุลของข้อมูลมากขึ้น เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อมูลดีขึ้น รวมทั้ง Open Bangkok และ Open Contract ซึ่งไม่ต้องใช้งบประมาณ และร่วมมือกับทุกหน่วยงานได้ อย่างที่ 2 คือ ต้องมีวิธีการสื่อสารข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
“2 เดือนที่ผ่านมามีคนถามว่า ผมไป LIVE ทำไม ประชาชนหลายคนไม่รู้ว่ากรุงเทพมหานครดูแลน้ำท่วมอย่างไร การบริการเป็นอย่างไร และเชื่อว่าประชาชนจำนวนมากก็ไม่รู้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำงานอะไร การสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญ เพราะประชาชนเป็นเจ้าของเงินภาษี ต้องมีช่องทางการสื่อสารให้เหมาะสมกับประชาชนแต่ละกลุ่ม ซึ่งการสื่อสารทำให้เราเกิดความเชื่อมโยงกับประชาชน ให้เขารู้ว่าเราทำอะไร สุดท้ายแล้วจะเกิดความเป็นธรรม เพราะว่า Information is Power ข้อมูลคือพลัง อะไรก็ตามที่ตีตราว่าลับมาก เป็นข้อมูลฝั่งเดียว อีกฝั่งไม่เคยเห็นข้อมูล เป็นตัวที่ทำให้เกิดไม่มีความประสิทธิภาพ ความไม่โปร่งใส หลาย ๆ ที่ต้องทำคือการสื่อสารข้อมูล การเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเห็น เพราะเมื่อไรที่เปิดเผยข้อมูลแล้ว ไม่สามารถกลับมาปิดได้” นายชัชชาติ กล่าว