เหตุการณ์ 14 ตุลา และเรื่องที่เรายังต้องทำต่อ | วิทยากร เชียงกูล
ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลา 2516 ทำให้รัฐบาลเผด็จการทหาร 15 ปีต้องจบลง แต่โครงสร้างสังคมไทยแบบรวมศูนย์อำนาจในมือชนชั้นนำส่วนน้อยที่จารีตนิยม ทำให้พวกเขาไม่ปฏิรูปประชาธิปไตยจริงและขัดแย้งกับนักศึกษา
3 ปีต่อมาพวกเขาก็ปราบปรามการชุมนุมของนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และทหารทำรัฐประหาร ในรอบ 49 ปี หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ชนชั้นนำไทยที่อิงระบบรัฐสภาบ้าง อิงคณะทหารทำรัฐประหารบ้าง แต่รัฐบาลคือกลุ่มเจ้าที่ดินใหญ่ ทหาร ข้าราชการชั้นสูง นักธุรกิจ นายทุนที่มีนโยบายพัฒนาระบอบทุนนิยมอุตสาหกรรมผูกขาด
เศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตในแง่การเพิ่มการผลิตสินค้าบริการของประเทศโดยรวม แต่พึ่งพาการลงทุนและการค้ากับต่างประเทศมาก เศรษฐกิจที่เติบโตได้ด้วยการขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติและขูดรีดแรงงานของเกษตรกร คนงาน และผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำให้ไทยเกิดความเหลื่อมล่ำสูงทางทรัพย์สิน รายได้ การศึกษา ฯลฯ มากขึ้น
แม้บางช่วงจะมีการการเลือกตั้ง แต่มีการซื้อเสียง ขายเสียง ใช้อำนาจระบบอุปถัมภ์ ฯลฯ มาก ทำให้เราได้แต่รัฐบาลและนักการเมืองที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของพวกตนที่มีคุณภาพไม่แตกต่างกัน (บริหารประเทศเพื่อตัวเองและพวกพ้องและเพื่อนายทุน) ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะมาจากพลเรือนหรือทหารก็ตาม
ประชาชนถูกแบ่งแยกและปกครอง กระจัดกระจายอ่อนแอ ถูกครอบงำทั้งโดยระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมบริโภค วัฒนธรรมอุปถัมภ์ เล่นพรรคเล่นพวก และวัฒนธรรมความเชื่อแบบศรัทธา/ไสยศาสตร์เพิ่มขึ้น กลุ่มนักวิชาการ นักวิชาชีพ กลุ่มแรงงาน กลุ่มชาวนาชาวไร่ ฯลฯ ที่เคยก้าวหน้าเข้มแข็งในช่วง 2516-2519 ประนีประนอมกับระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบผูกขาดเพิ่มขึ้นและอ่อนแอลง
พวกชนชั้นนำต่างกลุ่มแม้จะเล่นเกมการเมือง เพื่อแย่งอำนาจเป็นรัฐบาลกัน แต่พวกเขาก็ยังคงประนีประนอม แบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์กันแบบลับๆ ได้ด้วย
ในขณะภาคประชาชนที่ไม่มีกลุ่ม/แนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงเชิงระบบโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง ชนิดที่จะทำให้ประชาชนมีทรัพย์สิน รายได้ การศึกษา ผลิตภาพ การมีงานทำที่สูงขึ้นอย่างเป็นธรรมทั่วถึงอย่างเข้มแข็งเห็นได้ชัด เหมือนช่วงปี 2516-2519
การขยายตัวของประชากรไทยและทุนนิยมอุตสาหกรรมทำให้เมืองขยายตัว ชุมชนชนบทหดตัวอ่อนแอ ประชาชนพึ่งตัวเองทางเศรษฐกิจ สังคมได้ลดลง ต้องพึ่งทุนขนาดใหญ่ เช่น ธนาคาร พ่อค้า นายทุน และนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ ในแบบที่ประชาชนเป็นฝ่ายเสียเปรียบเพิ่มขึ้น
โดยที่ประชาชนบางส่วนก็ไม่รู้ตัวว่าเสียเปรียบ พวกเขายังเลือกข้างนิยมพรรค/กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ เพราะถูกครอบงำให้เชื่อว่าพวกชนชั้นนำเหล่านั้นจะทำประโยชน์ให้ประชาชนได้มากกว่าพรรค/กลุ่มอื่น
ระบบการศึกษาที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ในระบบราชการ เผยแพร่อุดมการณ์ จารีตนิยมล้าหลัง ขาดคุณภาพ ประสิทธิภาพ เยาวชนได้รับการศึกษาแบบเน้นการท่องจำ และการฝึกทักษะทางเทคนิค ถูกครอบงำด้วยค่านิยมแบบทุนนิยม สนใจแต่เรื่องการหาเงินมาเพื่อการบริโภคแบบตัวใครตัวมัน
ประชาชนซึ่งมีความตื่นตัวทางการเมืองส่วนหนึ่งก็มักเป็นพวกคิดในเชิงอารมณ์ศรัทธา เลือกเข้าข้างกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (เช่น นิยมทักษิณหรือเข้าข้างฝ่ายต่อต้านทักษิณ) แบบ 2 ขั้วสุดโต่ง มากกว่าจะคิดวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ตามสภาพที่เป็นจริง
ประชาชนยังไม่เข้าใจว่าประชาชนควรร่วมมือกันหาทางปฏิรูปแก้ไขสังคมทั้งระบบองค์รวม มากกว่าไปพึ่งพาโครงการย่อยๆ ของชนชั้นนำที่บรรเทาปัญหาได้เล็กน้อยหรือสั้นๆ
ประชาธิปไตยที่แท้จริงมีความหมายมากกว่าแค่สิทธิในการเลือกตั้ง คือต้องหมายรวมถึงสิทธิเสรีภาพ เสมอภาคทางโอกาส ทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจสังคม แทนที่เลือกข้างไปฝากความหวังไว้ที่นักการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
ประชาชนควรร่วมมือกันผลักดันการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจจากทุนนิยมสุดโต่ง ที่เอื้อแต่นายทุนไปเป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างทุนนิยม (ที่รัฐต้องกำกับให้) มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม กับระบบสังคมนิยมประชาธิปไตยที่เป็นระบบสหกรณ์ รัฐสวัสดิการ ระบบเศรษฐกิจแนวพึ่งตนเอง (ระดับชุมชน ประเทศ)
กระจายอำนาจการบริหารและงบประมาณไปสู่จังหวัดและท้องถิ่นระดับชุมชนต่างๆ เพิ่มขึ้น (เช่น เลือกตั้งผู้ว่าในจังหวัดที่มีความพร้อม ลดอำนาจและงบประมาณมหาดไทยลง เพิ่มอำนาจและงบประมาณไปที่องค์การบริหารท้องถิ่นโดยตรงเพิ่มขึ้น)
อย่างประเทศในกลุ่มยุโรปเหนือ สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และประเทศเยอรมนี ที่พัฒนาทั้งเศรษฐกิจสังคม คุณภาพชีวิตประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าไทยมาก
ปฏิรูปที่ดินและการเกษตรแบบช่วยให้รายย่อยเข้มแข็ง ปฏิรูประบบภาษีอากร (เก็บภาษีทรัพย์สินรายได้จากคนรวยในอัตราก้าวหน้า) ปฏิรูปงบประมาณให้เกิดความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ปฏิรูประบบการเงินการธนาคาร ให้ลดการผูกขาด ลดการเปรียบ/กำไรประชาชนส่วนใหญ่
ปฏิรูประบบรัฐวิสาหกิจให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ปฏิรูปการจัดการพลังงานและทรัพยากรที่เน้นความเป็นธรรมและความยั่งยืน ปฏิรูปธุรกิจขนาดย่อม ขนาดกลาง ให้แข่งขันสู้ธุรกิจขนาดใหญ่ ปฏิรูปด้านการฝึกแรงงาน ปฏิรูปการศึกษา สื่อมวลชน ฯลฯ ให้มีประสิทธิภาพ คุณภาพ โปร่งใส เป็นธรรม เพิ่มขึ้น.