สรุปมหากาพย์ “คดีฟุตซอล” ฉาว ป.ป.ช.เชือด 5 รอด 1 แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง

สรุปมหากาพย์ “คดีฟุตซอล” ฉาว ป.ป.ช.เชือด 5 รอด 1 แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง

หลังฉากมหากาพย์ทุจริตเชิงนโยบาย “คดีฟุตซอล” ฉาว 6 นักการเมืองถูกเปิดชื่อทางการ ป.ป.ช.ชี้มูลผิดไป 5 รอด 1 แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง ยังเหลืออีกหลายกลุ่มถูกไต่สวน รอลุ้นรอดหรือโดนเชือด

สมหญิง บัวบุตรส.ส.อำนาจเจริญ พรรคเพื่อไทย คือชื่อของนักการเมืองรายล่าสุด ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีทุจริตการจัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างสนามฟุตซอล โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีงบประมาณ 2555

ความคืบหน้ากรณีนี้ “สมหญิง” ยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดเข้าพบอัยการเพื่อนำตัวส่งฟ้องในวันที่ 8 ก.ย. 2565 โดยอ้างว่า อยู่ระหว่างสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร อัยการอนุญาตตามคำขอ เนื่องจากเป็น ส.ส. มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และทำหนังสือให้ ป.ป.ช. นำตัว “สมหญิง” มาพบอัยการเพื่อส่งฟ้องศาลในวันที่ 22 ก.ย. 2565

สำหรับคดีทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอลฉาว ถึงขนาดองค์กรตรวจสอบอย่าง ป.ป.ช. ใช้คำว่า “ทุจริตเชิงนโยบาย” ครั้งนี้ สรุปพฤติการณ์ได้ 3 ข้อคือ

  1. มีการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน พื้นคอนกรีตไม่ถูกต้องตามคุณลักษณะเฉพาะ นำวัสดุแผ่นยางสังเคราะห์สำหรับสนามในร่มมาใช้ในสนามกลางแจ้งทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ ไม่มีความทนทาน เป็นการใช้วัสดุผิดประเภท เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการก่อสร้าง
  2. ราคาแพงเกินจริง
  3. ผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นพื้นที่ของนักการเมือง และนักการเมืองเป็นผู้รับเหมา

แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

1.กลุ่มภาคอีสาน หลายสำนวน โดยเป็นการแปรญัตติงบประมาณประจำปี 2555 ไปยัง สพฐ. ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษารวม 18 จังหวัด วงเงินประมาณ 4,459,420,000 บาท เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลกลางแจ้งในโรงเรียนสังกัด สพฐ.

2.กลุ่มภาคเหนือ อย่างน้อย 16 สำนวน เป็นการแปรญัตติงบประมาณปี 2555 ให้กับ สพฐ.สร้างสนามฟุตซอล บางสำนวนเป็นการใช้งบประมาณประจำปี 2556 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจออย่างน้อย 1 จังหวัด (เท่าที่ตรวจสอบพบ) รวมวงเงิน 30 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างสนามหญ้าเทียม (สตรีทซอคเกอร์) ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่

 

โดย “สมหญิง” นับเป็นนักการเมืองรายที่ 6 ที่ถูกกล่าวหาอย่างเป็นทางการใน “คดีฟุตซอล” ครั้งนี้ โดยก่อนหน้านี้มี 5 รายเกี่ยวข้อง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กรณีถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และส่งอัยการฟ้องศาล 2 กลุ่ม 4 ราย

1.กลุ่มโคราช คือ นายวิรัช รัตนเศรษฐ สมัยเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย (ปัจจุบันเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ) นางทัศนียา รัตนเศรษฐ สมัยเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย (ปัจจุบันเป็น ส.ส.นครราชสีมา พปชร.) และนางทัศนาพร เกษเมธีการุณ สมัยเป็นนายกเทศมนตรีตำบลห้วยแถลง (ปัจจุบันเป็น ส.ส.นครราชสีมา พปชร.)

ข้อมูลตามทางไต่สวนของ ป.ป.ช. ระบุว่า ในช่วงที่มีการจัดทำงบประมาณปีงบประมาณ 2555 นายวิรัช นางทัศนียา และนางทัศนาพร น้องสาวนางทัศนียา ได้สั่งการให้พวกของตน เข้าไปประสานกับผู้อำนวยการโรงเรียนต่าง ๆ ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 2 เพื่อจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลให้ โดยเข้าไปครอบงำ บงการการใช้จ่ายงบประมาณในวงเงินดังกล่าวโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมาย 

มีการสั่งให้ประสานรายชื่อโรงเรียนที่ต้องการก่อสร้างสนามฟุตซอล ก่อนจะโอนเงินงบประมาณไปให้ เฉพาะในพื้นที่ จ.นครราชสีมา วงเงิน 295 ล้านบาท ก่อนจะประสานงานให้กลุ่มเอกชนเข้าไปดำเนินการก่อสร้าง โดยกำหนดวันเสนอราคาเป็นวันเดียวกันแยกรายเขต และมีการกำหนด TOR โดยนำยางสังเคราะห์ (EVA) ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ทำพื้นสนามกีฬาฟุตซอลกลางแจ้งได้มาใช้และตั้งราคาไว้สูงกว่าความเป็นจริง 8-9 เท่า กีดกันเอกชนรายอื่นเข้าร่วมประมูล

ปัจจุบันกรณีนี้ อัยการสูงสุด (อสส.) สั่งฟ้องนายวิรัช กับพวกรวม 3 รายไปแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาไต่สวนในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และนายวิรัช กับพวกรวม 3 รายถูกศาลฎีกาฯสั่งหยุดการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำพิพากษาด้วย

สรุปมหากาพย์ “คดีฟุตซอล” ฉาว ป.ป.ช.เชือด 5 รอด 1 แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง

2.กลุ่มเชียงใหม่ คือ นายประสิทธิ์ วุฒินันชัย เมื่อครั้งเป็น ส.ส.เชียงใหม่ เขต 5 พรรคเพื่อไทย กรณีก่อสร้างสนามสตรีทซอคเกอร์ โดยตามสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ระบุว่า อปท.พื้นที่เชียงใหม่ มีการขอรับสนับสนุนงบประมาณผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นไปยังสำนักงบประมาณ โดยนายประสิทธิ์ นำกลุ่มบริษัทเอกชน เข้ามาเป็นคู่สัญญากับ อปท. โดยเรียกรับเงินค่าตอบแทนจากกลุ่มเอกชน จำนวนร้อยละ 25 ของงบประมาณที่ได้รับ รวมเป็นเงิน 7.5 ล้านบาท

ตีตกไปแล้ว 1 กลุ่ม 1 ราย คือ

3.กลุ่มมุกดาหาร ปรากฏชื่อ น.ส. ส. (มิได้ระบุชื่อ-สกุลจริง) ถูกกล่าวหาในสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. รวม 2 สำนวน กรณีการใช้งบแปรญญัติให้กับโรงเรียนสังกัด สพฐ. รวม 5 โรงเรียน วงเงินรวม 25 ล้านบาท 

โดยจากการไต่สวนข้อเท็จจริงทั้ง 2 สำนวน ปรากฎพยานหลักฐานฟังได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้ร่วมกระทำความผิดโดยทุจริตเงินจัดสรรงบประมาณปี 2555 ที่นำไปจัดสร้างสนามฟุตซอลให้กับโรงเรียน มีการวางแผนการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอีกหลายประการ เพื่อให้กลุ่มเอกชนที่เป็นพรรคพวกของตนเองได้เข้าเป็นคู่สัญญา และยังใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐานในการก่อสร้างจนทำให้สนามกีฬาฟุตซอลไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตรงตามวัตถุประสงค์

จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า น.ส. ส. ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป

นอกจากนี้ยังมีกรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐ (มิได้ปรากฎชื่อนักการเมือง) ในคดีฟุตซอลดังกล่าวอีกอย่างน้อย 1 สำนวน ในพื้นที่ จ.สุโขทัย โดย ป.ป.ช.มีมติตีตกข้อกล่าวหาในสำนวนนี้ไปแล้ว

อย่างไรก็ดียังเหลืออยู่อีกอย่างน้อย 3 กลุ่ม ที่ยังมิได้ถูกเปิดเผยชื่ออย่างเป็นทางการในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช. ได้แก่

1.กลุ่มอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความสัมพันธ์กับกลุ่มเอกชน กวาดงานก่อสร้างสนามฟุตซอล และสตรีทซอคเกอร์ ในพื้นที่ภาคเหนือ อย่างน้อย 28 แห่ง

2.กลุ่มเครือญาติอดีต ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย มีความสัมพันธ์กับกลุ่มเอกชน กวาดงานก่อสร้างสนามฟุตซอลในพื้นที่ภาคอีสานหลายจังหวัด

3.กลุ่มเครือญาติอดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย มีความสัมพันธ์กับกลุ่มเอกชน กวาดงานก่อสร้างสนามฟุตซอลในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี

ทั้งหมดคือข้อมูล “คดีฟุตซอล” เท่าที่สืบค้นได้ในขณะนี้ จะเห็นได้ว่า 6 ชื่อนักการเมือง ถูกชี้มูลไป 5 ราย เป็นเพียงแค่ “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ของ “มหากาพย์ทุจริตเชิงนโยบาย” เท่านั้น

ต้องรอดูหลังจากนี้ว่าจะมีนักการเมืองรายใดถูกชี้มูล หรือรอดพ้นบ่วงอีกบ้าง