รู้จัก “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” ตำนาน “ศาล รธน.” ก่อนเป็นทนาย “นิพนธ์”

รู้จัก “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” ตำนาน “ศาล รธน.” ก่อนเป็นทนาย “นิพนธ์”

ทำความรู้จัก “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” จาก “กบฏตุลาการ” ปี 34-35 สู่องค์คณะผู้พิพากษา “คดีที่ดินรัชดาฯ” สร้างตำนาน “ศาลรัฐธรรมนูญ” หนึ่งในคนวินิจฉัย “ยุบ 3 พรรค-สมัครพ้นเก้าอี้-ปชป.รอดเฉียดฉิว” ก่อนรับงานเป็นทนายว่าความแก้ต่างให้ “นิพนธ์”

ชื่อของ “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” กลับมาได้รับความสนใจจากสาธารณชนอีกครั้ง

พลันที่รับเป็นหัวหน้าทีมทนายความ ให้แก่ “นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย คดีที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด และยื่นฟ้องด้วยตัวเองแก่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กรณีกล่าวหาว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถอเนกประสงค์ซ่อมบำรุงทาง 2 คัน วงเงิน 50 ล้านบาท แก่บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด

โดยวันนี้ (18 ส.ค. 2565) เจ้าหน้าที่สำนักคดี สำนักงาน ป.ป.ช. ได้หารือกับนายวสันต์ และทีมทนายของ “นิพนธ์” เพื่อรับทราบการขอเลื่อนนัดส่งฟ้องศาล เนื่องจากติดภารกิจราชการต่างจังหวัด โดยเรื่องนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. นัดพิจารณาชี้ขาดว่าจะให้ “นิพนธ์” เลื่อนนัดส่งฟ้องได้หรือไม่ ในวันที่ 22 ส.ค. 2565 

อ่านข่าว: “วสันต์” อดีตประธานศาล รธน.รับเป็นทนายแก้ต่างคดี “นิพนธ์” สู้ ป.ป.ช.

หลายคนอาจคุ้นหูชื่อของ “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” ตำนานตุลาการ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มาบ้าง

กรุงเทพธุรกิจ ย้อนปูมหลังให้ทราบ ดังนี้

“วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” เกิดเมื่อ 5 ส.ค. 2490 จบการศึกษาโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริยารามและโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ระดับปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รุ่น 06) โดยมีเพื่อนร่วมรุ่นเป็นบุคคลผู้เชี่ยวชาญกฎหมายในปัจจุบัน เช่น นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการ ป.ป.ช. (ปัจจุบันเป็น ส.ว.) และนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ โดยในวันที่ 20 ม.ค. พ.ศ. 2561 “วสันต์” ได้รับรางวัล “เกียรติภูมินิติโดม” ในฐานะศิษย์เก่าดีเด่น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ สาขานิติศาสตร์ วิทยาลัยเซาท์อีสบางกอก 

ในช่วงแรกก่อนเป็นผู้พิพากษา “วสันต์” เคยทำงานเป็นทนายความ ประจำอยู่สำนักงานกฎหมายของ “ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดยในช่วงเวลาดังกล่าว “หม่อมเสนีย์” เคยชักชวน “วสันต์” มาเป็นสมาชิกพรรค ปชป. โดยการนำใบสมัครสมาชิกพรรคไปวางไว้บนโต๊ะ แต่เจ้าตัวมิได้กรอกใบสมัคร เพราะไม่มีความคิดอยากทำงานด้านการเมือง แต่อยากเป็นผู้พิพากษามากกว่า

หลังจากนั้นนายวสันต์ไปเรียนต่อจนจบเนติบัณฑิตฯ มีเพื่อนร่วมรุ่นคือ “อภิชาต สุขัคคานนท์” อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระหว่างปี 2549-2556 ต่อมา “วสันต์” ได้สอบเข้าเป็นผู้พิพากษา เคยดำรงตำแหน่งสำคัญมากมาย เช่น ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 ประธานแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกา ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา และผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค 4 เป็นต้น

“วสันต์” ยังมีบทบาทอย่างมากในช่วง “วิกฤติตุลาการ” ระหว่างปี 2534-2535 โดยเป็นโฆษก “ฝ่ายกบฏตุลาการ” (ชื่อที่สื่อเรียกขานขณะนั้น) คอยควบคุมม็อบผู้พิพากษาที่ชุมนุมต่อต้าน นายประภาสน์ อวยชัย รมว.ยุติธรรมขณะนั้น ที่มีการแทรกแซงการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา และการโยกย้ายผู้พิพากษา (ศาลยุติธรรมขณะนั้น อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงยุติธรรม มีฝ่ายการเมืองเป็นรัฐมนตรี)

สปอตไลท์ทางสังคมฉายแสงมาที่ “วสันต์” เมื่อช่วงกลางปี 2549 หลังจาก กกต.ชุด “พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ” เป็นประธาน พ้นจากเก้าอี้ เนื่องจากถูกพิพากษาว่าจัดการเลือกตั้งที่มิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ “วสันต์” มีชื่อเข้าชิงเป็นแคนดิเดตหนึ่งใน 5 เสือ กกต. ทว่าเจ้าตัวไม่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบในชั้นวุฒิสภา

โดยในขั้นตอนการแสดงวิสัยทัศน์ “วสันต์” พูดจาฉะฉาน ตรงไปตรงมา ถูกใจประชาชน แต่กลับโดนเตะตัดขาไม่สามารถเข้าไปเป็น 5 เสือ กกต.ได้ โดยมีตอนหนึ่งที่เรียกเสียงฮือฮาอย่างมากคือ ทำไมตัวเขาต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อวุฒิสภา ในเมื่อวุฒิสภาก็ไม่ได้เหนือไปกว่าเขา ที่สำคัญได้แสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. อยู่แล้ว

“วสันต์” ยังเคยเป็นพยานให้กับ “น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ” อดีตคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์แนวหน้า เมื่อครั้งตกเป็นจำเลย ข้อหาหมิ่นประมาท คดีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฟ้องกล่าวหาในการเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ วิจารณ์การตัดสินคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากที่ให้ “ทักษิณ” รอด “คดีซุกหุ้น” 

อีกหนึ่งไฮไลต์ฉากชีวิตทำงานของ “วสันต์” ช่วงปี 2550 คือเจ้าตัวเป็นประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา และเป็นหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษา “คดีที่ดินรัชดาภิเษก” ที่มี “ทองหล่อ โฉมงาม” รองประธานศาลฎีกาคนที่ 3 (ขณะนั้น) เป็นหัวหน้าองค์คณะ

ทว่าเจ้าตัวมิได้อยู่พิจารณาในองค์คณะชุดนี้จนจบ เนื่องจากได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก่อน ในวันที่ 28 พ.ค. 2551

โดยท้ายที่สุดองค์คณะผู้พิพากษาชุดนี้ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2551 จำคุก “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี 2 ปี ไม่รอลงอาญา และยกฟ้อง “คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์” อดีตภริยานายทักษิณ

อีกหนึ่งไฮไลต์ในชีวิต “วสันต์” ระหว่างเป็นผู้พิพากษาคือ เคยให้ความเห็นในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา การจัดคูหาเลือกตั้งต้องเป็นความลับ ไม่ใช่ใครก็เข้าไปยืนชะเง้อดูได้ โดยความเห็นของเจ้าตัวมีส่วนทำให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 กลายเป็น “โมฆะ” ไป

สำหรับบทบาทของ “วสันต์” ในศาลรัฐธรรมนูญ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระหว่างวันที่ 28 พ.ค. 2551-31 ก.ค. 2556 และเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญระหว่าง 26 ต.ค. 2554-31 ก.ค. 2556 

บทบาทของ “วสันต์” ในการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลรัฐธรรมนูญ เคยเป็นหนึ่งในตุลาการที่วินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง อย่างน้อย 3 พรรค ได้แก่ การยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย (กลุ่มนายสมศักดิ์ เทพสุทิน) พรรคชาติไทย (กลุ่มนายบรรหาร ศิลปอาชา ขณะนั้น) และพรรคพลังประชาชน (ช่วงที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการหัวหน้าพรรค และส่วนใหญ่สมาชิกคือกลุ่มก๊วนอดีตพรรคไทยรักไทย) และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 5 ปี หรือรู้จักกันในชื่อ “บ้านเลขที่ 109

นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในตุลาการที่วินิจฉัยให้ “สมัคร สุนทรเวช” หัวหน้าพรรคพลังประชาชน พ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี จากการทำรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่า นายสมัครกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี 

ต่อมาในปี 2553 “วสันต์” เป็นหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยกคำร้อง “ไม่ยุบพรรค” ประชาธิปัตย์ คดีที่ กกต.กล่าวหาว่า ใช้จ่ายเงินผิดวัตถุประสงค์พรรคการเมือง จำนวน 29 ล้านบาท โดยคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 9 ต่อ 2 ว่า การยื่นคำร้องของ กกต.ดังกล่าว ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 15 วัน ทำให้ “ค่ายสีฟ้า” รอดคดีนี้ไปอย่างฉิวเฉียด เนื่องจากชนะทางเทคนิคกฎหมาย

นอกจากนี้ “วสันต์” ยังเป็นหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยใช้ ส.ส.ร. ตามมาตรา 291 โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบดังกล่าวไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ถ้าเกิดจะมีการตั้ง ส.ส.ร. ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ควรต้องผ่านประชามติก่อน

ในช่วงเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ “วสันต์” ได้ยื่นฟ้อง “พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” และ “เกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์” ข้อหาหมิ่นประมาท เนื่องจากทั้ง 2 รายวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหาว่า “ไม่เป็นกลาง” ในคดียกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยท้ายที่สุดศาลฎีกาพิพากษาเมื่อปี 2558 จำคุกทั้ง 2 ราย

ทั้งหมดคือฉากชีวิตการทำงานของ “วสันต์” ปัจจุบันในวัย 75 ปี ผ่านมาทั้งการพิจารณา “คดีที่ดินรัชดาฯ” วินิจฉัยคดี “ยุบพรรค” และ “ไม่ยุบพรรค” รวมถึงวินิจฉัยคุณสมบัตินายกฯ “สมัคร สุนทรเวช”

ก่อนจะมารับงานเผือกร้อนเป็นทนายว่าความแก้ต่างให้ “นิพนธ์ บุญญามณี” ในช่วงเวลานี้