ม็อบดาวกระจายทั่ว กทม. เผาหุ่น-กรวดน้ำสาปส่ง ไล่ “บิ๊กตู่” พ้นนายกฯ
อัพเดตม็อบดาวกระจายทั่ว กทม. “เครือข่ายรามฯ” ไปสภา ยื่น “ชวน” ส่งศาล รธน.วินิจฉัย 8 ปี ด้าน “เครือข่ายแรงงานฯ” บุกหน้าทำเนียบเผาหุ่น-กรวดน้ำสาปส่ง “บิ๊กตู่” อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย “ม็อบราษฎร” ปักหลัก ลานคนเมือง “ม็อบจตุพร” จี้นายกฯลาออกก่อน 24 ส.ค.
เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ประมาณ 20 ราย เข้ายื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โดยมีนายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมยื่นหนังสือด้วย ผ่านนายณัฐกานต์ ชูชนะ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือแทน
ทั้งนี้ กลุ่มรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ได้ตั้งเวทีปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ล้มเหลว โดยมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯทันที และศาลรัฐธรรมนูญต้องมีคำวินิจฉัยเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ก่อนจะมีการจัดการเลือกตั้งครั้งถัดไป จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ในเรื่องที่มาของ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง รวมถึงต้องไม่มีสิทธิในการโหวตเลือกนายกฯ เพื่อป้องกันการสืบทอดอำนาจ และพรรคร่วมรัฐบาลต้องหยุดเป็นนั่งร้านในการสืบทอดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์
- เผาหุ่นจำลอง-กรวดน้ำสาปส่ง “บิ๊กตู่” หน้าทำเนียบ
วันเดียวกัน เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน นำโดย น.ส.ธนพร วิจันทร์ จัดการชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยนำผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการบริหารประเทศโดย พล.อ.ประยุทธ์ เรียกร้องให้มีการลดราคาน้ำมัน ควบคุมราคาสินค้า ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 425 บาทเท่ากันทั่วประเทศทันที และ พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออกทันที ท่ามกลางการคุมเข้มของกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการปิดกั้นเส้นทางโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์
โดยเมื่อเวลา 11.20 น. พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ผกก.สน.นางเลิ้ง ได้ประกาศผ่านลำโพงว่า การชุมนุมที่กระทำอยู่เป็นการทำผิดกฎหมายเนื่องจากผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ยุติการชุมนุมภายในเวลา 10 นาที แต่หากจะทำการชุมนุมให้ทำหนังสือแจ้งอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ดีผู้ชุมนุมได้โห่ไล่การประกาศของตำรวจ
ทั้งนี้เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ได้อ่านแถลงการณ์ถึง พล.อ.ประยุทธ์ สรุปได้ว่า รัฐบาลภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจ การเมือง โดยเฉพาะการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ถูกละเลยมา 8 ปีเต็ม รวมถึงประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน และความเป็นธรรมกับแรงงาน จึงเป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลนี้ไม่มีความสนใจใด ๆ ที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบทุกข์สุขของประชาชนแม้แต่นิดเดียว นอกจากนี้ยังปล่อยให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นรายวัน ทำให้คนทำงานเดือดร้อน ส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคทยอยปรับขึ้นตาม ไม่สอดคล้องกับค่าแรงและรายได้ของประชาชนทั่วไปในปัจจุบัน
โดยเครือข่ายแรงงานฯ มีข้อเรียกร้องถึง พล.อ.ประยุทธ์ คือ ให้ทำตามสัญญาการหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เมื่อปี 2562 โดยให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 425 บาทเท่ากันทั่วประเทศ และประกาศใช้ในเดือน ต.ค. 2565 หลังจากนั้นให้ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ในเดือน ม.ค. 2566 นอกจากนี้ให้ปรับลดราคาน้ำมันทุกชนิดลง 6 บาทต่อลิตร ลดค่าสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าครองชีพให้กับประชาชน และให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ภายในวันที่ 24 ส.ค. 2565
โดยระหว่างการชุมนุม กลุ่มมวลชนได้ทำการเผาหุ่นจำลอง พล.อ.ประยุทธ์ และกรวดน้ำเพื่อทำการสาปส่งด้วย
อย่างไรก็ดีในเวลาต่อมา น.ส.ธนพร ประกาศให้ยุติกิจกรรม และมวลชนแยกย้ายเคลื่อนตัวออกจากทำเนียบรัฐบาล
- มวลชนม็อบราษฎรเริ่มทยอยมาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
วันเดียวกัน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสถานที่นัดรวมตัวของผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร และเครือข่ายแนวร่วม ในช่วงเวลา 16.00-17.30 น. นั้น พบว่า เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ที่ผ่านมา เริ่มมีกลุ่มผู้ชุมนุมใส่เสื้อสีดำทยอยมารวมตัวกันบ้างแล้ว บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาราชดำเนิน เพื่อรอเวลาร่วมกิจกรรมในช่วงเย็น
ทั้งนี้มีมวลชนบางส่วนจากเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ภายหลังยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ที่รัฐสภา เสร็จสิ้นแล้ว ได้เดินทางมาสมทบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน
ส่วนที่ลานคนเมือง คณะหลอมรวมประชาชน โดยนายจตุพร พรหมพันธ์ุ และนายนิติธร ล้ำเหลือ ได้นัดมวลชนชุมนุมในเวลา 16.00-24.00 น. เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยเช่นกัน