เช็คลิสต์ “พรรคเล็ก” แตก 4 สาย โหนกระแส หวังกระสุน พรรคใหญ่
ศึกเลือกตั้งเที่ยวหน้า ในอีกไม่กี่เดือน ซึ่งมาพร้อมกับ "กติกาเลือกตั้ง" ที่เปลี่ยนไป-ไม่เข้าทาง ทำให้ พรรคการเมืองปรับยุทธศาสตร์สู้ศึก ขณะที่พรรคเล็ก ท่ีอยากหนีตาย-เอาตัวรอด ต้องสลัดคราบเก่าทิ้ง
ช่วงปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรประมาณเดือนครึ่ง ถือเป็นช่วงที่ “ส.ส.ปัจจุบัน” และ "ผู้ท้าชิงตำแหน่ง” เร่งทำคะแนน ลงพื้นที่แสดงตัวตน โชว์ผลงานให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เห็น และฝากฝังให้เลือกตนเองในการเลือกตั้งสมัยหน้า
ที่คาดว่าไม่เกินเดือนมีนาคม 2566 หรืออาจเร็วกว่านั้น 1-2 เดือน
ความเคลื่อนไหวของทุกพรรค ได้กำหนดยุทธศาสตร์บนเงื่อนไขกติกาเลือกตั้งที่ปรับใหม่ ให้เป็น “บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ - หาร 100 ” มี ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน
แน่นอนว่า ความเป็นพรรคใหญ่ ย่อมได้เปรียบ ทั้งในแง่ “ส.ส.ถิ่น” และ “ชื่อเสียงของพรรค”
ขณะที่ “กลุ่มพรรคเล็ก” ไม่เป็นเช่นนั้น แม้ได้ชื่อว่า มีส.ส.ในสภาฯ แต่ถูกปรามาสว่า เป็น “ส.ส.ปัดเศษ” ดังนั้นเมื่อกติกาเลือกตั้งครั้งหน้าเปลี่ยน “ไม่เข้าทาง” ทำให้ต้องหาทางไปต่อ หวังมีที่นั่งในสภา สมัยหน้า
ล่าสุด “กลุ่ม 16” ที่มี “พิเชษฐ สถิรชวาล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พลังประชารัฐ เป็นแกนนำ หลังจากวงแตก เวลานี้จึงแยกตัวไปตามยุทธศาสตร์การเมือง โดยจำแนกได้เป็น 4 กลุ่ม
กลุ่มแรก ย้ายสังกัดไป “พลังประชารัฐ” ประกอบด้วย พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.และหัวหน้าพรรคไทรักธรรม และ ดำรงค์ พิเดช ส.ส.และผู้ก่อตั้งพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย
ความชัดเจนในกลุ่มนี้ คือ “พิเชษฐ-พีระวิทย์-ดำรงค์” จับมือกันเพื่อทำพื้นที่ภาคกลาง อาทิ สระบุรี อยุธยา ลพบุรี นนทบุรี เพชรบุรี ให้กับพรรคพลังประชารัฐ โดย “พีระวิทย์” จะลงชิงเก้าอี้ ส.ส.สระบุรี โดยผนึกกำลังกับ “กัลยา รุ่งวิจิตรชัย เขต 1- สมบัติ อำนาคะ เขต 2” เพื่อยึดพื้นที่ให้ครบทั้ง 3 เขต
ส่วน “ดำรงค์” นั้น แม้จะตัดสินใจย้ายใจมาพลังประชารัฐแล้ว แต่ยังลังเลว่า เลือกตั้งหน้าจะลงสนามหรือไม่ เพราะถึงจุดอิ่มตัว
กลุ่มสอง ย้ายสังกัดไป “ภูมิใจไทย” ได้แก่ นันทนา สงฆ์ประชา พรรคประชาภิวัฒน์ ซึ่งจับทิศทางได้จากการอภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.... ที่พรรคภูมิใจไทยเสนอ และในหลายโอกาส ที่เห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกับภูมิใจไทย
แม้ก่อนหน้านี้ “นันทนา” พร้อมทั้งพี่ชาย มณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท พลังประชารัฐ จะไปเปิดตัวในงานวันเกิด “ประภัตร โพธสุธน” เลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา แต่ไปในฐานะ “คนคุ้นเคย” ไม่มีการเจรจาไปร่วมสังกัดทางการเมือง
กลุ่มสาม ย้ายสังกัดไป "เพื่อไทย” ได้แก่ ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ ส.ส.พรรคพลเมืองไทย ที่บิดาอย่าง “เสี่ยติ่ง” สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ หัวหน้าพรรคพลเมืองไทย ต่อสายถึงแกนนำเพื่อไทย และเจรจากันลุล่วง 80% แล้ว ยังเหลือเรื่องพื้นที่
เพราะ “เสี่ยติ่ง” ต้องการดันลูกสาวลงเขต กทม.ในพื้นที่ที่เคยเป็นผู้แทนเมื่อปี 2548 คือ “เขตคลองสาน เขตธนบุรี (เฉพาะแขวงวัดกัลยาณ์ และแขวงหิรัญรูจี) แต่ “เพื่อไทย”วางตัวผู้สมัครไว้แล้ว ขณะที่ “เสี่ยติ่ง” เอง ประสงค์จะลงส.ส.บัญชีรายชื่อ
ทว่าในความชัดเจนแบบ 100% “เสี่ยติ่ง” ยังรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ครบ 8 ปีหรือไม่
และ กลุ่ม 4 ยืนยันทำพรรคการเมืองเดิมต่อ ประกอบด้วย พรรคประชาธิปไตยใหม่ ของ “สุรทิน พิจารณ์” พรรคพลังชาติไทย ซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น พรรครวมแผ่นดิน ซึ่งมี พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค
กลุ่มนี้ ประเมินตัวเองแล้วมองว่า แม้กระแสสู้พรรคใหญ่ไม่ได้ แต่ "พลังมวลชน” ยังอยู่ในระดับที่สามารถแปลงเป็นคะแนน เพื่อส่งผู้แทนเข้าสภาฯ ได้
โดย “สุรทิน” ผู้ที่ยืนยันทำพรรคการเมืองต่อ บอกว่า กติกาเลือกตั้งที่เปลี่ยน ทำให้พรรคเล็กยากที่จะเติบโตได้ เพราะคะแนนที่จะส่ง ส.ส.เข้าสภาฯ ต้องได้ 3.7 แสนคะแนนต่อ ส.ส. 1 คน ดังนั้นหากฐานมวลชนไม่ถึง หรือไม่มีกระแส ยากที่จะกลับเข้าสภาฯ แต่พรรคประชาธิปไตยใหม่ยืนยันจะเดินหน้า พร้อมส่ง ส.ส. 250 เขต และบัญชีรายชื่อ 100 คน เพราะมั่นใจในฐานมวลชนในกลุ่มม็อบหนี้สิน ม็อบป่าไม้ ม็อบเขื่อน องค์กรภาคประชาชน กลุ่มครู และกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่
ขณะที่ “คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล" ส.ส.และหัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย เบื้องต้นยังไม่ได้ตัดสินใจชัดเจนว่าจะเดินหน้าต่อหรือย้ายพรรค เพราะใจหนึ่ง ยังมองฐานมวลชน คนอำนาจเจริญเป็นที่มั่น แต่หากลุยทำเองอาจเหนื่อยหนัก เพราะใช้ต้นทุนสูง สู้กับกระแส "เพื่อไทย” ดีไม่ดีจะเปลืองแรงฟรี
ทิศทางของ "ส.ส.พรรคเล็ก”ในศึกเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ใช่แค่การวัดผลงาน คะแนนนิยมของตัวเองเท่านั้น แต่คือการเดิมพันตำแหน่ง ส.ส.
ดังนั้นการสลัดคราบพรรคเล็กไปพึ่งบารมีพรรคใหญ่ จึงเป็นหนทางที่อาจพอให้ตัวเองรอด โดยเฉพาะการย้ายเข้าพรรคใหญ่ ที่กระแสไม่แรงสุด แต่กระสุนเพียบ.