ชัยชนะบนวาระ 2 ปี ? จุดอ่อน “ประยุทธ์” จุดพลิกกระแส
จากคำชี้แจงของ "มีชัย" ทำให้ ฝั่ง "3ป." มั่นใจว่า "ประยุทธ์" จะอยู่ในอำนาจต่อไปได้ แต่คำอธิบายที่ยืนบนห้วงเวลา 6เมษา60 กลายเป็นจุดมัดวาระที่เหลืออยู่ของ "นายกฯประยุทธ์" กระแสต่อจากนี้ "พรรค" ท้าชิงพร้อมเปิดหน้าชก
แนวโน้มและคำคาดการณ์ต่อ “วาระนายกฯ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ “ส.ส.” พรรคฝ่ายค้านยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับวาระดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2565 หรือไม่ ถูกวิเคราะห์ว่าจะออกมาในทางที่เป็นคุณ หรือทางบวกกับสถานการณ์ครองอำนาจของ “3 ป.”
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคำชี้แจงของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตามเอกสารซึ่งถูกเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย เมื่อ 6 กันยายน โดยไฮไลต์ประเด็นสำคัญ คือ "การนับระยะตามมาตรา 158 วรรคสี่ เริ่มนับตั้งแต่ 6 เมษายน 2560”
ส่วนประเด็นข้อสงสัยที่ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่เป็นนายกฯ ตั้งแต่ 2557 ต้องเชื่อมต่อวาระดำรงตำแหน่งแบบต่อเนื่องกับรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้น คำชี้แจงของ“มีชัย” ตามเอกสารสรุปความได้ว่า “ไม่อาจมีผลไปถึงการใดๆ ที่ดำเนินการมาโดยชอบก่อนรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ”
และ “เนื้อหารัฐธรรมนูญ 2560 ที่เกี่ยวกับ ครม.นั้น ไม่อาจนำไปใช้กับบุคคลหรือดำเนินการใดๆ ที่กระทำไปโดยชอบก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับได้ โดยหลักทั่วไป กฎเกณฑ์ที่กำหนด ย่อมมุ่งหมายใช้กับ ครม.ที่ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560”
ส่วนบทเฉพาะกาล มาตรา 264 ให้ “ครม.” ที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ อยู่เป็น ครม.ไปจนกว่ามี ครม. ชุดใหม่ เพื่อไม่ให้การบริหารราชการแผ่นดินเว้นว่าง
ประกอบกับมี “คำชี้แจง” ของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา อธิบายว่า การนับวาระนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ต่อเนื่องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะการรับตำแหน่งนายกฯ เมื่อ 24 สิงหาคม 2557 สิ้นสุดลงเมื่อ 6 เมษายน 2560 หรือ ขาดตอนไปแล้ว แต่ที่ต้องนั่งเป็นนายกฯ ต่อ เพราะบทเฉพาะกาล มาตรา 264 กำหนดไว้
ทำให้ตอกย้ำความเชื่อของฝั่ง “3 ป.” ซึ่งผันเป็นความมั่นใจว่า “บิ๊กตู่” จะคัมแบ็ค และนั่งบัญชาการ ในตำแหน่งผู้นำประเทศต่อไปได้ ตามโรดแมพการเมืองที่กำหนดไว้ แม้วันชี้ขาดชัดเจนประเด็นนี้ จะยังไม่เกิดขึ้นในวันที่ 8 กันยายน เพราะเป็นเพียงการนัดพิจารณา และอภิปรายในข้อมูลหลักฐานของตุลาการเท่านั้น
ทิศทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ “ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน” มองประเด็นตรงกันคือ “ไม่ชี้ถึงวันสิ้นสุดในตำแหน่งนายกฯ” เพราะคำร้องที่เสนอ ถามแค่ประเด็นเดียวคือ “24 สิงหาคม 2565 นั้น ครบ 8 ปีหรือไม่ครบ” ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ใช้อำนาจวินิจฉัยที่เกินกว่าคำร้องนั้น
ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยอมรับต่อที่ประชุมรัฐสภา เมื่อ 6 กันยายน ระหว่างนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่า
“คำร้องที่เสนอนั้น มีเพียงประเด็นเดียว คือ ครบ 8 ปี หรือไม่ครบ เมื่อ 24 สิงหาคม 65 เท่านั้น ไม่ได้ถามว่าเริ่มนับเมื่อไร ดังนั้นจะคาดหวังให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสิ้นสุดลงเมื่อใด ไม่มั่นใจ”
แม้ว่าผลชี้ขาดประเด็นนี้ อาจมีข้อสรุปว่า “เป็นคุณ”กับ “พล.อ.ประยุทธ์” แต่หากพิจารณาสเต็ปการเมืองต่อไป กลับพบความคึกคักของพรรคการเมือง เพราะประเมินกันว่า หากเป็นไปตามแนวทางที่ อ.มีชัยชี้แจง โดยเริ่มนับวาระ 8 ปีนายกฯตั้งแต่ 6 เมษายน 2560 แสดงว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะมีวาระเหลือไม่ครบเทอมในสมัยหน้า
โดย ส.ว.“วันชัย สอนศิริ” ทำนายว่า พล.อ.ประยุทธ์”อาจไม่ลงเล่นการเมือง ส่วนพรรคพลังประชารัฐต้องหาคนอื่นมาเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯแทน เพราะหากนำชื่อ “ประยุทธ์” ไปแข่งกันในสนาม คนอาจไม่เลือก เพราะเป็นนายกฯ ได้แค่ปีเศษหรือ 2 ปี
ฉะนั้น เรื่องคำวินิจฉัย 8 ปี ที่ “3 ป.”อาจมองเป็นคุณ ในทางกลับกัน อาจกลายเป็นจุดอ่อนทั้งคน ทั้งพรรค ที่อาจพลิกกระแสการเมือง
ที่แน่ๆ บรรดาพรรคเก่า พรรคใหม่ ที่เตรียมขึ้นมาแข่ง กล้าเปิดหน้า เปิดตัว "แคนดิเดตนายกฯ” เป็นคู่ท้าชิงเก้าอี้ผู้นำประเทศ แบบไม่ต้องเกรงใจใครอีกต่อไป.