"ธนาธร" ยกเคสผูกขาดน้ำมันในสหรัฐฯ เทียบปมควบ "ทรู-ดีแทค" รัฐมีอำนาจแทรกแซง
"ธนาธร" บรรยายนักศึกษาหลักสูตรอินเตอร์ กฎหมายธุรกิจ มธ. ยกเคส “แสตนดาร์ด ออยล์” สหรัฐฯ ช่วงทศวรรษ 1900 ผูกขาดตลาดน้ำมัน จนผู้บริโภคได้รับผลกระทบ สุดท้ายรัฐบังคับแยกกิจการ เทียบปมควบรวม "ทรู-ดีแทค" ชี้รัฐมีความชอบธรรม-อำนาจสลายผูกขาดได้ หากกระทบประชาชน
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้รับเชิญให้มาบรรยายพิเศษ แก่นักศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต สาขากฎหมายธุรกิจ (International LL.B. Program in Business Law) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวิชา TU101 โดยได้บรรยายเกี่ยวกับพัฒนาการของทุนนิยมในประเทศไทย และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและกลุ่มทุน ที่นำไปสู่การครอบครองความมั่งคั่งของกลุ่มทุนผูกขาด และความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย
ในช่วงหนึ่งของการบรรยาย นายธนาธรได้ตั้งคำถามถึงสถานการณ์สมมุติ ว่าหากมีตลาดสินค้าตลาดหนึ่ง ที่มีผู้เล่นสามรายใหญ่ โดยรายแรกครองตลาดอยู่กว่า 44.4% รายที่สองถือครองตลาดอยู่ 32.8% รายที่สามถือครองอยู่ 20.2% และที่เหลืออีกราว 4-5 รายถือครองตลาดอยู่เพียง 2% ซึ่งรายที่สองและที่สามกำลังจะควบรวมกิจการกัน นักศึกษาเห็นว่าเป็นการควบรวมที่จะนำไปสู่การผูกขาดทางการค้าหรือไม่ ก่อนที่จะเฉลยว่านี่คือกรณีที่กำลังจะเกิดขึ้นจริง กับกรณีของการควบรวมของทรู-ดีแทค ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในสังคมเวลานี้
ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า เรื่องของการควบรวมกิจการ (merger) และการต่อต้านการผูกขาดทางการค้า (anti-trust) คือหนึ่งในประเด็นที่นักเรียนกฎหมายธุรกิจทุกคนจะต้องได้เรียน แต่สิ่งที่ทุกคนควรต้องรู้ไปพร้อมกันก็คือเรื่องของเศรษฐศาสตร์ และต้องเข้าใจว่าในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ ขณะที่รัฐอนุญาตให้เอกชนสามารถแสวงหากำไรสูงสุดและความร่ำรวยได้ แต่ก็มีวิธีคิดปกป้องผู้บริโภคเช่นกัน พร้อมกับการบัญญัติให้การผูกขาดทางการค้าเป็นเรื่องที่มีความผิดทางกฎหมาย
"อย่างเช่นในช่วงทศวรรษที่ 1900 ช่วงเวลาที่ บริษัท แสตนดาร์ดออยล์ ของ จอห์น ดี ร็อคกี้เฟลเลอร์ เป็นผู้ผูกขาดตลาดน้ำมันทั้งหมด เป็นยุคที่ราคาน้ำมันขึ้นแพงมากจนเกิดเสียงเรียกร้องจากประชาชน และนำไปสู่การที่รัฐบาลสหรัฐฯ ฟ้องศาลให้บังคับ บริษัท แสตนดาร์ดออยล์ ขายกิจการบางส่วนของตัวเองออกมาเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอีกต่อไป ซึ่งในที่สุดศาลก็ได้มีคำสั่งไปในทิศทางดังกล่าว และเกิดการแยกตัวออกมาเป็น 7 บริษัท และต่อมาได้กลายมาเป็น 4 บริษัทน้ำมันใหญ่ของโลกในเวลาต่อมา" ประธานคณะก้าวหน้า กล่าว
นายธนาธร กล่าวด้วยว่า นี่คือตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าแม้แต่ในประเทศที่เป็นทุนนิยมสุดขั้วอย่างสหรัฐอเมริกา หากการผูกขาดทางการค้าดำเนินไปจนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค รัฐบาลก็จะใช้อำนาจรัฐเข้าไปแทรกแซงเพื่อบังคับให้สลายการผูกขาดได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในระบบทุนนิยม และเป็นความชอบธรรมของรัฐบาลและหน่วยงานที่ป้องกันการผูกขาดทางการค้า ที่จะปกป้องผู้บริโภคในกรณีที่กำลังจะเกิดการผูกขาดขึ้น
“กรณีของแสตนดาร์ดออยล์เกิดขึ้นได้เมื่อประชาสังคมและรัฐมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน จนบีบบังคับให้ผู้เล่นในตลาดต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของสังคม ถ้าวันนั้นรัฐบาลสหรัฐไม่ฟ้องร็อคกี้เฟลเลอร์จนเกิดการแยกตัวออกมา การผูกขาดน้ำมันก็อาจจะยังอยู่ในมือของแสตนดาร์ดออยล์มาจนถึงทุกวันนี้ก็ได้ เช่นเดียวกัน รัฐไทยย่อมมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในกรณีของทรูและดีแทค ที่จะเข้าขัดขวางไม่ให้เกิดการผูกขาดที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมในอนาคต” นายธนาธร กล่าว