“ชัชชาติ” เผย กทม.-สปสช.ร่วมจัดหา รพ.รองรับคนถูกยกเลิกสิทธิบัตรทอง 1 ต.ค.
“ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ” เผย กทม.-สปสช. ร่วมจัดหาโรงพยาบาล รองรับผู้ถูกยกเลิกสิทธิบัตรทองจาก 9 รพ.เอกชน 1 ต.ค.นี้
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เปิดเผยถึงกรณีทึ่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกสัญญาโรงพยาบาลเอกชน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ รพ.มเหสักข์ รพ.บางนา 1 รพ.ประชาพัฒน์ รพ.นวมินทร์ รพ.เพชรเวช รพ.ผู้สูงอายุกล้วยน้ำไท 2 รพ.แพทย์ปัญญา รพ.บางมด และรพ.กล้วยน้ำไท ที่เดิมประชาชนมีหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำอยู่ที่ รพ.ทั้ง 9 แห่ง จะถูกยกเลิกเป็นสิทธิว่าง ซึ่งจำนวนนี้มีประมาณ 220,000 คน ที่ สปสช. ต้องจัดหาหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ (คลินิกชุมชนอบอุ่นหรือศูนย์บริการสาธารณสุข) ให้ และอีกประมาณ 690,000 คน ที่เดิมมี รพ.ทั้ง 9 แห่งเป็น รพ.รับส่งต่อ จะไม่มี รพ.รับส่งต่อ แต่ยังคงมีคลินิกชุมชนอบอุ่นและศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ ที่จะต้องจัดหาโรงพยาบาลเข้ามารองรับการส่งต่อนั้น
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า กรุงเทพมหานครร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพเขต 13 จัดการประชุมร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 65 เพื่อหารือแนวทางการบริหารจัดการสถานการณ์รองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยในส่วนของผู้ที่เป็นสิทธิว่างนั้น สปสช.จะเปิดให้ผู้ที่มีสิทธิว่างเลือกหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำแห่งใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 65 โดยสามารถหาข้อมูลหน่วยบริการในพื้นที่ใกล้บ้านได้ที่เว็บไซต์ของ สปสช. https://www.nhso.go.th หรือสอบถามผ่านสายด่วน สปสช. 1330 อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ยังไม่เลือกโรงพยาบาล สามารถเข้ารับบริการได้ทุกคลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลในเครือข่ายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และถ้ามีความจำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลสามารถไปรับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลในเครือข่ายระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า สำหรับ รพ.รับส่งต่อแห่งใหม่นั้นในช่วงระยะเวลา 3 เดือนจนถึงสิ้นปีนี้ สปสช.จะหา รพ.รับส่งต่อเพิ่มเพื่อรองรับผู้ป่วยต่อไป ทั้งนี้ ในระหว่างนี้ กรณีผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องนัดรับยาต่อเนื่อง สามารถรักษาในคลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน กรณีหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด อัลตร้าซาวด์ ซีทีสแกน MRI เป็นต้น สามารถติดต่อขอรับเวชระเบียนที่ รพ. ทั้ง 9 แห่ง และสามารถไปเข้ารับการรักษาในทุกโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยประสานผ่านหมายเลข 1330 ยกเว้นผู้ป่วยที่มีนัดรักษาตั้งแต่ 1 ต.ค. 65 ที่ รพ.กล้วยน้ำไท และ รพ.ประชาพัฒน์ ยังคงรักษาที่เดิมจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 65
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยฟอกไต และผู้ป่วยที่มีนัดผ่าตัดหัวใจ สวนหัวใจใส่บอลลูน ใส่สเต็นท์ (stent) ยังคงรับบริการได้ตามนัดเหมือนเดิม (ไม่ได้ยกเลิกสัญญาบริการฟอกไตและผ่าตัดหัวใจ) ผู้ป่วยใน (ที่ยังนอนอยู่ รพ.) รักษาต่อไปได้ จนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินใช้สิทธิรักษาเหมือนเดิมทุกประการ เจ็บป่วยฉุกเฉินในกลุ่มสีเขียว (ไม่รุนแรง) สีเหลือง (เร่งด่วน) เข้ารักษาได้ทุกหน่วยบริการที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตถึงแก่ชีวิต (สีแดง) เข้ารักษาได้ทุกหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน ตามนโยบาย UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิ์ทุกที่
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สปสช.จะเพิ่มคลินิกอบอุ่นให้มากขึ้น โดยมีการนำคลินิกเวชกรรมบางประเภทมาเป็นคลินิกที่ทาง สปสช. ให้สิทธิครอบคลุมไปถึง รวมทั้งร้านขายยา เพื่อรองรับการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้สามารถไปใช้บริการได้ สำหรับกรุงเทพมหานครเองก็สร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยบริการปฐมภูมิที่เชื่อมต่อกับหน่วยบริการทุติยภูมิและตติยภูมิแบบไร้รอยต่อ พร้อมกับการนำเทคโนโลยีระบบ Telemedicine มาใช้ในโรงพยาบาล และ Teleconsult ในศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการได้สะดวกมากยิ่งขึ้น