อุโมงค์ "ทางด่วนน้ำ" กทม. ตอบโจทย์ ? เมื่อผู้ว่าฯ ชัชชาติ ของบฯ โครงการ 11
“ชัชชาติ”ของบประมาณทำอุโมงค์ทางด่วนน้ำ เนื่องจากเขตลาดกระบังมีน้ำท่วมสูง จึงต้องทำทางด่วนน้ำ ระบายน้ำจากลาดกระบังลงสู่ทะเลอ่าวไทย ขณะที่ “ดร.คมสัน” ไม่เห็นด้วย เพราะใช้งบประมาณสูง และใช้เวลาก่อสร้างนาน พร้อมเสนอให้ใช้ประโยชน์จากคลองร้อยคิวให้เต็มประสิทธิภาพ
ในช่วงปี 2552-2564 กรุงเทพมหานคร ลงทุนด้านการป้องกันน้ำท่วมและระบบบริหารจัดการน้ำเป็นเงินสูงถึง 68,000 ล้านบาท มีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ (อุโมงค์ยักษ์) ใช้งานแล้ว 4 แห่ง ความยาวรวม 19.37 กิโลเมตร ประกอบด้วย
- อุโมงค์ระบายน้ำประชาราษฎร์ สาย 2 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.50 ตารางกิโลเมตร มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระบายน้ำริมคลองเปรมประชากรเขตบางซื่อ จตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง
- อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26 ตารางกิโลเมตร มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 45 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เพื่อระบายน้ำในพื้นที่เขตวัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และดินแดง
- อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อระบายน้ำในพื้นที่เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และลาดพร้าว
- อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ ครอบคลุมพื้นที่ 56 ตารางกิโลเมตร มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และดุสิต
ขณะเดียวกันกทม.กำลังดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่เพิ่มอีก 6 แห่ง ความยาวรวม 39.625 กิโลเมตร และมีประสิทธิภาพระบายน้ำรวม 238 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 แห่ง และอยู่ระหว่างจัดสรรงบประมาณ ประจำปี 2566 อีก 2 แห่ง รวมงบประมาณกว่า 26,580.865 ล้านบาท
คำถามคือการใช้งบประมาณมหาศาล แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ทั้งระบ ทำให้ “คนกรุง” ยังสาละวนอยู่กับปัญหาน้ำท่วม จนนำไปสู่ปัญหาอื่น อาทิ รถติด ปัญหาสุขภาพ เป็นต้น
ทำให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ออกมาเสนอแนวคิดทำอุโมงค์ทางด่วนน้ำ เนื่องจากเขตลาดกระบังมีน้ำท่วมสูง จึงต้องทำทางด่วนน้ำ หรืออุโมงค์จากลาดกระบังลงสู่ทะเลอ่าวไทย โดยไม่ต้องมาระบายน้ำทางคลองพระโขนง ซึ่งทางกทม.จะเสนอโครงการกับทางกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ต่อไป เป็นแผนระยะยาว 4-5 ปี
ดร.คมสัน มาลีสี รักษาราชการแทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซต์ไทยแลนด์ ว่า เป็นเรื่องของอนาคตใกล้มาก มีความเป็นได้ยากมาก เรามีโมเดลคลองร้อยคิว ที่จะดึงน้ำจากลาดกระบังระบายน้ำจากสมุทรปราการลงทะเล ลงทุนไปเยอะมาก แต่ยังใช้งานได้ไม่เต็มที่ ซึ่งเราควรมาพัฒนาศักยภาพตรงนี้ดีหรือไม่ เพราะโครงการระยะยาวใช้เวลาอีกนาน ไม่ใช่การแก้ปัญหาปัจจุบัน
สำหรับการสร้างอุโมงค์ทางด่วนน้ำ ตนมองว่าพื้นที่ของลาดกระบังไม่ได้อยู่ในกทม.ทั้งหมด แต่การทำอุโมงค์กว่า 20 กิโลเมตร ซึ่งลงทุนมหาศาล จึงเกิดคำถามว่าการดึงน้ำแค่บางจุดไประบายลงทะเล มันจะคุ้มไหม เพราะต้องใช้งบประมาณหลายหมื่นล้าน และต้องใช้เวลานานถึง 5 ปี
ดร.คมสัน กล่าวต่อว่า ปัญหาน้ำท่วมขณะนี้ตนมองว่ามาจากน้ำผุด เพราะน้ำในคลองแสนแสบ คลองประเวศ ยังไม่เต็มคลอง ซึ่งเกิดจากเขาไม่กล้ารันน้ำให้เต็มคลอง เพราะน้ำมันจะย้อนไปท่วมถนน แต่โดยหลักการระบบท่อระบายจะจ่อลงสู่คลอง แต่ถ้าน้ำในคลองมันสูง มันจะย้อนท่วมถนนอีกเช่นกัน
“ดังนั้นมันต้องทำระบบน้ำจากท่อระบายดันลงสู่คลองได้ แต่ไม่ให้น้ำจากคลองดันเข้าสู่ท่อระบายได้ ถ้าเราแก้ตรงจุดนี้ได้เราจะดันน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้เต็มที่ โดยจุดที่ระบายน้ำลงสู่คลอง ต้อมีระบบปิดทาง ซึ่งจะช่วยปิดทางน้ำได้ ซึ่งเราเน้นท่อระบายน้ำที่อยู่ในจุดถนนก่อน และจะช่วยดันน้ำเข้าสู่คลองแสนแสบ และคลองประเวศได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ดร.คมสัน กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่น้ำไปไม่ถึงสถานีระบายน้ำพระโขนงนั้น เป็นโมเดลเดียวกันคือเขาไม่กล้ารันน้ำเต็มคลอง เพราะกลัวจะกระทบต่อประชาชน ทำให้น้ำไปที่ปลายทางคือสถานีระบายน้ำพระโขนงมีไม่มากพอ ที่สำคัญสถานีระบายน้ำรพะโขนงยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
“ผมเป็นห่วงว่าในช่วงปลายเดือน ต.ค. ซึ่งจะมีน้ำเหนือไหลลงมาด้วย จะเกิดวิกฤตมากกว่านี้ ถ้าบริหารจัดการแบบนี้เจ๊งแน่นอน ดังนั้นเมื่อน้ำเหนือจะลงมา และฝนในกทม.ยังตกเหมือนเดิม เราต้องเบี่ยงน้ำออกไป ไม่ให้น้ำผ่านมาในกทม. ปี 2554 ฝนไม่ตกในกทม. แต่มีน้ำเหนือ เราบริหารจัดการระบายน้ำผ่านคลองพระองค์เจ้าไขยานุชิต คลองร้อยคิว แต่ปีนี้ฝนตกในพื้นที่เยอะ แล้วถ้ามีน้ำเหนือลงมา เราบริหารจัดการแบบนี้มันไม่รอด”
ดร.คมสัน กล่าวต่อว่า ตอนนี้อุโมงค์ทางด่วนน้ำยังไม่ต้องทำหรอก เราต้องบริหารจัดการที่มีอยู่ให้ดี ที่สำคัญหน่วยงานต่างๆเราต้องทำงานบูรณาการกัน เพื่อรันน้ำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด