“ศปม.”คุม 3 สเต็ป “8 ปีประยุทธ์-เอเปค-ยุบสภา”
แม้ช่วงที่ผ่านมา บรรดาม็อบดาวกระจายจะจุดไม่ติด แต่ช่วงเปลี่ยนผ่านการเมือง โจทย์สำคัญของฝ่ายความมั่นคงคือไม่ประมาทกับ 3 สถานการณ์นับต่อจากนี้
ยังเป็นประเด็นที่ต้องตามลุ้นกันต่อ หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เรียกประชุมวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาคำร้องของประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่หรือไม่
หลังปรากฎเอกสารชี้แจงของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หนึ่งในพยานปากสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อ้างว่าเป็นฉบับเดียวกัน ที่ส่งให้ “วรวิทย์ กังศศิเทียม” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หลุดว่อนในโซเชียลมีเดีย โดยระบุถึงสาระสำคัญ “นายกฯ 8 ปี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มนับตั้งแต่ 6 เม.ย.2560
ซึ่งขัดแย้งกับเอกสารบันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 วันที่ 7 ก.ย.2561 ที่ปรากฎความเห็นของ “มีชัย” และ “สุพจน์ ไข่มุกด์” อดีต กรธ. ที่ระบุถึงวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องนับรวมก่อนปี 2560 ด้วย โดย “มีชัย”อ้างว่า รายงานการประชุมครั้งนั้นไม่สมบูรณ์ เนื่องจากยังไม่มีมติรับรองจาก กรธ. ส่วน “เพื่อไทย”ในฐานะผู้ร้อง เชื่อว่ามีความสมบูรณ์แล้ว
จึงเป็นที่มาคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 8 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา โดยให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดส่งสำเนาบันทึกการประชุม และรายงานการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501 วันที่ 11 ก.ย.2561 ซึ่งมีวาระการประชุม รับรองการประชุมครั้งที่ 500 วันที่ 7 ก.ย. 2561 ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุม และรายงานการประชุมตรวจทานแล้ว โดยไม่มีการแก้ไข จัดส่งให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ”ภายในวันที่ 13 ก.ย. 2565 และกำหนดนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันที่ 14 ก.ย. 2565 นี้
ขณะที่ “หน่วยงานความมั่นคง” ยังเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของม็อบทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ที่ปักหลักชุมนุมอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ละจุดจะมีมวลชนเข้าร่วมเพียงหลักสิบถึงหลักร้อย แต่พบว่า มีความพยายามปลุกระดมในโซเชียลมีเดีย และสถานศึกษา ให้มารวมตัวกัน ในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์
สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของ“คณะหลอมรวมประชาชน” ที่นำโดยอดีตแกนนำคนเสื้อแดง-เสื้อเหลือง "จตุพร พรหมพันธุ์" และ ทนายนกเขา "นิติธร ล้ำเหลือ" ได้ใช้พื้นที่ใจกลางเมือง บริเวณเซ็นทรัลเวิลด์ ชุมนุม "หยุดอำนาจ 3 ป. เพื่อนับ 1 ประเทศไทย” เมื่อ 4 ก.ย. พร้อมประกาศวันตัดสิน "8 ปีประยุทธ์" คือจุดแตกหัก
ส่วน “ม็อบ” กลุ่มอื่นๆ ที่ยังหมุนเวียน จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ อาทิ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ กลุ่ม People ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร จัดกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” เรียกร้องสิทธิการประกันตัว
กลุ่มทะลุแก๊ซ จัดกิจกรรม ยืน เหยียบ ย่ำ ความยุติธรรมให้เพื่อนเรา
กลุ่ม We Volunteer หรือ Wevo ของ โตโต้ -ปิยรัฐ จงเทพ จัดกิจกรรมยืน “112 คน 112 วัน” และใน จ.เชียงใหม่ เชียงราย
นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวฝ่ายการเมือง เช่น อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.ก้าวไกล โพสต์รำลึกวันครบรอบ 8 ปีการคุกคามผู้เห็นต่างในปี 2557 ภายหลังเกิดรัฐประหาร พร้อมติดแฮชแท็ก 8 ปีประยุทธ์ รวมถึง “ณัฐวุฒิ ใสเกื้อ” อดีตแกนนำเสื้อแดง ที่ตั้งข้อสังเกตถึงความพยายามสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์
“หน่วยงานความมั่นคง” เชื่อมั่นว่า สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาทิศทางใด โดยอาศัยกฎหมาย และเครื่องต่างๆ ที่มีอยู่ เพื่อดูแลบ้านเมืองให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ นำไปสู่การประชุมเอเปค ที่รัฐบาลไทยจะเป็นเจ้าภาพวันที่ 18-19 พ.ย.นี้ ที่กรุงเทพฯ พร้อมต้อนรับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคจากหลายประเทศ ก่อนจะนำไปสู่การยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่ในปี 2566
โดยก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ได้ออกข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 47 เมื่อ 27 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ใน กทม. ปริมณฑล และจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
แม้จะกำหนดให้การชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ เป็นเสรีภาพของประชาชน ที่ย่อมกระทําได้ แต่ให้นําหลักเกณฑ์การจัด และการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัด และผู้ชุมนุม ตามที่กําหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม
โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง หรือ ศปม. กำหนดมาตรการขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อคุ้มครองประชาชน รวมทั้งอำนวยความสะดวก และดูแลการชุมนุม
จนเป็นที่มาของประกาศฉบับที่ 15 เมื่อ 1 ส.ค.2565 ของ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทสส.ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง(ศปม.) ด้วยการเพิ่มโทษ แกนนำ ผู้ชุมนุม หากฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ให้รับโทษตามมาตรา 18 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ควบคู่กับการออกคำสั่ง ศปม.ที่ 7/2565 ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พิจารณาความเหมาะสม กำหนดมาตรการอำนวยความสะดวก และดูแลการชุมนุมให้เป็นไปตามกฎหมาย ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การนำเครื่องมือควบคุมฝูงชนมาใช้ รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายดำเนินการอย่างทันท่วงที
ในกรณีที่เห็นสมควร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสามารถประสานร้องขอการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกองบัญชาการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (บก.ศปม.) ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กองทัพบก (ศปม.ทบ.) ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงกองทัพเรือ (ศปม.ทร.) ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กองทัพอากาศ (ศปม.ทอ.) ได้
โดยประกาศและคำสั่ง ศปม. จะเป็นเครื่องมือหนึ่งของ “หน่วยงานความมั่นคง” ที่ใช้ควบคุมสถานการณ์จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไป
แม้ช่วงที่ผ่านมา บรรดาม็อบดาวกระจายจะจุดไม่ติด แต่ช่วงเปลี่ยนผ่านการเมือง โจทย์สำคัญของฝ่ายความมั่นคงคือไม่ประมาทกับ 3 สถานการณ์ “8 ปีประยุทธ์-เอเปค-ยุบสภา”