“ชัชชาติ” เร่งแก้ผังเมือง เผยที่ดินกว่าล้านแปลง ยังไม่เข้าระบบจัดเก็บภาษี
“ชัชชาติ” เร่งแก้ปัญหาผังเมือง เล็งปรับรูปแบบ ผุดเมืองใหม่รอบนอก พัฒนาฐานข้อมูลจัดเก็บภาษี เผยยังมีที่ดินกว่า 1 ล้านแปลง คิดเป็น 50% ยังไม่เข้าระบบ
เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2565 ที่ห้องประชุม ชั้น 4 สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีการประชุมติดตามการดำเนินงานของสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่า กทม. นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัด กทม. ผู้บริหารสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
นายชัชชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ผังเมืองเป็นเรื่องที่ทุกคนคิดว่าเป็นปัญหาของเมือง เช่น เรื่องน้ำท่วม และการจราจร แต่การปรับผังเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีความซับซ้อนในหลายด้าน ตัวอย่างเช่น หากเราดูผังเมืองกรุงเทพฯ มีลักษณะเป็นรูปผังสี มีสีแดง สีส้ม สีน้ำตาล สีเหลือง แบ่งการใช้งานตามประเภทสี เช่น สีแดงเป็นพาณิชย์ สีม่วงเป็นอุตสาหกรรม สีส้มเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่น เป็นต้น ซึ่งกลับกลายเป็นว่าถ้าดูผังสีแบบเร็วเหมือนเป็นผังที่กำหนดราคาที่ดิน และกำหนดว่าในแต่ละพื้นที่สร้างสูงสุดได้มากเท่าไหร่ แต่ไม่ได้บอกว่าควรจะสร้างอะไร กลายเป็นว่าคนที่อยู่ในผังสีนี้ต้องการจะสร้างในสิ่งที่ได้ค่าตอบแทนที่สูงที่สุด ทำให้รูปแบบของเมืองพัฒนาในรูปแบบความต้องการราคาและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด นี่เป็นอันหนึ่งที่อาจจะต้องพยายามต่อไปในอนาคตว่าผังเมืองควรจะกำหนดโจทย์ทิศทางของเมืองมากกว่าจะกำหนดว่าสร้างอะไรได้มากที่สุดในพื้นที่ ดังนั้นอาจจะต้องมีแนวคิดใหม่
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า พร้อมกันนี้ได้หารือถึงการสร้างเมืองใหม่ที่อยู่รอบนอกเป็นไปได้หรือไม่ที่เราอาจจะหาพื้นที่บริเวณลาดกระบัง ร่มเกล้าหรือบางขุนเทียน และลองคิดสร้างเมืองในอุดมคติสักเมือง ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ของหน่วยราชการที่มีพื้นที่อยู่ เช่น การเคหะแห่งชาติมีที่ว่างหลายร้อยไร่อยู่ในพื้นที่ แล้วทำการพัฒนาเมืองใหม่ที่ไม่ใช่มีแค่ที่อยู่อาศัย มีสำนักงาน มีโรงเรียน มีสวนสาธารณะ การคมนาคม โรงพยาบาล โดยให้สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองไปหารือร่วมกัน เพื่อออกแบบผังเมืองให้สามารถพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองที่สมบูรณ์ในตัวเอง ก็จะลดการเดินทางเข้ามาในเมืองใหญ่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อาจจะเป็นแนวคิดในพื้นที่บางแปลงที่มีขนาดใหญ่ซึ่งจะเริ่มพิจารณาตรงนี้
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ด้านการเปิดเผยข้อมูลผังเมืองก็มีความสำคัญ หากข้อมูลได้สามารถเปิดเผยให้เอกชนไปใช้พัฒนาได้หรือนำไปขยายประโยชน์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหลายหน่วยงานในการขอเปิดเผย เนื่องจากบางส่วนเป็นเรื่องด้านความมั่นคง เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล แต่หลักการคือพยายามให้เปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุด ข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือข้อมูลเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปัจจุบันฐานข้อมูลยังไม่ครบ ขาดอีก 1,112,000 แปลง ประมาณกว่า 50% อาจจะเป็นแปลงย่อยที่มีมูลค่าภาษีไม่มาก ส่วนแปลงใหญ่ๆ ที่เคยจ่ายภาษีโรงเรือนน่าจะเข้าระบบทั้งหมดแล้ว อาจเหลือแปลงย่อยที่ต้องพัฒนาข้อมูล ซึ่งคงต้องเร่งรัดและหารือร่วมกับสำนักการคลังเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลให้เร็วที่สุดเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในเรื่องการเก็บภาษีที่ดินและภาษีโรงเรือน
“สำหรับตัวผังเมืองใหม่ดำเนินการประชาพิจารณ์มาก่อนหน้านี้แล้ว อาจต้องดำเนินการใหม่ตามกฎหมายที่เปลี่ยนไปเนื่องจากต้องแนบผังแนบท้ายเพิ่มเติม คงต้องเริ่มใหม่ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ทบทวนตัวผังเมืองและปรับปรุงข้อกำหนดต่างๆ ให้ดีขึ้น นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะเร่งดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีข้อบัญญัติเกี่ยวกับผังเมืองที่เริ่มตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 60 ฉบับนี้ คงต้องทบทวน ยกเลิกและปรับให้ทันสมัยขึ้น หัวใจคือกำหนดทิศทางของเมืองให้เกิดการพัฒนาและเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงและสูงสุด” นายชัชชาติ กล่าว