16 ปี รัฐประหาร “ทักษิณ ชินวัตร’” จาก 19 ก.ย.49 ถึงวันนี้ ใครทำอะไรอยู่บ้าง
แม้เวลาผ่านมาถึง 16 ปี สำหรับการรัฐประหารรัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร" แต่ตัวละครในช่วงเวลานั้นยังไม่หายไปจากถนนสายการเมืองจนถึงวันนี้
คืนวันที่ 19 ก.ย. 2549 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้ว หลายคนคงจำได้ดีสำหรับเหตุการณ์รัฐประหารรัฐบาล “ไทยรักไทย” โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) เป็นนายกรัฐมนตรี โดยผู้ก่อการรัฐประหารในครั้งนั้นคือ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ "คมช." นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)
ภาพคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.)
หลังเหตุการณ์รัฐประหารครั้งนั้นทำให้การบังคับใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 รวมถึง คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา สิ้นสุดลงทันที ขณะเดียวกันยังมีการสั่งห้ามการประท้วงและกิจกรรมทางการเมือง รวมถึงมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก และจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรีหลายคน จากนั้นในวันที่ 21 ก.ย. 2549 พล.อ.สนธิ ได้แถลงสาเหตุการทำรัฐประหาร พร้อมให้คำมั่นว่าจะฟื้นฟูรัฐบาลระบอบประชาธิปไตยภายใน 1 ปี ส่วน
เหตุการณ์หลังรัฐประหารเพียงไม่นาน "คมช." ได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว และได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2549
ทว่าสถานการณ์ทางการเมืองในรอบ 16 ปี หลังก่อรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ยังมีตัวละครสำคัญในเหตุการณ์ครั้งนั้นอีกหลายคนที่ยังมีมีบทบาทในทางการเมืองจนถึงทุกวันนี้ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวม 8 ตัวละครจากวันรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 จนถึงปัจจุบัน เพื่ออัพเดทสถานะแต่ละคนว่ามีเส้นทางชีวิตอย่างไร
1. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันทำธุรกิจอยู่ต่างประเทศ แต่ยังมีบทบาทกับพรรคเพื่อไทย โดยการส่ง "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กเข้ามาเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เพื่อเดินสายหาเสียงทั่วประเทศ ขณะที่ "ทักษิณ" ยังมีการไลฟ์ผ่านคลับเฮ้าส์ เพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์ทางการเมือง
2. พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก และ หัวหน้า "คมช." แม้ว่าปัจจุบันชื่อของ พล.สนธิ อาจเลือนหายไปจากการเมืองไทย แต่ในการเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค.2562 พล.อ.สนธิได้ลงสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อในนามพรรคชาติไทยพัฒนา แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง
3. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จากแม่ทัพภาคที่ 1 ในวันนั้น สู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยพล.อ.อนุพงษ์เป็น 1 ใน 5 ที่ดำรงรัฐมนตรีในรัฐบาล "ประยุทธ์" 1/1 ถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันอีกด้วย
4. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 1 และเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แต่อยู่ระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอยู่
5. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากอดีต ผบ.ทบ.ที่เกษียณราชการแล้วเมื่อปี 2549 แต่ยังเป็นบุคคลที่มีบทบาททางการเมืองและวงการทหาร ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรักษาการนายกฯ พ่วงด้วยหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
6. วิษณุ เครืองาม สำหรับเนติบริกรตลอดกาล ยังคงนั่งตำแหน่ง "รองนายกรัฐมนตรี" เหมือนเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง
7.คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เมื่อเหตุการรัฐประการ 19 ก.ย.2549 แต่ปัจจุบันได้ลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย และได้มานั่งเป็นหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย
8.เนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ผันตัวมาเป็นประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด แต่ยังมีบทบาทสำคัญในพรรคภูมิใจไทย
ทั้งหมดเป็นเพียงแค่ตัว 8 บุคคลในในวันรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ซึ่งยังมีตัวละครอีกมากมายที่ยังเคลื่อนไหวในขณะนี้ และยังไม่มีใครรู้ว่าวงจรการก่อรัฐประหารจะมีขึ้นอีกครั้งหรือไม่ และบุคคลเหล่านี้จะมีบทบาททางการเมืองแค่ไหนกับความเป็นไปของบ้านเมืองในอนาคต