ก้าวย่าง อนาคตการเมือง “สุเทพ” - “รวมพลัง”อ่อนแรง ในสมรภูมิเดือด
กองกำลังของพรรครวมพลังกำลังสลายตัว และกติกาเลือกตั้งที่ไม่เอื้อกับพรรคเล็ก อีกทั้งจุดยืนของสุเทพ ยังสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”เป็นนายกฯรอบ 3 จึงน่าจับตาว่า สุเทพจะไปต่ออย่างไร เพื่อให้พรรครวมพลังยังอยู่ในสารบบการเมืองครั้งหน้า
ก่อนศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 5,848 ล้านบาท “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการ กปปส. วางเดิมพัน เลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หากศาลพิพากษาให้มีความผิด
แต่คล้อยหลังเมื่อศาลฎีกาเห็นควรให้ “ยกฟ้อง” ทำให้เส้นทางการเมืองของ “สุเทพ” ยังคงเปิดกว้างอีกต่อไป แม้จะเคยสัญญาเลิกเล่นการเมืองหลังนำม็อบ กปปส. จนเกิดการรัฐประหาร 2557 แต่ต้องตระบัดสัตย์ รันพรรคการเมืองต่อในนาม "พรรครวมพลังประชาชาติไทย" ก่อนปรับเปลี่ยนชื่อให้สั้นลงเป็น "พรรครวมพลัง"
แต่ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 เป็นตัวบ่งชี้ได้เป็นอย่างดีว่า ชื่อชั้นของ “สุเทพ” แทบจะหมดมูลค่าทางการเมือง แบรนด์ “ลุงกำนัน” ไม่ปังเหมือนสมัยเดินนำขบวน กปปส. ส่งผลให้พรรครวมพลังได้ ส.ส.เข้าสภาเพียง 5 ที่นั่ง ทั้งที่ลงทุนลงแรงเดินสายขอคะแนนจากชาว กปปส.ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากวงในคนใกล้ชิด ระบุว่า “สุเทพ” ต้องการขับเคลื่อนทำพรรคการเมืองต่อ โดยยึดฐานเดิมด้วยการต่อยอดจาก “พรรครวมพลัง” ที่พอจะมีฐานแฟนคลับอยู่บ้าง โดยปฏิเสธข้อเสนอจากคนใกล้ชิดให้รวมพรรค “ขั้วอนุรักษ์นิยม” ให้เป็นหนึ่งเดียว
โดย “สุเทพ” มีความเชื่อส่วนตัวว่า “แฟนคลับกปปส.” ยังพอมีอยู่ และจะเป็นฐานเสียงขอให้กับพรรครวมพลัง ให้มี ส.ส. เข้าสภา ทว่าคนใกล้ชิดโต้แย้งว่า “แฟนคลับกปปส.” แม้ในเชิงสัญลักษณ์พอมีอยู่ แต่ส่วนใหญ่ศรัทธา “ลุงกำนัน” ในฐานะผู้นำม็อบ ไม่ได้ศรัทธาในฐานะนักการเมือง
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือผลการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ฐานที่มั่นอย่าง จ.สุราษฎร์ธานี มี ส.ส. 6 คน พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กวาดเรียบ ในขณะที่พรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ได้แม้แต่ที่นั่งเดียว เป็นบทสะท้อนให้เห็นว่าความนิยมของ “สุเทพ” แทบไม่หลงเหลืออยู่
ในทางตรงกันข้าม การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อช่วงปลายปี 2563 “กำนันศักดิ์” พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว เอาชนะ “ชุมพล กาญจนะ” ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยคะแนนทิ้งห่างกว่า 1 แสนคะแนน เป็นตัวตอกย้ำว่า “คนถิ่นหอยใหญ่” ไม่ได้เทใจให้พรรคสีฟ้า เพียงแต่ต้องการคู่แข่งที่ไม่ใช่ “สุเทพ”
เช่นเดียวกันกับบรรดา “ขุนพล” คู่ใจของ “สุเทพ” ที่ทยอยตีจาก แม้ความเคารพรักยังเหมือนเดิม แต่ด้วยความจำเป็นทางการเมืองจึงถึงเวลาแยกย้าย โดยเฉพาะ “จุลใสแฟมิลี่” ทั้ง “ลูกช้าง” สุพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรครวมพลัง “ลูกหมี” ชุมพล จุลใส อดีต ส.ส. ชุมพร ต่างยกขบวนไปพรรครวมไทยสร้างชาติยกครัว
รวมถึงเครือข่าย “ระดับท้องถิ่น” ในภาคใต้และภาคกลาง ที่เคยอยู่ในความดูแลของ “สุเทพ” และเคยช่วยงานพรรครวมพลังลงสนามเลือกตั้ง ต่างขยับขยายไปคนละทิศคนละทาง ทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้า บรรดามือไม้ของ “สุเทพ” ที่พอจะหาแต้มการเมืองได้ แทบไม่เหลือในพรรครวมพลัง
มาถึงจุดนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า "พรรครวมพลัง" อ่อนกำลัง อ่อนแรง ในสนามการเลือกตั้งลงไปมาก ท่ามกลางการแข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยเฉพาะพื้นที่หลักอย่างสนามภาคใต้ ที่หลายพรรคใหญ่ ทั้งประชาธิปัตย์ ที่ต้องการกลับมาเป็นเจ้าถิ่น ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ต่างต้องการยึดให้ได้มากที่สุด
ที่สำคัญ กติกาการเลือกตั้งครั้งหน้า จะเป็นระบบบัตรสองใบ เลือกคน-เลือกพรรค การคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ หาร 100 ซึ่งเซียนการเมืองคำนวณกันว่าต้องมีอย่างต่ำ 300,000 คะแนน ถึงจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 เก้าอี้ ทำให้โอกาสของ “สุเทพ-รวมพลัง” อาจวูบลงไปอีก
เพราะขนาดการเลือกตั้งปี 2562 ใช้สูตรบัตรใบเดียว นำทุกคะแนนมาหารเพื่อคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ โดยคะแนน 7 หมื่นกว่าคะแนน ได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง พรรครวมพลังยังได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพียงแค่ 4 ที่นั่ง ฉะนั้น สูตรบัตรเลือกตั้งสองใบ โอกาสที่พรรครวมพลังจะได้ ส.ส. 5 ที่นั่งเท่าเดิม จึงแทบจะปิดประตูตาย
ดังนั้นสภาพปัญหาทั้ง กองกำลังของพรรครวมพลังกำลังสลายตัว และกติกาเลือกตั้งที่ไม่เอื้อกับพรรคเล็ก อีกทั้งจุดยืนของสุเทพ ยังสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”เป็นนายกฯรอบ 3 จึงน่าจับตาว่า สุเทพจะไปต่ออย่างไร เพื่อให้พรรครวมพลังยังอยู่ในสารบบการเมืองครั้งหน้า ซึ่งหมายถึงอนาคตการเมืองของตัวเองด้วย