ปลัด มท.รับลูก “บิ๊กป้อม” แก้น้ำท่วม ส่งเครื่องสูบน้ำ 16 รายการให้ กทม.แล้ว
“ปลัดมหาดไทย” เผย มท.พร้อมดำเนินการตามข้อสั่งการแก้ “น้ำท่วม” ของ “บิ๊กป้อม” ย้ำหากพื้นที่ไหนยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ โทรสายด่วน 1784 ให้ ปภ.ทุกจังหวัดคอยสนับสนุน ส่งเครื่องสูบน้ำ 16 รายการให้ กทม.แล้ว
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยของกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อช่วงดึกคืนวันที่ 13 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญขับเคลื่อน 13 มาตรการรับมือฤดูฝนทั่วประเทศ โดยขณะนี้ กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแล้ว พร้อมกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้สั่งการให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ฯ ร่วมกับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ป.ภ.ช.) ซึ่งมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยได้เน้นย้ำให้กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้ เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำ เพื่อป้องกันและเเก้ไขปัญหาอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยให้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่กำลังประสบปัญหาการระบายน้ำเนื่องจากขยะ สิ่งปฏิกูล รวมถึงวัชพืชกีดขวางเส้นทางการระบายน้ำ ประกอบกับปริมาณน้ำในคลองมีปริมาณมาก ทำให้การระบายน้ำลงสู่เเม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปได้ช้าลงนั้น พล.อ. ประวิตร ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน อาทิ กองทัพ และกรมชลประทาน เร่งระดมสรรพกำลัง เครื่องมือ และยานพาหนะ เพื่อให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยโดยเร็ว นอกจากนี้ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้สั่งการให้องค์การขนส่งมวลชน (ขสมก.) เพิ่มความถี่การเดินรถสาธารณะ ตามเส้นทางน้ำท่วมขังให้มากขึ้น พร้อมกับแจ้งให้ตำรวจ ลงพื้นที่อำนวยความสะดวกการจราจรโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกและลดความเดือดร้อนในการสัญจรของประชาชนแล้ว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มีโทรสารในราชการกองอำนวยการป้องกันเเละบรรเทาสาธารณภัยกลาง ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยมีสาระสำคัญให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดดำเนินการ ดังนี้
1. บูรณาการหน่วยงาน จัดกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ออกปฏิบัติการ ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยโดยทันที โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านการดำรงชีพ การแจกจ่ายอาหารปรุงสุก การแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง สำหรับพื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ให้จัดชุดปฏิบัติการของฝ่ายปกครองร่วมกับเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้บริการประชาชน รวมทั้งการจัดกำลังดูแลรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกด้านการสัญจร
2. เร่งรัดการระบายน้ำในพื้นที่ประสบภัยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบภัยซ้ำ หรือเกิดน้ำท่วมขังต่อเนื่องเป็นเวลานาน พร้อมทั้งบูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ หน่วยทหาร ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต หน่วยงานด้านคมนาคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัคร องค์กรสาธารณกุศล สนับสนุนการแก้ไขปัญหา อาทิ การเปิดทางน้ำ การเร่งผลักดันน้ำ การสูบน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง เป็นต้น
3. การบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ในพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วให้จัดชุดปฏิบัติการฉีดล้างทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่สาธารณะ โดยเชิญชวนประชาชนจิตอาสาร่วมดำเนินการ พร้อมทั้งให้เร่งสำรวจผลกระทบความเสียหาย ในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านชีวิต ที่อยู่อาศัย
พื้นที่การเกษตร ตลอดจนให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ตามกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว
4. สำหรับจังหวัดที่ยังไม่มีสถานการณ์อุทกภัย ให้เตรียมความพร้อมตามแนวทาง/มาตรการดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้การให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำว่า การดำเนินงานในระยะเร่งด่วนจะเร่งกำจัดขยะและวัชพืชที่ขวางทางน้ำ พร้อมนำเครื่องสูบน้ำ เรือผลักดันน้ำและเครื่องมือช่าง เข้าไปช่วยเปิดทางระบายน้ำ ผลักดันน้ำจากคูคลองลงแม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วขึ้น เพื่อให้พื้นที่น้ำท่วมขังกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้เผชิญเหตุ ได้รับรายงานว่ามีการดำเนินงานอย่างเต็มที่ ซึ่งพี่น้องประชาชนต้องช่วยกันแจ้งข้อมูลมายังกระทรวงมหาดไทย หากพื้นที่ใดยังคงมีน้ำท่วมขังเเละยังไม่ได้รับการช่วยเหลือขอให้เร่งเเจ้งข้อมูลมายัง สายด่วนนิรภัย 1784 หรือที่ Line Official Account ปภ.รับเเจ้งเหตุ หรือช่องทางของศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทยที่ สายด่วน 1567
- ปภ.สั่งหนุนเครื่องสูบน้ำให้ กทม.แล้ว 16 รายการ ประจำจุดเสี่ยง
วันนี้ (13 ก.ย. 65) เวลา 21.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 15.00 น. ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเคลียร์คัด ชัดเจน ทางช่อง NBT ตอน มหาดไทย พร้อมเร่งเยียวยา ฟื้นฟู พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อเร่งประชาสัมพันธ์ช่องทางการแจ้งขอรับการช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยสามารถเเจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน นิรภัย 1784 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หรือ สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ค Suttipong Juljarern
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในรายการว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และในหลายจังหวัดทั่วประเทศ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สั่งการให้ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สนับสนุนการดำเนินการของจังหวัด โดยในห้วงที่ผ่านมามีผลการปฏิบัติใน 57 จังหวัด สนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัยไปแล้วกว่า 856 รายการ โดยเฉพาะ ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาดอัตราสูบ 28,000 ลิตร/นาที รวม 16 รายการ ประจำพื้นที่เสี่ยง และจุดบ่อสูบน้ำ รวม 14 แห่ง ใน 6 เขต (วังทองหลาง 7 แห่ง ลาดพร้าว 2 แห่ง บึงกุ่ม 2 แห่ง สะพานสูง 1 แห่ง บางเขน 1 แห่ง และมีนบุรี 1 แห่ง) ตามที่ กรุงเทพมหานครร้องขอ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความห่วงใยพสกนิกรชาวไทยที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยพระราชทานแนวทางการช่วยเหลือประชาชน โดยให้จัดชุดปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนแต่ละด้านให้ครอบคลุม อาทิ ด้านการดำรงชีพ ได้จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน การให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำดื่ม การเเจกจ่ายถุงยังชีพ การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนผู้ประสบภัย ในด้านที่อยู่อาศัยให้มีการบูรณาการหน่วยงานทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งซ่อมแซมบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนกรณีเส้นทางคมนาคมมีน้ำท่วมขัง หรือได้รับความเสียหายจากอุทกภัยให้จัดทำป้ายแจ้งเตือน พร้อมจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกแนะนำเส้นทางที่ปลอดภัย รวมทั้งจัดยานพาหนะที่เหมาะสมอาทิ เรือ รถยกสูง เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องประชาชน พร้อมเร่งซ่อมแซมเส้นทางที่ชำรุดถูกตัดขาดเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์น้ำท่วมขังในหลายพื้นที่โดยเฉพาะบนถนนหลายเส้นทางส่งผลกระทบต่อผู้ที่สัญจรไปมา เกิดจากปริมาณฝนที่ตกหนัก ประกอบกับปัญหาการระบายน้ำที่พบว่า มีขยะ สิ่งปฏิกูล รวมถึงวัชพืชไปกีดขวางทางเส้นทางการระบายน้ำ ขณะนี้ได้มีการเร่งดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้ระดมสรรพกำลังทั้งเจ้าหน้าที่เเละเครื่องจักรเร่งช่วยกันระบายน้ำแล้ว นอกจากนี้ ทราบว่ากรุงเทพมหานครได้มีการสำรวจความเสียหายเพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู ตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ภายหลังสถานการณ์น้ำคลี่คลาย
"สำหรับพี่น้องประชาชนท่านใดที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ หรือได้รับความช่วยเหลือแล้วเเต่มีความประสงค์จะขอความช่วยเหลือเพิ่มเติม สามารถร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในพื้นที่ได้ทันที หรือสามารถโทรศัพท์ สายด่วนนิรภัย 1784 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หรือ สายด่วน ศูนย์ดำรงธรรม 1567 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ค Suttipong Juljarern เพื่อจะได้เร่งให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว" ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว