"วิษณุ" เก็งคำวินิจฉัย "8ปี นายกฯ" กลางวง "ครม." ทำ "รมต." มอง คำตัดสินเป็นบวก
ท่าที "ประยุทธ์" ไม่เครียด ปม "8 ปี นายกฯ" ด้าน "วิษณุ" เก็ง คำวินิจฉัย "ศาลรัฐธรรมนูญ" ออกได้ 3 แนว ลุ้น ไม่บอกครบกำหนดเมื่อไหร่ ระบุ ถ้า นับ ม.158 วรรค4 ต้องดูตาม วรรค1 ทำ "รมต." หลายคนตีความกันพรึบ ว่าผลออกมาเป็นบวก
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้เข้าไปนั่งดื่มกาแฟกันในห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรีโดยระหว่างพูดคุยได้มีรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง ทยอยเดินเข้าไปพบในห้องหลายคน โดยพล.อ.ประยุทธ์ได้พูดคุยกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในอิริยาบถที่สบาย ไม่มีท่าทีเคร่งเครียดแต่อย่างใด พร้อมพูดกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลด้วยว่า ขอให้ช่วยกันทำงานต่อไป ส่วนเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ จะว่ามาอย่างไรให้เป็นไปตามนั้น และถ้าศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้แจง จะให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เป็นผู้ชี้แจง ไม่ว่าจะเป็นการชี้แจงด้วยวาจา หรือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ตาม ในการพูดคุยครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้พูดถึงเรื่องการชุมนุมกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯแต่อย่างใด
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ในที่ประชุม ครม. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้อธิบายเกี่ยวกับประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ประชุมฟังตอนหนึ่งว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีแล้วหรือยัง เพราะศาลมี 3 แนวทาง ไม่นอกเหนือจากนี้ คือ 1.นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือ 24 ส.ค.2557
2.นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ คือ วันที่ 6 เม.ย.2560
และ 3.นับตั้งแต่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือ วันที่ 9 มิ.ย.2562 แต่ศาลอาจวินิจฉัยว่าเพียงว่า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้หรือไม่ซึ่งเป็นไปตามคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ถามเฉพาะประเด็นนี้ โดยไม่จำเป็นต้องระบุว่าดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีเมื่อไร หากมีใครสงสัยประเด็นนี้ก็ค่อยไปยื่นให้ศาลวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังอธิบายอีกว่า สาระสำคัญเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่ง 8 ปี อยู่ในมาตรา158 วรรคสี่ รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ระบุว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่...” แต่การที่จะนับเวลาตามวรรคสี่ ต้องไปดูที่มาตามวรรคหนึ่ง ทำให้รัฐมนตรีหลายคนตีความไปในทิศทางเดียวกันว่าการวินิจฉัยจะเป็นบวก