ทวงคืน "กทม.-ใต้" เดิมพัน ปชป. ลบปรามาส "พรรคต่ำร้อย-ขาลง"
สนามกทม.และภาคใต้ ถือเป็นขุมกำลังที่สำคัญที่ "ค่ายสีฟ้า" ตั้งเดิมพันไว้สูงลิบ เพราะนอกจากจะส่งผลไปถึง "สมาการการเมือง"หลังจากนี้ ยังถือเป็นศึกกู้ศักดิ์ศรีของพรรคไปในคราวเดียวกัน
“ปี่กลองเลือกตั้ง” ที่เริ่มส่งสัญญาณใกล้เข้ามาทุกขณะ บวกกติกาเลือกตั้งที่เริ่มเห็นเค้าลางของ “กลเกมการเมือง” ในการจัดทัพรับศึกเลือกตั้งที่ในอีกไม่ช้าไม่นานหลังจากนี้
ทำให้ “ตลาดการเมือง” ยามนี้เต็มได้วยเต็มไปด้วยบรรยากาศของการ “เปิดดีล-พ่วงโปร” ต่อรองราคาค่างวด บรรดาเหล่านักเลือกตั้ง ทั้ง “บิ๊กเนม” และ “โนแนม” ทั้งหน้าใหม่-หน้าเก่าเข้าค่าย ประกาศศักดาสู้ศึกเลือกตั้งหวังตีตั๋วเข้าสภา พร้อมเติมแต้มต่อรองเปิดทางสู่ “สูตรจับขั้ว-ตัวแปรสมการ”
ไม่เว้นแม้แต่ “ค่ายสีฟ้า” อย่าง “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งรอบนี้มีเดิมพันสูงลิบในการกอบกู้ศักดิ์ศรี และลบคำปรามาสจากการเลือกตั้งรอบที่แล้ว
โดยเฉพาะ “สนามกทม.” ที่เคยเป็นขุมกำลังของปชป. ทว่าในการเลือกตั้งเมื่อปี2562 ปชป.สูญพันธ์ุไร้ที่นั่งส.ส.ในพื้นที่นครบาล ศึกรอบนี้จึงถือเป็นการทวงคืนพื้นที่
สอดคล้องท่าทีหัวหน้าพรรค “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” วันก่อน กล่าวผ่านการประชุมติวเข้มบรรดาว่าที่ผู้สมัครสนาม กทม.ถึงยุทธศาสตร์การชิงพื้นที่รอบนี้ว่า
“ในส่วน กทม.เป็นพื้นที่เป้าหมายของพรรค เป็นพื้นที่ที่เรามีผู้แทนมาทุกยุคทุกสมัย แม้คราวที่แล้ว เราไม่ได้รับเลือกตั้งเลย แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะสูญพันธุ์ในกรุงเทพฯ การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และส.ก.ได้พิสูจน์แล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่สูญพันธุ์ ใครที่ปรามาสเรา ก็ต้องกลับไปคิดใหม่”
ยิ่งไปกว่านั้น ปชป.ยังเปิดตัว “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ที่ปรับบทบาทมาสวมหมวกอีกใบ ในฐานะขุนพลพรรคที่จะมาทำหน้าที่วางหมากเพื่อสู้ศึก กทม.
นอกเหนือจาก ดร.เอ้แล้ว ทีมขุนพลกทม.รอบนี้ มีทั้ง“รองปู” ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค หนึ่งในคณะทำงานทีมนโยบาย เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 และเป็นผู้คิดสโลแกน “แก้จน สร้างคน สร้างชาติ” หรืออีกคนคือ “ผู้การแต้ม” พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตหลักสี่ ล้วนเป็นทีมงานศูนย์เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก. หรือ ทีมงาน “Power 4” เดิม
ปชป.ตั้งเป้าครั้งนี้ใน “สนามเมืองหลวง” อย่างน้อยที่สุดต้องไม่ต่ำกว่าจำนวน ส.ก. 9 คน หรือมากกว่านั้น จึงจะสามารถกู้ศักดิ์ศรีค่ายสีฟ้าคืนกลับมา
ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า “แผนการตลาด(การเมือง)” ที่ปชป.นำมาใช้ในการเลือกตั้งส.ก.รอบที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤติฉาว บวกคะแนนนิยมเวลานั้น จนสามารถล้างอาถรรพ์สนามกทม.ได้ส.ก.มา 9 ที่นั่ง ต่างจาก ส.ส.ที่สูญพันธ์ุ
นั่นคือการชู “แบรนด์ผู้สมัคร” นำ “แบรนด์พรรค” โดยเฉพาะพื้นที่ที่กระแสพรรคไม่สู้ดี หรือพื้นที่ที่เป็น “ผู้สมัครหน้าเก่า” ที่ฝังตัว หรืออาศัยลูกขยันในการ “รุกพื้นที่” อย่างต่อเนื่อง ก็อาจเลือกชูจุดขายเป็นผลงานตัวบุคคล ยิงตรงไปที่ฐานแฟนคลับเดิม กลุ่มคนรุ่นกลางขึ้นไปที่ยังเหนียวแน่นจะยังให้โอกาส และสนับสนุนอีกครั้ง
นอกเหนือจากกลเกม “แผนการตลาด(การเมือง)” แล้ว อีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่ ปชป.ต้องเผชิญใน“สนามนครบาล” รอบนี้ คือกระแส “ฝ่ายประชาธิปไตย” สะท้อนภาพชัดจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่ง“ขั้วซ้าย” ทั้งเพื่อไทยปักธงได้ 9 ที่นั่ง ขณะที่พรรคก้าวไกลปักธงได้ 9 ที่นั่ง รวม 2 พรรคขั้วซ้ายได้ส.ส. 18 ที่นั่ง
ส่วน “ฝั่งอนุรักษ์นิยม” อย่างพลังประชารัฐปักธงได้ 12 ที่นั่ง
หรือการเลือกตั้งครั้งล่าสุดคือสนามผู้ว่าฯกทม. ที่เกิดปรากฎการณ์ “ชัชชาติแลนด์สไลด์” หรือสนามส.ก. ที่แม้ ปชป.จะสามารถกู้หน้าให้พรรคด้วยคะแนนผู้ว่าฯกทม.ที่มาเป็นอันดับ 2 หรือ จำนวนส.ก.ที่ได้มาครอง 9 ที่นั่ง
แต่ด้วยปรากฎการณ์แลนด์สไลด์ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่เกิดขึ้นในสนามเมืองหลวง ย่อมถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์หินของปชป. ที่เป็นพรรค“ขั้วอนุรักษ์นิยม”จะต้องแก้เกมหลังจากนี้
ไม่ต่างไปจากพื้นที่ฐานเสียงสำคัญ ที่เป็นเดิมพันใหญ่คือ “สมรภูมิภาคใต้” ซึ่งการเลือกตั้งปี 2562 เกิดปรากฎการณ์ “ล้มเสาไฟฟ้า” หลังที่นั่งส.ส.ถูกเฉลี่ยไปที่ 5 พรรค ปชป.เจ้าของพื้นหล่นวูบเหลือ 22 ที่นั่ง จากทั้งหมด 50 ที่นั่ง (ปี 54 กวาดมา 50 จาก 53 ที่นั่ง) พลังประชารัฐ 13 ที่นั่งภูมิใจไทย 8 ที่นั่ง เพิ่มจากปี 54 ที่ได้ 1 ที่นั่ง ประชาชาติ 6 ที่นั่ง และรวมพลัง 1 ที่นั่ง
ขณะที่รอบนี้ ปชป.ตั้งเป้าไว้สูงถึง 35-40 ที่นั่ง จากทั้งหมด 53 ที่นั่ง ทว่าแม้ปชป.จะมั่นใจกระแสคู่แข่งสำคัญอย่าง “พลังประชารัฐ” ที่ไม่สู้ดี บางพื้นที่ถึงขั้นมีการปลดโลโก้พลังประชารัฐออกจากป้ายแนะนำตัว “ว่าที่ผู้สมัครส.ส.”
แต่ก็ใช่ว่า ปชป.จะไว้วางใจได้ เพราะยังมีคู่แข่งสำคัญทั้งพรรคภูมิใจไทย ที่ก่อนหน้านี้เพิ่งประกาศ “แลนด์สไลด์อันดามัน” พร้อมส่งสารท้ารบ “ล้มเสาไฟฟ้า” ภาคใต้อีกรอบ
อีกทั้งยังมีพรรคเกิดใหม่อย่าง “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่มีเป้าหมายเดียวกัน ประกาศ “กวาดส.ส.ใต้ยกภาค”
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ บรรดา“ขุนพลใต้ค่ายสะตอ” จึงแก้เกม โดยชูจุดขายที่พรรคคู่แข่งไม่มี นั่นคือ การขายแบรนด์ “พรรคของคนใต้” มีหัวหน้าพรรคที่เป็นคนใต้ ถึง 3 คนไล่มาตั้งแต่ ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐานจนมาถึง จุรินทร์ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน
ตอกย้ำชัดจากท่าทีของ “จุรินทร์” หัวหน้าพรรค ที่ถึงขั้นหลั่งน้ำตากลางเวทีปราศัยที่จ.สงขลา ขอคนปักษ์ใต้ อุ้มชูพรรคอีกครั้ง
"วันที่ประชาธิปัตย์ยกทัพใหญ่มาประกาศทวงพื้นที่ปักษ์ใต้คืน ประชาธิปัตย์มีหัวหน้าพรรคมาแล้ว 8 คน เป็นคนปักษ์ใต้ 3 คน คือนายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และผม ซึ่งเป็นผู้แทนพังงา 6 สมัย ได้รับการสนับสนุนจากคนพังงาเสมอมา มาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5 สมัย ถึงวันนี้คนปักษ์ใต้อุ้มชูผมเป็นผู้แทนฯ มาแล้ว 11 สมัย ประชาธิปัตย์ผูกพันกับคนปักษ์ใต้บ้านเรา และมีวันนี้อยู่มาได้ 76 ปี และจะอยู่ต่อไปตราบชั่วฟ้าดินสลาย เพราะคนปักษ์ใต้บ้านเราอุ้มชู"
ทั้ง“สนามกทม.” และ “สนามภาคใต้” ถือเป็นขุมกำลังสำคัญที่ “ค่ายปชป.” ตั้งเดิมพันไว้สูงเพราะจะส่งผลไปถึง“สูตรคณิตศาสตร์การเมือง” รวมถึงแต้มต่อรองภายหลังการเลือกตั้ง
ฉะนั้นด้วยเดิมพันที่สูงลิบ นอกเหนือการการจัดทัพวางขุนพลรับศึกที่กำลังจะมาถึงแล้ว ในยามนี้ ปชป.ได้เร่งเครื่อง “อัดฉีดโครงการ” ภายใต้กำกับกระทรวงที่พรรคคุมเก้าอี้เสนาบดีอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง
ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำโครงการช่วยเหลือประชาชน รุกเข้าไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่ม “ผู้มีรายได้น้อย” หรือ “กลุ่มเปราะบาง”
อาทิ โครงการ “บ้านฟ้าใสใจอาสา” ซ่อมบ้านกลุ่มเปราะบาง ของกระทรวงพม. โครงการข้าวแกง 20 บาท หรือโครงการสินค้าธงฟ้าราคาถูกของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งหมดล้วนส่งผลไปถึงการตุนแต้มคะแนนนิยมในอนาคตทั้งสิ้น
ทั้งหมดทั้งมวลจึงเป็นการตอกย้ำเดิมพันครั้งสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะ “เลขาต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ที่ถึงขั้นเอาชีวิตการเมืองเป็นเดิมพันประกาศกร้าว
“ถ้าได้ ส.ส. ต่ำกว่า 52 จะเลิกเล่นการเมืองทั้งชีวิต” !!