เปิดร่าง “กฎหมาย ป.ป.ช.ใหม่” เพิ่มอำนาจ “ดักฟัง-สะกดรอย-แฝงตัว” ป้องปรามโกง
เปิดสาระสำคัญ “ร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับใหม่” เพิ่มอำนาจ “ดักฟัง-สะกดรอย-แฝงตัว” ล้วงข้อมูล-หลักฐานต่าง ๆ นำมาใช้ไต่สวน หากสามารถรับฟังได้ ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบ
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือ “พ.ร.ป.ป.ป.ช.” กับหน่วยงานที่เกี่ยวของ 35 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงาน ก.พ. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกระทรวงต่าง ๆ โดยมีนายสุรพงษ์ อินทรถาวร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งได้รับมอบหมายจากเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน
ทั้งนี้ ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบได้มอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบกิจกรรมการปฏิรูปประเทศที่ส่งผลต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ กิจกรรมที่ ๒ การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ กิจกรรมที่ ๓ การพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติในการดำเนินคดีทุจริตทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และกิจกรรมที่ 4 การพัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใสไร้ผลประโยชน์รวมทั้งมีข้อเสนอในการมีหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปฏิรูปแต่ละด้าน และคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2565 ได้กำหนดให้มีการทบทวนและปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทันต่อสภาวการณ์ของปัญหาการทุจริตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาตรา 13 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลาง โดยจะใช้วิธีการอย่างหนึ่งหรือหลายวิธีด้วยก็ได้
ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จึงได้จัด “ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง นำมาวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้พัฒนากฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่อไป
สำหรับร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ เผยแพร่บันทึกหลักการและเหตุผล ระบุว่า โดยที่กลไกการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการ ความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กลไกและมาตรการติดตามทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศ และต่างประเทศคืน
การวินิจฉัยชี้มูลความผิดเพื่อลงโทษผู้ถูกกล่าวหายังขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้ การมอบหมายเรื่องให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษรับไปดำเนินการแทน การเฝ้าระวังการกระทำความผิดเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และประเภทของรายได้ และทรัพย์สินของสำนักงาน ป.ป.ช. ยังขาดความชัดเจน
ตลอดจนมีความจำเป็นต้องเพิ่มกลไกและประสิทธิภาพในการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องกล่าวหา การงดชี้มูลความผิดหรือชะลอการฟ้องคดีแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ป่วยหนักหรือวิกลจริต การอุทธรณ์หรือการฎีกาคำพิพากษาของศาลในคดีอาญา ละการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา ในกรณีที่ศาลอาญาประทับฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
อีกทั้งมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินคดีกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เกิดความชัดเจนภายใต้การคุ้มครองสิทธิของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งฟ้องคดี หรือประวิงการไต่สวน และปรับปรุงกลไกเรื่องความรับผิดของเจ้าพนักงานของรัฐ กรณีรู้เห็นยินยอมในการดำเนินกิจการซึ่งต้องห้าม ตามมาตรา 126 ของคู่สมรสของเจ้าพนักงานของรัฐ ภายใต้การคุ้มครองสิทธิของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อสภาวการณ์ของปัญหาการทุจริตที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ป.นี้
โดยสาระสำคัญของหลักการร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับนี้ มีการเพิ่มหน้าที่และอำนาจในการติดตามความคืบหน้า มาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ ตามมาตรา 32 ตลอดถึงการประชุมหารือร่วมเพื่อทบทวนมติหรือมีมติเพิ่มเติม กรณีมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีปัญหาและอุปสรรคไม่อาจดำเนินการ โดยเพิ่มมาตรา 32/1
เพิ่มกลไกและมาตรการติดตามทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำผิดคืนทั้งที่อยู่ในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อนำทรัพย์สินนั้นกลับมาเป็นของแผ่นดิน และลดช่องทางการทุจริต โดยยกเลิกมาตรา (5) ของมาตรา 34 และเพิ่มมาตรา 34/1
รวมถึงเพิ่มกลไกลและมาตรการในการดักฟัง การเข้าถึงข้อมูล การแฝงตัว และการสะกดรอย เพื่อการอนุวัติตามอนุสัญญา UNCAC ข้อบทที่ 50 และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการดำเนินคดีทุจริต สามารถทำการตรวจสอบไต่สวนโดยวิธีพิเศษ โดยเพิ่มมาตรา 34/2, 34/3, 34/4, 34/5
โดยในมาตรา 34 นี้ มีการเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นขอต่อศาล เพื่อขอข้อมูลที่ส่งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิด รวมถึงการสะกดรอยหรือการได้มาซึ่งข้อมูลหรือพยานหลักฐานในการกระทำผิด โดยหากข้อมูลดังกล่าวรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้นั้น ให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบ
นอกจากนี้ยังให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายบุคคลใด จัดทำเอกสารหรือหลักฐานใด หรือเข้าไปแฝงตัวในองค์กรหรือกลุ่มคนใด หรือปฏิบัติการอำพราง เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ สืบสวนสอบสวน ไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้น โดยให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย