“ปลอดประสพ”สะท้อน6ปัญหาน้ำท่วมทั่วไทย-เปิด6ทางออกแก้น้ำท่วมกรุงเทพ

“ปลอดประสพ”สะท้อน6ปัญหาน้ำท่วมทั่วไทย-เปิด6ทางออกแก้น้ำท่วมกรุงเทพ

“ปลอดประสพ”สะท้อน6ปัญหาน้ำท่วมทั่วไทย เปิด 6 ทางออกแก้น้ำท่วมกรุงเทพ ชี้ที่ผ่านมารัฐละเลย ทำประชาชนเดือดร้อนสาหัส

นายปลอดประสพ สุรัสวดี  ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เป็นเพราะผู้ใหญ่ในบ้านเมืองละเลยในเรื่องหลักการสำคัญ 6 ข้อ 

1.เรื่องน้ำเป็นงานในระดับยุทธศาสตร์ หากผู้บริหารบ้านเมืองควบคุมน้ำได้ จะเป็นผู้นำที่มีความสามารถ  สามารถดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนได้  แต่ผู้บริหารยุคนี้ไม่คิดว่าเรื่องน้ำ เป็นงานในระดับยุทธศาสตร์ 

2.ดำเนินยุทธวิธีที่ผิดพลาด ไม่มีความสามารถบริหารจัดการน้ำให้มี ‘ที่อยู่ที่ไป’  น้ำจึงท่วมหมด เช่น การควบคุมการเปิดปิดประตูระบายน้ำ บางแห่งไม่ควรปิด บางแห่งไม่ควรปิด

3.การบริการจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ต้องทำทุกลุ่มน้ำ และต้องทำทุกจุด ทุกลุ่มน้ำ 

4.การบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องในทางวิชาการหลายแขนงที่ต้องทำงานเชื่อมโยงกัน  เช่น ความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยา  อุทกวิทยา บริหารน้ำขึ้นน้ำลง  ความรู้ด้านวิศวกรรม  และสิ่งแวดล้อม  ความรู้ทุกแขนงต้องเชื่อมโยงกัน 

5. หน่วยงานที่ทำงานเรื่องน้ำ ทั้งการบริหารจัดการน้ำ และป้องกัน ควบคุม และช่วยเหลือประชาชน  มีถึง 26 หน่วยงาน  แต่การทำงานเป็นไปแบบต่างคนต่างทำ  จึงไม่เคยเห็นนโยบายที่สอดคล้องกันในการแก้ไขปัญหาน้ำ 

6.ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงลานิญญา ที่ลมจากตะวันออก พัดมาทางภูมิภาคอินโดจีน  ประกอบกับสภาวะโลกร้อน  ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูง ฝนตกปริมาณมาก  แต่รัฐบาลนี้บริหารประเทศเสมือนอยู่ในภาวะปกติ แทนที่จะบริหารแบบ New mormal 
 

การละเลยปัญหา 6 ข้อข้างต้น  ทำให้เกิดความผิดพลาด 5 ข้อ ได้แก่  1.แผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างดีเยี่ยมโดยไม่ได้ใช้งบประมาณ และไม่ได้กระทำการที่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดกับกฎหมาย  นักวิชาการเข้ามาสนับสนุนแผนดังกล่าว  แต่รัฐบาลไม่ทำต่อ กลับเอาเงินงบประมาณ 1 แสนล้านบาทนำไปใช้แบบไม่เกิดประโยชน์ 

2.งบประมาณ 1 แสนล้านบาทดังกล่าว รัฐบาลหลังการรัฐประหารนำเงินส่วนนี้ไปใช้แบบไม่เกิดประโยชน์  โดยการให้หน่วยงานด้านทหารขุดลอกคลอง แต่สุดท้าย ที่ประชุมคณะนัฐมนตรี มีมติให้ยุติโครงการ เพราะเป็นการเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์  เพราะขุดลอกคลองขึ้นมาในช่วงฝนตก  ขุดคลองขึ้นมาแล้วไหลลงคลองเช่นเดิม เป็นการใช้เงินงบประมาณแบบละลายแม่น้ำ

3.รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญเรื่องน้ำในระดับยุทธศาสตร์ ปล่อยปละละเลยให้มีการสร้างเขื่อนล้ำเข้ามาในลำน้ำ ซึ่งเป็นคลองหลัก เช่น คลองเปรมประชากร  คลองลาดพร้าว น้ำจึงไม่มีที่ไป 

4.แต่ละหน่วยงานไม่มีการบูรณาการทั้ง กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน เช่น มีโครงการยกถนนโดยไม่ได้วางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ เครื่องสูบน้ำ 10 เครื่องถูกรื้อถอนออกจากประตูระบายน้ำคลองรังสิต ไม่มีการบริหารจัดการน้ำออกไปลงคลองประเวศ เป็นต้น

5.การบริหารงานไม่โปร่งใส และล่าช้า  ในช่วงที่ตนเป็นรัฐบาลมีโครงการขุดแม่น้ำแห่งใหม่   เพื่อระบายน้ำจากบางไทร  ไปบางบาล ระยะทาง 20 กม.  รัฐบาลนี้นำไปดำเนินการ  ซึ่งต้องขอขอบคุณ เพราะเป็นความคิดที่ถูกต้อง  แต่เป็นการก่อสร้างที่มีมูลค่าสูงกว่า 3 เท่า ระยะเวลาก่อสร้างจากที่ตนเคยวางแผนไว้ 3 ปี รัฐบาลนี้วางไว้ถึง 7 ปี  ซ้ำยังสร้างถนนประกบสองข้างทางแม่น้ำ  ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างผิดหลัก กีดขวางทางน้ำ ซึ่งจะทำให้น้ำจากอยุธยา บางบาล ปากเกร็ด  ไม่มีที่ไปและจะทำให้น้ำท่วมมากกว่าเดิม  
 

นายปลอดประสพ กล่าวว่า ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าที่อาจจะมีการเลือกตั้ง และหากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง  ตนจะเสนอให้รื้อถนนที่สร้างรอบแม่น้ำดังกล่าวออก  เพื่อเปิดทางน้ำ  ความละเลยผิดพลาดสะท้อนถึงความไม่รู้เรื่องของการบริหารประเทศของรัฐบาลนี้  ในยามนี้ประชาชนเดือดร้อน   พรรคเพื่อไทยพร้อมจะช่วยเหลือ  อย่างน้อยคือข้อคิด ประสบการณ์ และบุคลากรเท่าที่เรามี พร้อมเสนอแนะ 6 วิธีการจัดการน้ำท่วมตามหลักวิชาการ ไปยังรัฐบาลและผู้ว่า กทม. เพื่อให้การแก้ไขน้ำท่วมทำได้ดีกว่าเดิม ดังนี้

1.ผู้ว่า กทม.สามารถประสานขอความร่วมมือกับรัฐบาล โดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี  ให้สั่งการหน่วยงานราชการทั้งหมด  นำเครื่องสูบน้ำที่กระจายในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย  เข้ามายัง กทม.

ในส่วนของ กทม.ควรสำรวจพื้นที่ในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่  สูบน้ำจากคลองหลัก  ลงแม่น้ำเจ้าพระยา ลงทะเล หรือลงไปแม่น้ำบางปะกง  เครื่องสูบน้ำขนาดเล็กความดันสูงของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  ที่จัดซื้อในสมัยที่ตนเป็นรัฐบาลมีหลายร้อยตัว  ความกว้างของท่อ 6 นิ้ว ยาว 300-500 เมตร  นำเอาไปแจกจ่ายใช้ใน กทม. เพื่อสูบน้ำจากจุดท่วมที่ไม่มีที่ไป  ไปลงคลองใหญ่ ส่งต่อออกแม่น้ำเจ้าพระยา 

2.ผู้ว่า กทม.ประกาศให้ กทม.เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างหนัก  ถือว่าเป็นพื้นที่ภายใต้สภาวะพิเศษ  สามารถจัดซื้อเครื่องสูบน้ำจากต่างประเทศเพิ่มเติม  เช่น ที่สิงคโปร์ สามารถขนส่งผ่านเครื่องบินมาได้ทันที 

3. ใครที่สั่งให้ปล่อยน้ำลงมาทุ่งรังสิต ขอให้หยุดทำทันที เพราะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน  ควรกระจายน้ำจากคลองรังสิตออกไป ให้ครบทั้ง 3 ทิศทางคือ ตะวันตก ตะวันออก ผ่ากลาง กทม. เจ้าพระยา และ บางปะกง  ส่วนคลองลาดพร้าว  คลองเปรมประชากร กทม.ต้องยอมให้น้ำผ่านสองคลองนี้เพื่อไปลงทะเล  ซึ่งวิธีการนี้  ควรทำ  เมื่อทำได้

4.น้ำระบายที่ไม่สามารถระบายได้  นอกเหนือจากปริมาณฝนที่ควบคุมไม่ได้  เพราะมีสิ่งก่อสร้างจำนวนมาก ต้องใช้เครื่องมือช่วย เชโดยเฉพาะเครื่องสูบน้ำ  เป็นอุปกรณ์กลุ่มครุภัณฑ์สามารถเก็บไว้ใช้ในระยะยาวได้ 

5.ปัจจุบันนี้มีคอนโดมีเนียมจำนวนมาก ทุกคอนโดต้องยกระดับบั๊มเปอร์ให้สูงขึ้น  และทำให้ใหญ่ขึ้น  รัฐบาลต้องใจใหญ่  ควรเปิดให้เอกชนปรับปรุงระบบระบายน้ำให้ดี  เบิกค่าใช้จ่ายที่รัฐบาล เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน หากไม่ทำ  จะเกิดความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ 

6.ผู้ว่า กทม.ควรใช้ประโยชน์จากประตูระบายน้ำพระโขนง ซึ่งเป็นประตูระบายน้ำในฝั่งตะวันออกของ กทม.และใกล้กับทางออกของน้ำไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

“รัฐบาลนี้สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหาร และคนใน ครม.ก็มีหลายคนสืบทอดอำนาจจากนักปฏิวัติ  ฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างกติกาใหม่ที่พิลึกกึกกือ  แต่เรื่องน้ำ  เปรียบเสมือนสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิต ความเป็นอยู่ ของประชาชน  ท่านปฏิวัติเรื่องการเมืองได้ แต่ปฏิวัติเรื่องน้ำไม่ได้” นายปลอดประสพ กล่าว