"สิงห์ศึก" เผยคำร้องสอบ ส.ว. เอี่ยวตำรวจหญิงซ้อมทหารรับใช้ อาจถูกตีตก

"สิงห์ศึก" เผยคำร้องสอบ ส.ว. เอี่ยวตำรวจหญิงซ้อมทหารรับใช้ อาจถูกตีตก

“สิงห์ศึก” เผยคำร้องสอบ ส.ว. เอี่ยวตำรวจหญิงซ้อมทหารรับใช้ อาจถูกตีตก หลัง “วัชระ” ไม่ระบุชื่อชัดเจน ลั่น ถ้าไม่ใช่ จะมีใครสักคนไหมจะมาขอโทษ ส.ว. แต่ถ้าใช่ก็เป็นไปตามกระบวนการ

        พล.อ. สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา  กล่าวถึงการสอบสวนคำร้องของนายวัชระ เพชรทอง สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องขอให้สอบสวนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฝาก ส.ต.ท.หญิง เข้ารับราชการ และทารุณทหารหญิง ว่า ตามคำร้องไม่ได้ระบุผู้ถูกร้อง เรื่อง และข้อบังคับที่ผิด ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมข้อมูล และประสานกลับไปยัง นายวัชระ ฐานะผู้ร้อง ว่าร้องใคร เรื่องอะไร และผิดข้อบังคับใด ถ้าไม่ระบุผู้ถูกร้องแล้ว กรรมการไม่มีหน้าที่จะไปไล่สอบสวน หาข้อมูลว่าจะเป็นใคร จะไปเหมารวมว่าเป็นส.ว. ไม่สามารถทำได้ วันไหนที่ส่งข้อมูลมา วันนั้นจะเริ่มนับ 1 ตามกรอบเวลา 60 วัน หากไม่เสร็จสามารถขยายได้สูงสุด 120 วัน 

            เมื่อถามว่าแนวทางการดำเนินการหลังจากนี้จะแยกเป็นสอบจริยธรรม และสอบประเด็นการแต่งตั้ง ส.ต.ท.คนดังกล่าว มาเป็นคณะกรรมการในวุฒิสภาหรือไม่ พล.อ.สิงห์ศึก ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาหลักฐานและสืบสวนว่าเป็นไปตามข้อเท็จจริงหรือไม่ ดังนั้น ยังไม่มีแนวทางที่จะดำเนินการเช่นนั้น หากตรวจสอบชัดเจนว่าผู้ร้องระบุว่าเป็นใคร ถึงจะดำเนินการต่อ

 

           “สื่อหรือสาธารณะชนได้วิพากษ์วิจารณ์กัน แต่ในของวุฒิสภานั้นเราก็มีหลักเกณฑ์มีวิธีการมีประมวลจริยธรรมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้สังคมและสื่อต้องช่วยกัน ตอนนี้ระบุแค่ ส.ว. จะจริงเท็จหรือไม่ หากไม่ใช่ ส.ว. แล้วสังคมหรือสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์กันไปใครจะรับผิดชอบ จะมีใครสักคนไหมที่จะมาขอโทษ ส.ว. แต่ถ้าใช่ เราก็จะดำเนินการตามประมวลจริยธรรม ส.ว. ยืนยันว่า ส.ว. มีจริยธรรมอยู่ ดำเนินการตามขั้นตอน อย่าเหมารวมว่าสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด แล้วเอาจิตที่ ไม่อยากบอกว่าเป็นอคติต่อสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้มา ขอให้ความเป็นธรรม เราทำงานให้ประชาชนเช่นกัน” พล.อ.สิงห์ศึก กล่าว

        พล.อ.สิงห์ศึกกล่าวด้วยว่า หากกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องจริง โทษจะมีตั้งแต่ร้ายแรง จะพ้นสภาพ ส.ว. โดยจะต้องยื่นเรื่องต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รองลงมาคือการตักเตือน ซึ่งโทษจะมีเป็นลำดับชั้น.