ย้อน 4 คดี “บิ๊กตู่” พ้นบ่วงศาล รธน. ลุ้นนายกฯ 8 ปี ลิ่วหรือร่วง ?
ทั้งหมดคือ 4 คดีที่ปรากฏชื่อ “บิ๊กตู่” ถูกร้องเรียนให้วินิจฉัยพ้นเก้าอี้นายกฯในศาลรัฐธรรมนูญ จับตาคดีที่ 5 นั่งเก้าอี้ครบ 8 ปี จะออก “หมู่” หรือ “นายพล” ติดตามลุ้นกัน!
อีกไม่กี่ชั่วโมงถัดจากนี้ ได้รู้ผลกันแล้วแน่นอนว่า “นายกรัฐมนตรี” คนที่ 29 ของไทย จะยังชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อยู่หรือไม่ ในเวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดอ่านคำวินิจฉัย กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของ “ฝ่ายค้าน” เพื่อให้ชี้ขาดสถานะการดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ของ “พล.อ.ประยุทธ์”
จะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ กรณี ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี นับตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งนายกฯครั้งแรกเมื่อเป็น “หัวหน้า คสช.” 24 ส.ค. 2557 และครบกำหนดในวันที่ 24 ส.ค. 2565 ซึ่งผ่านไปแล้วราวเดือนเศษหรือไม่
อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ เคยมีคดีถูกร้องเรียนในศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยไปแล้วอย่างน้อย 4 คดี (ไม่นับรวมคดีนายกฯ 8 ปี) โดยทุกคดีต่าง “พ้นบ่วง” รอดจากข้อครหาทั้งหมด
เริ่มจาก คดีสถานะหัวหน้า คสช.-นายกฯ เริ่มจาก ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน รวม 7 พรรค เข้าชื่อถึง “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสถานะการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 1 (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) หรือไม่ จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ เคยเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่
ทว่าศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยเมื่อ 18 ก.ย. 2562 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ไม่ถือเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) เนื่องจากการดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ และมีอำนาจหน้าที่เฉพาะชั่วคราว ดังนั้นความเป็นนายกฯจึงไม่สิ้นสุดลง
ถัดมา คดีถวายสัตย์ปฏิญาณฯไม่ครบ มีจุดเริ่มจาก “ศึกซักฟอก” ครั้งแรกของ “ครม.บิ๊กตู่ 2” นำโดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวหาว่ากระทำผิดรัฐธรรมนูญ กรณีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณฯไม่ครบถ้วนตามข้อความที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ โดยการอภิปรายครั้งดังกล่าวดุเดือดเป็นอย่างมาก จนเกิดวิวาทะในตำนาน “ตัดพี่ตัดน้อง” ระหว่าง “พล.อ.ประยุทธ์” และ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” มาแล้ว
หลังจากนั้นมีการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณฯไม่ครบถ้วนของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง หรือไม่
ท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ “เอกฉันท์” ไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา โดยระบุว่า การถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมือง ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจรับคำร้องไว้ได้ และการถวายสัตย์ดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด
ในช่วงเวลาเดียวกันกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “ครม.บิ๊กตู่” ต้นปี 2563 มีพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยสถานะการดำรงตำแหน่งนายกฯของ “บิ๊กตู่” อีกครั้ง ในคดี พล.อ.ประยุทธ์ ยังพักอยู่ใน “บ้านพักหลวง” ในค่ายทหาร พล.ร.1 รอ. ทั้งที่เกษียณอายุราชการ ผบ.ทบ. ตั้งแต่ปี 2557 ถือว่าเข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (3) ประกอบมาตรา 186 และเข้าข่ายผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่
ประเด็นนี้เมื่อ 2 ธ.ค. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ “เอกฉันท์” อีกครั้ง ว่าสถานะนายกฯของ “บิ๊กตู่” ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว และไม่ได้มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยอธิบายเหตุผลว่า เนื่องจากบ้านพักทหารได้เปลี่ยนสถานะเป็นบ้านพักรับรอง ตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ.2548
ซึ่งกำหนดให้อดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพบกและประเทศชาติ และเคยดำรง ผบ.ทบ.มาแล้ว มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก โดยที่กองทัพบกสามารถพิจารณาความเหมาะสมในการสนับสนุนค่าน้ำและค่าไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการพักอาศัยตามความจำเป็นและเหมาะสม ซึ่งมิใช่เพียงแต่นายกฯเท่านั้น หากแต่กองทัพบกได้ให้การสนับสนุนอดีตผู้บังคับบัญชาคนอื่น ๆ ด้วย
วิบากกรรมของ “บิ๊กตู่” ยังคงไม่จบสิ้น เมื่อช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา 72 ส.ส. “พรรคเพื่อไทย” ยื่นคำร้องถึง “ชวน หลีกภัย” อีกครั้ง ให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยสถานะความเป็นนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 184 (2) และมาตรา 186 กรณีออกคำสั่งตาม “มาตรา 44” เมื่อเดือน เม.ย. 2562 เพื่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับเอกชนออกเป็นเวลา 40 ปี ทั้งที่ยังเหลือระยะเวลาสัมปทานอีก 10 ปี ขณะเดียวกันประกาศใช้กฎหมายร่วมทุนฯในเดือน มี.ค. 2562 แต่กลับไม่ได้ปฏิบัติตาม ส่อเกิดการผูกขาดโครงการ และไม่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
แต่“บิ๊กตู่” รอดพ้นข้อครหาอีกเป็นครั้งที่ 4 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ “ไม่รับคำร้อง” ไว้วินิจฉัย โดยให้เหตุผลว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) มีความมุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่ให้กระทำการอันเป็นการต้องห้ามในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หากรัฐมนตรีผู้ใดกระทำการอันเป็นการต้องห้ามในขณะที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ ความเป็นรัฐมนตรีของผู้นั้นย่อมต้องสิ้นสุดลง
ดังนั้นการยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นอยู่ในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏว่า
ในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบ มาตรา 82 แต่ผู้ถูกร้องได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญไปแล้ว นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญเข้ารับหน้าที่ ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ได้
ทั้งหมดคือ 4 คดีที่ปรากฏชื่อ “บิ๊กตู่” ถูกร้องเรียนให้วินิจฉัยพ้นเก้าอี้นายกฯในศาลรัฐธรรมนูญ จับตาคดีที่ 5 นั่งเก้าอี้ครบ 8 ปี จะออก “หมู่” หรือ “นายพล” ติดตามลุ้นกัน!