ดร.ณัฎฐ์ ชี้ กติกาเลือกตั้งใหม่ หาเสียงล่วงหน้า 180 วัน แนะ ยุบสภา ก่อนครบวาระ
“ดร.ณัฎฐ์” ชี้ กติกาเลือกตั้งใหม่ ยกระดับป้องกันทุจริต หาเสียงล่วงหน้า 180 วัน เริ่ม 24 กันยายน แนะ “ยุบสภา”ก่อนครบวาระ ไม่นับเวลา เสี่ยงถูกใบดำหรือโทษทางอาญา และ ไม่ถูกยุบพรรค
วันที่ 21 กันยายน 2565 ตามที่ กกต.ได้ประกาศแจ้งเตือนพรรคการเมือง กรอบเวลาหาเสียงล่วงหน้าตามกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.นับตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2565 เป็นต้นไป ระยะเวลา 180 วัน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 และให้นำค่าใช้จ่ายหาเสียงไปนับรวมในการเลือกตั้งในครั้งถัดไป
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม “ดร.ณัฎฐ์”ปรมาจารย์กฎหมายมหาชน ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่ว่า “กติกาเลือกตั้งใหม่ ตามกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ในการหาเสียงล่วงหน้า มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกำหนดไว้ในข้อกฎหมายอย่างไร และมีข้อห้ามหรือข้อยกเว้นไว้อย่างไรบ้าง”
โดย “ดร.ณัฎฐ์” ได้อธิบายถึงปัญหาข้อกฎหมาย ว่า ในอดีตที่ผ่านมากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.จะกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการและข้อห้ามไว้โดยมีกรอบระยะเวลาเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นต้นไปถึงวันเลือกตั้ง จะเห็นได้จาก การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการทั่วไปในปี 2562 เป็นการใช้บังคับตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้ยกระดับมาตรการปราบโกงอย่างเข้มข้น
จะเห็นได้จาก ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 ที่บัญญัติไว้ในหมวด12 ส่วนที่ 4 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้แก่ 1)กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง 2)เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่ากรณีใดๆ(ใบดำ) และ3)ร่ำรวยผิดปกติหรือทุจริตต่อหน้าที่ โดยเฉพาะบทบัญญัติในมาตรา 235 วรรคสี่ ที่ว่า “ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าในกรณีใด ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดํารงตําแหน่งทางการเมืองใด ๆ” ถือว่า เป็นการประหารชีวิตทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ฉบับปัจจุบัน ได้กำหนดกติกาใหม่ ในเรื่อง กรอบระยะเวลาในการหาเสียงและค่าใช้จ่ายในการหาเสียงล่วงหน้า โดยมีการเขียนซ่อนไว้ ในมาตรา 68,73 ซึ่งมีโทษรุนแรง โดยเฉพาะว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง กระทำฝ่าฝืนในมาตรา 73 อาจโดนใบดำถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต หรือ กรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิด อาจถูกยุบพรรคการเมืองได้ หลักเกณฑ์กรอบระยะเวลานี้ ถือว่า เป็นครั้งแรก เป็นมาตรการยกระดับปราบปราบการทุจริต ที่ให้หน้าที่และอำนาจ กกต.จัดการเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามมาตรา 224 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ดังนั้น หากว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.หรือพรรคการเมือง หากไม่ศึกษาแง่มุมข้อกฎหมายให้ละเอียด จะทำให้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.หรือพรรคการเมืองตายน้ำตื้น ซึ่งโทษร้ายแรง ประหารชีวิตทางการเมือง
รวมทั้งอาจถูกยุบพรรคการเมืองได้ หากพิจารณาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 68 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ให้อำนาจ กกต.กรณีกำหนดหลักเกณฑ์หาเสียงล่วงหน้าไว้ 2 ประการ คือ
ประการแรก เพื่อประโยชน์แห่งความเที่ยงธรรม
ประการที่สอง ความเป็นระเบียบเรียบร้อย
ให้ กกต.กําหนด วิธีการหาเสียงเลือกต้ังให้ผู้สมัครและพรรคการเมือง ต้องปฏิบัติ วิธีการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว ให้มีผลภายในกําหนดเวลา ดังต่อไปนี้ (1)ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรให้กระทําได้ตั้งแต่หนึ่งร้อยแปดสิบวันก่อนวันครบอายุจนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง (2) ในกรณีที่เป็นการเลือกต้ังท่ัวไป อันเนื่องมาจากการยุบสภา หรือการเลือกต้ังแทนตําแหน่งท่ีว่าง ให้กระทําได้ ตั้งแต่วันที่ยุบสภาหรือวันที่ตําแหน่งว่างลง แล้วแต่กรณีจนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง(3) ในกรณีมีการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ให้กระทําได้ตั้งแต่วันที่มีคําสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง(4) ในกรณีมีการสั่งให้มีการออกเสียงลงคะแนนใหม่ ผู้ใดจะหาเสียงเลือกต้ังมิได้ เว้นแต่ คณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่นโดยคํานึงถึงความสุจริตและเที่ยงธรรม
หลักเกณฑ์ข้างต้น กฎหมายกำหนดให้ กกต. กำหนดวิธีการหาเสียงล่วงหน้า เกี่ยวข้องกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารปัจจุบันในโค้งสุดท้ายก่อนครบวาระอายุสภาครบในวันที่ 24 มีนาคม 2566 คือ กรณีรัฐบาลอยู่ครบวาระหรือรัฐบาลยุบสภาคืนอำนาจให้แก่ประชาชน เลือกตั้งใหม่ ซึ่งมีผลทางกฎหมายและการนับระยะเวลาแตกต่างกัน แยกเป็น 2 กรณี ดังนี้
1)ประการแรก กรณีรัฐบาลอยู่ครบวาระ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 102 “เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฏรสิ้นอายุ” เงื่อนไขจะต้องปฎิบัติตาม พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 68(1) กรอบระยะเวลาหาเสียงล่วงหน้าภายใน 180 วันนับแต่วันที่ 24 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2566 ตามกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ให้นับเพียงเท่านี้ แต่ท่านต้องนับระยะเวลาที่ให้ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งภายใน 45 วันตามรัฐธรรมนูญด้วย ถอดรหัสคณิตศาสตร์ทางการเมือง คือ (180 วัน + 45 วัน รวม 225 วัน)
2) ประการที่สอง กรณียุบสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 103 วรรคท้าย ภายในห้าวันนับแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฏรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการทั่วไป ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ กรณีรัฐบาลชิงความได้เปรียบยุบสภา ยุบสภาวันไหน กฎหมายให้นับวันนั้น(วันยุบสภา) เป็นข้อยกเว้นประการแรก ตาม พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 68(2) การนับระยะเวลาในการหาเสียงล่วงหน้าไม่นับช่วงเวลา 180 วัน แต่ให้จำไว้ว่า “ยุบสภาวันใด ให้นับเกณฑ์การหาเสียงในวันนั้น”หากถอดรหัสคณิตศาสตร์ทางการเมือง ได้แก่ ยุบสภาวันใด ให้นับวันนั้น+ 5 วันนับแต่วันที่มีพระกฤษฎีกา+ระยะเวลากำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน ไม่เกิน 60 วัน
ผลทางกฎหมาย กรณีรัฐบาลอยู่ครบวาระ
1)ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงล่วงหน้า กรอบระยะเวลา 180 วัน +45 วัน จะต้องนำค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการหาเสียงตามระยะเวลาดังกล่าวไปแจกแจงต่อ กกต.
2)มาตรา 68 กำหนดให้ กกต.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หาเสียงล่วงหน้า กรอบระยะเวลา 180 วัน ซึ่งในมาตรา 73 ได้บัญญัติข้อห้ามไว้ กรณีฝ่าฝืนมีโทษทางอาญา รวมทั้ง กกต.อาจให้ใบแดง การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่ากรณีใดๆ(ใบดำ) อาจถูกประหารชีวิตทางการเมืองได้ หากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดตามมาตรา 73 อาจถูกยุบพรรคการเมืองตาม พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ได้
หากพิจารณาถึงกติกาในการเลือกตั้งใหม่ และข้อห้ามต่างๆ เกณฑ์ในการคำนวณค่าใช้จ่าย และบทลงโทษร้ายแรง จะเป็น กับดัก หลุมพราง ที่ทุกพรรคการเมืองจะต้องประสบพบเจอ ดังนั้น การดึงเกมไปจนครบวาระ มีทั้งข้อดี ข้อเสีย หากพิจารณามุมมองในประเด็นกติกาใหม่ ฝ่ายรัฐบาลอาจเพลี่ยงพล้ำ ยกตัวอย่างเช่น การแจกสิ่งของช่วยเหลือประชาชน อาจเข้าข่ายซื้อเสียงล่วงหน้า เป็นข้อห้าม ตามมาตรา 73 ช่องทางแก้โดยวิธีเทคนิค คือ “ยุบสภา” จะเป็นข้อยกเว้นระยะเวลา 180 วัน ซึ่งมาตรา 68 (2) ยุบสภาวันไหน ให้ถือวันยุบสภาเป็นเกณฑ์กำหนดหาเสียงนับหนึ่งแต่วันนั้น นี่คือ “เทคนิคทางกฎหมาย” และ”ช่องว่างกฎหมาย” ผลทางกฎหมาย คือ ชิงความได้เปรียบในสนามการเมือง ทำให้คู่แข่งหยิบประเด็นข้อห้าม การคำนวณค่าใช้จ่ายในการหาเสียงมาคิดคำนวณรวมมากลั่นแกล้งร้องเรียนไม่ได้ เพราะระยะเวลา 180 วันสิ้นผลไป เรียกว่า สับขาหลอกทางการเมือง
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลักเกณฑ์วิธีการหาเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า ตามกติกาใหม่ ให้อำนาจ กกต. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการหาเสียง ควรกำหนดอย่างไร “ดร.ณัฎฐ์” กล่าวว่า กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ได้กำหนดให้ กกต.กําหนดวิธีการหาเสียงเลือกต้ังให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องปฏิบัติ ขณะนี้ยังไม่ประกาศระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงตามมาตรา 68 ออกมาบังคับใช้ ดังนั้น หากออกระเบียบ ควรกำหนดแนวทาง วิธีการหาเสียงเลือกตั้งให้ความเป็นธรรมแก่ทุกพรรคการเมือง ต้องมีความชัดเจน แน่นอนในทางปฎิบัติได้ หากเคลือบคลุม สงสัย จะทำให้เกิดการตีความเข้าข้างตนเอง โดยวิธีการหาเสียงโดยเฉพาะในยุคโซเชี่ยลมีเดีย การหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ เฟสบุ๊ค หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในมาตรา 70 หรือช่องทางวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ ตาม พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 69 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง จะต้องชัดเจนว่า มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการหาเสียงอย่างไร คิดคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างไร เพื่อป้องกันข้อร้องเรียน และให้เกิดความเป็นธรรม มาตรฐานเดียวกันทุกฝ่าย ไม่ใช่ว่าฝ่ายรัฐบาลทำได้ แต่ฝ่ายค้านทำไม่ได้ หรือ ส.ส.ทำได้ แต่ว่าที่ผู้เสนอตัวเป็นผู้สมัคร แข่งขันทำไม่ได้ เพราะอย่าลืมว่า เจตนารมณ์ของพรรคการเมืองให้ประชาชนจ่ายเงินค่าบำรุงพรรค เป็นพรรคการเมืองของประชาชน ควรที่จะให้ทุกพรรคการเมืองมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ว่า พรรคขนาดใหญ่ทำได้ พรรคขนาดเล็กหรือพรรคที่จัดตั้งใหม่ ทำไม่ได้ เพราะความเหลื่อมล้ำของทุนทางการเมือง ตรงนี้ ต้องมีความเท่าเทียมกัน ส่วนข้อห้ามในการหาเสียงล่วงหน้า ควรเขียนให้ชัดว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เงื่อนไขตามมาตรา 73 ข้อห้ามต่างๆ มาใช้ในการหาเสียงล่วงหน้าตามกรอบระยะเวลา 180 วันด้วยหรือไม่ อย่างไร เพราะเกณฑ์ข้อห้ามกับการนำค่าใช้จ่ายมาคิดคำนวณ จะต้องเป็นกรณีการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่การฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายแล้วนำมาบวกคำนวณเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งขัดแย้งกัน เพื่อป้องกันข้อสับสนว่า สิ่งไหนเป็นข้อห้าม หรือไม่ห้าม ป้องกันข้อร้องเรียนและการเอาเปรียบระหว่างพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่ เบี่ยงเบนมาตรฐาน ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 73 ได้บัญญัติ “ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนน ไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
(1) จัดทํา ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคํานวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
(2) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือ โดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด
(3) ทําการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ
(4) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
(5) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
ดังนั้น เงื่อนไขบังคับก่อน เขียนซ่อนไว้ เป็น”กับดัก””หลุมพราง” ไว้ในกติกากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ฉบับใหม่ เห็นว่า ส.ส.หรือผู้สมัคร ส.ส.และพรรคการเมือง ที่ทำพื้นที่ทางการเมืองเพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้า ต้องศึกษาหลักเกณฑ์ วิธีการ หาเสียงล่วงหน้าของ กกต.ที่จะออกระเบียบ กกต.มาบังคับใช้ ตามมาตรา 68 แห่ง พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ละเอียด รอบคอบ มิฉะนั้น ผลของกติกาเลือกตั้ง ส.ส.ฉบับใหม่ อาจถูกใบดำหรือพรรคการเมืองอาจถูกยุบพรรคได้ นี่คือ ผลผลิตยกระดับปราบโกง ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กติกาใหม่ตามกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.