วันธรรมดา “ที่ไม่ธรรมดา” | อมร วาณิชวิวัฒน์

วันธรรมดา “ที่ไม่ธรรมดา” | อมร วาณิชวิวัฒน์

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 เป็นวันธรรมดาสามัญ ผู้คนยังต้องเดินทางไปทำงานไปเรียนหนังสือตามปกติ แต่ด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อสถานะการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีผลชี้ขาดออกมาในเวลาราว 15 นาฬิกา

จะมีเรื่องราวให้บันทึกในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายประการ อันเนื่องมาจากคำร้องของ ส.ส. ฝ่ายค้านที่ยื่นผ่านประธานสภาส่งถึงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ 22 ส.ค. ขอให้ตีความว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลง

เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา ตามมาตรา 170 วรรคสาม และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเห็นว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ฯ  ครบ 8 ปี แล้วในวันที่ 23 ส.ค. 2565 นับจากได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ครั้งแรกเมื่อ 24 ส.ค. 2557

และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตามมาตรา 82 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ให้ พล.อ. ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

ผมจำคำพูดของท่านรองนายกรัฐมนตรี ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม เมื่อครั้งท่านได้พบท่านประธานกรรมการร่างรัฐธรรรมนูญ (ศ.มีชัย ฤชุพันธุ์) กับพวกเราในวันที่มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก่อนเริ่มต้นการทำหน้าที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญในปี 2558 ได้ดีว่า

"ในการร่างกฎหมายที่ผ่านๆ มา ท่านเห็นว่า มีนักนิติศาสตร์ นักกฎหมายมาร่างเป็นส่วนใหญ่ ทำให้รัฐธรรมนูญดูเหมือนจะมีมุมมองที่มีวงจำกัดมาก

จึงอยากได้ภาคส่วนอื่นๆ เช่น ทางสังคมศาสตร์ มาเข้าร่วมในการร่างกฎหมายเพื่อให้มีโลกทัศน์และความเห็นในทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เพื่อให้มีความหลากหลาย ไม่เช่นนั้นมุมมองต่างๆ จะมาในทิศทางเดียวกันเป็นส่วนมาก"

นั่นอาจกล่าวได้ว่า หากเรายึดเอาแต่เพียง “หลักกฎหมาย” การพิจารณาวินิจฉัยในเรื่องต่างๆ คงไม่มีอะไรสลับซับซ้อน เพราะบ้านเราใช้ประมวลกฎหมาย ใช้สิ่งที่เป็น “เจตนารมณ์” ซึ่งตีความได้จากบทบัญญัติของกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร

ดังนั้น หากอะไรเข้าทางตามหลักการหรือองค์ประกอบที่วางไว้ ก็ต้องวินิจฉัยไปตามนั้น โอกาสที่จะเบี่ยงเบนไปจากหลักการนี้คงยาก ไม่เหมือนกับกฎหมายจารีตประเพณีที่ประเทศอังกฤษและเครือจักรภพนำมาใช้รวมทั้งสหรัฐอเมริกา

แม้แต่การเรียนกฎหมายในมุมมองส่วนตัวเห็นว่า เรียนกฎหมายจารีตประเพณีแล้วเหมือนต้องออกแรงเมาก ตรงที่แต่ละปีจะมีคดีขึ้นสู่ศาล และระบบการพิจารณาที่อาศัยทั้งคณะลูกขุน หรือกรณีศึกษาที่ต่างกัน คำวินิจฉัยแม้จะเป้นเรื่องดูเผินๆ จะเหมือนกัน ก็อาจมีธงหรือคำวินิจฉัยที่ต่างกันได้ 

กรณีของ พลเอก ประยุทธ์ฯ มีประเด็นสำคัญที่ศาลฯ ท่านต้องวินิจฉัยตามคำร้องข้างต้น ได้แก่ “ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีฯ ของ พลเอก ประยุทธ์ฯ นั้น สิ้นสุดลงหรือยัง”

ในคำร้องตามมาตรา 170 วรรค 3 เป็น “การพ้นตำแหน่งเพราะความไม่ไว้วางใจของสภาฯ” ผมมองว่าไม่ใช่ประเด็นที่ศาลต้องพิจารณา

ส่วนมาตรา 158 วรรคสี่ “เป็นการที่ผู้ร้องมองข้ามในวรรคที่สองของมาตราเดียวกัน ที่ระบุการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีฯ ว่าต้องมาตามกระบวนการในมาตรา 159 ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรีฯ ตามแนวทางในมาตรานี้ด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา”

ผมยังคงเชื่อมั่นในหลักการ “Ex Post Facto Law” (New law cannot apply to people operating before the new law was passed) แปลให้เข้าใจตรงกันง่ายๆ ว่า “กฎหมายใดที่ออกมาในภายหลังย่อมไม่มีผลไปยังผู้ใดที่ทำหน้าที่อยู่ก่อนหน้านั้น”

ไม่ใช่เฉพาะเรื่อง “การห้ามลงโทษย้อนหลัง” แต่เพียงอย่างเดียว ที่นักกฎหมายบ้านเราอาจไม่เข้าใจเจตนารมณ์ที่เรื่องเดียวกันนี้ถึงกับบัญญัติห้ามไว้อยู่ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา มาตรา 1 วรรค 8 อนุ 1 ไว้อย่างชัดเจน และศาลฯ จะชั่งน้ำหนักเอกสารหลักฐานต่างๆ ประกอบ

เพราะสาระสำคัญอยู่ที่ “รัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับ” ส่วนบทเฉพาะกาลที่อ้างกันนั้น การที่มาตรา 264 ระบุให้รัฐมนตรีที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้ ให้เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็เป็นเหตุผลเพียงเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ สิทธิและแนวนโยบายแห่งรัฐที่เปลี่ยนไปจากเดิม หากไม่กำหนดให้รัฐมนตรีที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้ ให้มีอำนาจหน้าที่ให้เหมือนคณะรัฐมนตรีที่ตั้งโดยกฎหมายสูงสุดฉบับใหม่นี้

ก็จะมีผลกระทบต่อรัฐบาลที่มีอยู่ก่อน อะไรทำได้หรือไม่อย่างไร การกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล จึงมีประโยชน์เพื่อเหตุผลดังกล่าว

ทั้งนี้ ผมจึงเชื่อมั่นว่า “ การเป็นนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ฯ ยังไม่สิ้นสุดลง” หากท้ายที่สุดแล้ว ศาลฯท่านจะตัดสินวินิจฉัยต่างไปจากแนวทางที่ผมว่าไว้นี้ พวกเราก็ต้องยอมรับและให้ความเคารพ

แต่ดังได้เรียนไว้แล้วว่า มุมมองกฎหมายนั้น โดยเฉพาะกฎหมายที่มีส่วนผสมที่ต้องพิจารณาทั้งหลักกฎหมายและหลักการปกครองเช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ นี้ ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

ความเห็นที่ต่างกันมิใช่ว่าฝ่ายใดจะผิดหรือถูกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด.