จาก 7 พรรคสู่ “ชาติพัฒนากล้า” “2 หัวหน้า” สลัดแบรนด์ท้องถิ่น
"ชาติพัฒนา" รีแบรนด์เป็น "ชาติพัฒนากล้า" ผนึกกำลัง "สุวัจน์-กรณ์" เพื่อหวังอัพไซส์ ต่อยอดความสำเร็จ ยุค "น้าชาติ" และแก้โจทย์การเลือกตั้งที่กติกาเปลี่ยน
แม้ไม่ใช่เรื่องที่เกินคาดหมาย เมื่อ “พรรคชาติพัฒนา” รีแบรนด์ตัวเอง พร้อมปรับโครงสร้าง โดยเริ่มจากเปิดทางให้ “กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี เข้ามานั่งประธานยุทธศาสตร์ ด้านเศรษฐกิจ
ล่าสุด ที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคชาติพัฒนา เมื่อ 26 กันยายน 2565 ลงมติเลือก “กรณ์ จาติกวนิช” อดีต รมว.คลัง ที่ลาออกจากหัวหน้าพรรคกล้า เข้ามานั่ง “กรรมการบริหารพรรค” เพื่อร่วมขับเคลื่อนงาน ด้านยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ และมีบทบาทในการคัดเลือกตัวผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค
ก่อนหน้านี้ในการเปิดดีล ต้นเดือนกันยายน “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" ประธานพรรคชาติพัฒนา กับ “กรณ์” พูดไว้ชัดว่า จะผนึกขุมกำลังระหว่าง “มือการเมือง”จากพรรคชาติพัฒนา กับ “มือเศรษฐกิจ”จากพรรคกล้าเข้าด้วยกัน และพร้อมจะรีแบรนด์ ปรับโครงสร้าง เพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ภาพจำดั้งเดิมของ “ชาติพัฒนา” บนเส้นทาง 30 ปี และมีฐานที่มั่นการเมืองสำคัญใน จ.นครราชสีมา แทบจะกลายเป็นพรรคของคนโคราช โดยโหนกระแส “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มาทุกยุคของการหาเสียงเลือกตั้ง
จึงอาจไม่ง่าย และเป็นโจทย์ท้าทาย ในการเปลี่ยนแปลงจากพรรคจังหวัด พรรคท้องถิ่น กลับไปยังจุดเดิมที่เคยเริ่มต้นด้วย ส.ส.เกินครึ่งร้อย ขณะเดียวกัน ก็ยังต้องรักษาฐานที่มั่นโคราชไว้ให้ได้
"พรรคชาติพัฒนาต่างจากพรรคอื่นที่มีต้นกำเนิด หรือบ้าน คือโคราช ดังนั้นจึงเป็นพรรคที่คนโคราชรัก ผูกพัน ในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหนึ่ง โคราชมี 16 เขต ชูคำขวัญว่า เอานายกฯ ของเราคืนมา นายกฯ คนโคราช ทำให้พรรคชาติพัฒนายุคนั้น ได้มา 15 เขตจากทั้งหมด 16 เขต ดังนั้นพรรคชาติพัฒนาพร้อมจะรักษาประวัติศาสตร์” สุวัจน์ ฉายภาพความสำเร็จในอดีต
ในเวทีประชุมใหญ่วิสามัญพรรคชาติพัฒนา ครั้งที่ 1/2565 ครั้งล่าสุด 26 กันยายน วาระ เรื่องปรับปรุงภาพลักษณ์ "เปลี่ยนชื่อพรรค" ถูกหยิบยกมาพิจารณา โดยหัวเรือใหญ่ “สุวัจน์” เป็นผู้ดำเนินการประชุมด้วยตัวเอง
โดยสอบถามความเห็นสมาชิกที่ร่วมประชุม ถึงการรีแบรนด์ โลโก้ ชื่อพรรค สโลแกน ก่อนจะสรุปความ พร้อมยกประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่ของพรรคชาติพัฒนา ที่มีจุดเริ่มเมื่อ 30 ปีที่แล้ว
“ในประวัติศาสตร์ทางการเมือง พล.อ.ชาติชาย ไม่ได้ตั้งพรรคขึ้นมา แต่เปลี่ยนจากพรรคปวงชนชาวไทย เมื่อปี 2535 ซึ่งในช่วงทำพรรค น้าชาติคิดถึงคนโคราช อยากทำเศรษฐกิจไทยยิ่งใหญ่รุ่งเรือง สร้างให้เป็นยุคทอง มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า วันนั้นน้าชาติเรียกผม กับคุณกร ทัพพะรังสี เข้าไปพบที่บ้านราชครู บอกว่าจะทำพรรค เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจ ประเทศชาติ เพื่อคนโคราช จึงชวนให้ไปร่วมมือ”
ความสำเร็จในยุคเริ่มต้น "ชาติพัฒนา" ภายใต้แบรนด์น้าชาติ มีเวลาหาเสียง 60 วัน ก็ได้ ส.ส.เข้าสภา เกือบ 60 คน
ทำให้ “สุวัจน์” มีความฝัน ความหวังในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ อยากเห็นภาพความยิ่งใหญ่กลับมาอีกครั้ง
จากนี้ไป เป้าหมายและยุทธศาสตร์ชาติพัฒนา+กล้า ที่ผนึกกัน จะขยับเข้าสู่พื้นที่เมืองหลวง และขยายออกไปยังพื้นที่ภูมิภาคอื่น
โดยสุวัจน์ ได้หยิบยกคำพูดอดีตผู้นำ “น้าชาติ พูดเสมอว่า ต้องการทำพรรคให้เป็นของคนทั้งประเทศ แม้พรรคชาติพัฒนาจะเกิดที่โคราช แต่ต้องเป็นของคนทั้งประเทศ มีส.ส.ทุกภาค โดยเฉพาะในกทม. ที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ ดังนั้น พรรคชาติพัฒนาต้องรีแบรนด์ตามสถานการณ์การเมือง เพื่อเตรียมสู่การเลือกตั้ง"
สุวัจน์ ยอมรับว่า "ชื่อพรรคชาติพัฒนา“ ก็เป็นประเด็นหนึ่ง ที่ทำให้คนลงคะแนนสับสน โดยเฉพาะกับ ”พรรคชาติไทยพัฒนา” ของ “ตระกูลศิลปอาชา”
ในที่สุด ความเห็นจากสมาชิกก็สนับสนุนการเปลี่ยนชื่อพรรคพร้อมเพรียง
ก่อนหน้านี้ การผสมชื่อระหว่างพรรค กลายเป็นปัญหาที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างแกนนำ 2 ฝ่าย ว่าจะใช้ชื่อพรรคใดไว้ก่อนหลัง แต่ในที่สุดก็ต้องมาจบลงที่หน้างาน
สำหรับชื่อพรรคใหม่ มีผู้เสนอหลากหลาย ทั้ง "ชาติพัฒนากล้า" เหตุผล เพื่อสะท้อนถึงมิติใหม่ของพรรค มีคนสองรุ่นร่วมทำงาน "ชาติพัฒนาเศรษฐกิจ" เหตุผลคือ เพื่อเสริมอาวุธพรรค ชูจุดเด่นแก้ปัญหาปากท้อง "กล้าพัฒนาชาติ”, "กล้าชาติพัฒนา”, "ชาติพัฒนาไทย" เหตุผลคือ เพื่อคนไทยทั้งประเทศ, "ชาติกล้า” เป็นต้น ก่อนได้ผสสรุป เป็นชื่อ “ชาติพัฒนากล้า”
ทว่า เบื้องหลังของการเปลี่ยนชื่อพรรคครั้งนี้ มีความเห็นที่ แกนนำชาติพัฒนา และแกนนำกล้า เห็นต่าง ไม่ลงรอยอยู่ระยะหนึ่ง เพราะต้องการชูจุดเด่นของ “ชื่อ” ให้คนจดจำได้ง่าย
แต่ “ชาติพัฒนา”พยายามเคลมความเป็นพรรคเก่าแก่ ต้องคงประวัติศาสตร์การเมืองนี้ไว้ สำคัญคือ ต้องการให้มีความเชื่อมโยงชื่อ “พล.อ.ชาติชาย” และผลงานในอดีต ที่เชื่อว่ายัง “ขายได้” ในพื้นที่โคราช
แม้แกนนำจากกลุ่มกล้า จะรู้สึกไม่ค่อยสู้ดี กับชื่อผสมที่ออกมา เพราะถูกมัดมือชก แต่ที่สุดก็ต้องยอมจำนน เพราะเป็นขั้นตอนที่ผ่านจากที่ประชุมพรรค ต้องทำใจให้ได้ เพราะต้องมุ่งไปยังศึกเลือกตั้ง คืองานใหญ่ที่สำคัญกว่า ไม่อยากเริ่มต้นด้วยความขัดแย้ง
กว่าจะมาเป็น “พรรคชาติพัฒนากล้า” ก็ผ่านการเปลี่ยนชื่อพรรคมาแล้วรวม 7 ครั้ง
เริ่มต้นจาก “พรรคปวงชนชาวไทย” มาเป็น “พรรคชาติพัฒนา” เมื่อปี 2535 จากนั้นในปี 2547 พรรคชาติพัฒนา ที่มี “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” เป็นหัวหน้าพรรค ได้ยุบรวมกับ “พรรคไทยรักไทย” ตามมติของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เมื่อ 21 กันยายน 2547
จึงมีความพยายามก่อตั้งและสร้างแบรนด์พรรคชาติพัฒนาขึ้นมาใหม่ ในปีเดียวกัน แต่ติดเงื่อนไขทางกฎหมาย ทำให้สมาชิกพรรคชาติพัฒนาเดิม ต้องรวมกับ “กลุ่มรวมใจไทย” สร้างแบรนด์ใหม่ คือ “พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา”
ต่อมาในปี 2553 พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ที่มี “นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล” เป็นหัวหน้าพรรค ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ให้สั้นลง เป็น “รวมชาติพัฒนา”
ในปีถัดมา 2554 พรรครวมชาติพัฒนา ต้องเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเมื่อ นักการเมืองจากพรรคเพื่อแผ่นดินย้ายมารวมกัน เป็น “พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน” เมื่อ 9 เมษายน 2554 แต่ยังไม่ทันข้ามปี 18 กันยายน 2554 พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ก็เปลี่ยนชื่อคืนกลับมาใช้ “ชาติพัฒนา”
ปัจจุบัน 26 กันยายน 2565 พรรคชาติพัฒนา ภายใต้การนำ “เทวัญ ลิปตพัลล” ได้เปลี่ยนชื่อพรรคอีกครั้ง เป็น “ชาติพัฒนากล้า”
รวมเวลา 30 ปี พรรคชาติพัฒนา ผ่านการเปลี่ยนชื่อมาแล้ว 7 ครั้ง และช็อตต่อไปคือการเปลี่ยนตัว “หัวหน้าพรรค”คนใหม่ชื่อ “กรณ์ จาติกวนิช” โดยคาดว่า “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ยังคงทำหน้าที่ "หัวหน้าเงา”เหมือนทุกยุคที่ผ่านมา.