อนาคตการเมือง “3ป.” จับตา “บิ๊กป้อม” ตัวแปรรัฐบาลหน้า

อนาคตการเมือง “3ป.” จับตา “บิ๊กป้อม” ตัวแปรรัฐบาลหน้า

ไม่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “นายกฯ 8 ปี” ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครบแล้วหรือยัง โดยมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ยังไม่ครบ 8 ปีนั้น ปัญหาไล่ “ประยุทธ์” ก็ยังไม่จบ

ปัญหาแท้จริง ไม่ได้อยู่ที่ว่า ต้องรอฟังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาอย่างไร แต่อยู่ที่กระแสไม่เอา “ประยุทธ์” มีมาก่อนแล้ว และคำวินิจฉัย “8 ปี” ครบหรือไม่ ก็แค่ “กรีดแผล” ให้ลึกและเจ็บแสบลงไปอีก มิใช่ความ “ชอบธรรม” ที่จะให้อยู่ต่อ หรือไม่อยู่ต่อ 

 

ด้วยเหตุนี้เอง แม้พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาเป็นนายกฯต่อด้วยผลของคำวินิจฉัย แต่กระแสกดดัน ขับไล่ ให้ลาออก หรือ “ยุบสภา” เพื่อเลือกตั้งใหม่ เลือกนายกฯคนใหม่ ก็ยังคงดังกระหึ่ม และยิ่งทวีความร้อนแรงด้วยอารมณ์เดือดดาลที่ผลวินิจฉัยของศาลฯไม่ได้ดั่งใจ

 

ทั้งคาดว่า กระแสที่เป็นอยู่ จะทอดยาวไปถึงช่วงเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าจะเกิดจากการ “ยุบสภา” หรือ รัฐบาลอยู่ครบเทอม ก็ตาม

 

คำถามคือ “3 ป.” นับแต่นี้จะอยู่อย่างไร? ปล่อยให้ความเชื่อมั่นในผลงาน “บังตา” หรือ “ยอมรับสภาพ” ที่ไม่อาจฝืนต่อไปได้ เพื่อลงจาก “หลังเสือ” แต่โดยดี? ก่อนจะถูกตัดสินด้วยผลการเลือกตั้งครั้งหน้า

 

เส้นทาง “ป.ประยุทธ์” นั้น ยังไม่ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิตทางการเมือง ไม่ว่า การตกลงปลงใจสังกัดพรรคการเมืองใด เป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของพรรคการเมืองใด รวมไปถึงพรรคใดจะสนับสนุนให้เป็นแคนดิเดตในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี

เมื่อเป็นเช่นนี้ เส้นทาง “ประยุทธ์” จึงเป็นไปได้ ทั้งพอแล้ว ไม่ไปต่อในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะกระแสขับไล่ที่จะนำไปสู่ “จุดดับ” มากกว่า “จุดขาย” ด้านผลงาน  

 

อีกทาง ยังไม่พอ ขอลุยทางการเมือง ตามแรงหนุนของส.ส.บางส่วนที่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีผลงานมากพอที่จะเป็น “จุดขาย” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

 

นอกจากนี้ สิ่งที่เป็น “ตัวแปร” สำคัญก็คือ ความวุ่นวายในบ้านเมือง จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่ เพราะถ้าเกิดขึ้น และส่อว่าจะ “บานปลาย” กลายเป็นความรุนแรงขึ้นมาอีก “จุดแข็ง” ของพล.อ.ประยุทธ์ ก็จะยังคงอยู่ และมีแรงสนับสนุนกลับมาใหม่อีกครั้ง อย่างน้อย ก็ช่วงที่ยังสามารถเป็นนายกฯได้อีก 2 ปีกว่า

 

แต่ถ้าไม่มีการก่อความวุ่นวาย ไม่มีเงื่อนไขความรุนแรง มีแต่เกมต่อสู้ทางการเมืองตามธรรมชาติทางการเมือง ก็ไม่มีเงื่อนไข และเหตุผลที่จะทำให้กระแส “ไม่เอาประยุทธ์” อ่อนแรงลง?

 

ดังนั้น กลุ่มที่ต้องการ “ปลุกกระแสขับไล่” พล.อ.ประยุทธ์ และองคาพยพ คสช. ต้องประเมินให้ดีว่า การเคลื่อนไหวกดดันด้วยความรุนแรงนั้น เท่ากับสร้างความชอบธรรมที่จะให้ประชาชนร้องเรียกเพรียกหาพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่

 

ขณะที่ “ป.ป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คู่บุญ “บิ๊กตู่” ดูเหมือนแรงจูงใจที่จะไปต่อหรือไม่ อยู่ที่ “ป.ประยุทธ์” มากกว่า ที่จะไปไหนไปกัน หยุดก็หยุดด้วยกัน ลงจากหลังเสือ ก็ลงด้วยกัน เพราะไม่ค่อยมีกระแสขัดแย้งกับ “บิ๊กตู่” แถมต่อให้ “บิ๊กป๊อก” ถูกโจมตี หรือ ถูกเล่นเกมจากฝ่ายการเมืองอย่างไร แต่ “บิ๊กตู่” ก็ยังคง “อุ้ม” บิ๊กป๊อก กอดเก้าอี้ รมว.มหาดไทย อย่างเหนียวแน่นต่อไป นี่คือ เครื่องพิสูจน์ความเป็น “พี่น้อง 2 ป.”

มาถึง “ป.ป้อม” ต้องยกให้เป็นกรณีพิเศษที่แม้ว่าจะเป็น “พี่น้อง 3 ป.” แต่ก็เป็น “ผู้มากบารมี” ของกลุ่มก๊วนส.ส., ส.ว.นักธุรกิจ รวมถึงตำรวจ ซึ่งมี “น้องชาย” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ช่วงปี 2551 เป็นคนประสาน ทางเลือกทางการเมือง จึงมากกว่าพี่น้อง 2 ป. “ประยุทธ์-บิ๊กป๊อก”

 

เว้นเสียแต่จะลงจากหลังเสือพร้อมกันทั้ง “3 ป.” เพื่อตอกย้ำ “นายกฯไป ผมก็ไป” หรือ สืบสานตำนานรักอันเหนียวแน่น ของ “สามพี่น้อง” แห่ง “บูรพาพยัคฆ์”

 

ที่กล่าวกันว่า ผูกพันกันมาตั้งแต่ เส้นทางการรับราชการในกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) และกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) หรือที่เรียกขานกันว่า “บูรพาพยัคฆ์” แทบจะทั้งชีวิตราชการ จึงเป็นทั้ง “นาย-ลูกน้อง” และพี่กับน้องมาโดยตลอด

 

แต่ที่ชัดเจน “บิ๊กป้อม” ไม่เพียงเข้าสู่อำนาจในนามเป็นคนของ “คสช.” เท่านั้น หากแต่ยังอยู่ในฐานะ “หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)” ซึ่งเป็น “แกนนำรัฐบาล” ปัจจุบันด้วย ยิ่งกว่านั้น ยังดูเหมือนพรรคพลังประชารัฐ จะชู “บิ๊กป้อม” เป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ในการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย ถ้าดูจากการขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์หลายครั้ง

 

ขณะเดียวกัน กระแสข่าวเมื่อไม่นานมานี้ ที่ว่ากันว่า “ขุนพลคนสำคัญ” อย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรค เตรียมกลับเข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ อีกครั้ง ก็ชวนให้คิดว่า พร้อมดัน “บิ๊กป้อม” สู่เก้าอี้นายกฯ อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูหรือไม่

 

อย่าลืมว่า การหอบหิ้วส.ส. 20 คน ออกจากพรรคพลังประชารัฐ ของ ร.อ.ธรรมนัส ไม่ใช่ขัดแย้งกับ “บิ๊กป้อม” และ ร.อ.ธรรมนัส ยังคงยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ยังรักและเคารพ “บิ๊กป้อม” เพียงแต่กับ “บิ๊กตู่” และส.ส.พลังประชารัฐสายหนุน “บิ๊กตู่” ต่างหากที่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง เนื่องจากกระแสข่าว “ดีล” กับพรรคฝ่ายค้านโค่น “บิ๊กตู่” ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั่นเอง

 

ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวว่า พรรคพลังประชารัฐ จะไม่ส่งส.ส.ลงแข่งในเขตที่เป็นฐานการเมืองของพรรคเศรษฐกิจไทย ของ ร.อ.ธรรมนัสด้วย  

 

นั่นแสดงว่า อนาคตก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ มีความชัดเจนว่า จะเล่นการเมืองหรือไม่ รวมทั้งพรรคพลังประชารัฐ จะส่งเป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี”หรือไม่ หากไม่ส่ง หรือ ส่ง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร แทน การตัดสินใจของ ร.อ.ธรรมนัส อาจง่ายขึ้นก็เป็นได้

 

อีกอย่าง ถ้าสังเกตให้ดี ช่วง “บิ๊กป้อม” เป็น “รักษาการนายกรัฐมนตรี” วลีเด็ดที่ว่า “ใจบันดาลแรง” และการเอาการเอางานอย่างกระฉับกระเฉ่ง แข้งขาเดินเหินผิดกับช่วงที่เป็นรองนายกฯ มันแสดงให้เห็นว่า “ยังพอมีแรงอยู่”

 

จนหลายคนอดคิดไม่ได้ว่า เป็นวันที่ “บิ๊กป้อม” รอคอยอยู่เหมือนกันหรือไม่ และยังพร้อมที่จะสู้ต่อไป เพื่อเป้าหมายสูงสุดในชีวิต นั่นหมายถึงถ้า “บิ๊กตู่” ลงจากหลังเสือ “บิ๊กป้อม” อาจเดินทางต่อ ด้วยวลีใหม่ “ตู่ไม่เอา พี่เอา” หรือไม่ ก็นับว่าน่าสนใจ    

 

ที่น่าคิดเข้าไปใหญ่ ในกรณีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 เฟซบุ๊ก CARE แคร์ คิด เคลื่อน ไทย ไลฟ์สดพูดคุยกับนายทักษิณ ชินวัตร หรือโทนี่ วู้ดซัม อดีตนายกรัฐมนตรี ช่วงค่ำวันที่ 27 กันยายน โดยนายทักษิณ กล่าวตอนหนึ่งว่า

 

“ทุกคนบอกว่า ครบ 8 ปีแล้ว ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างไรไม่อาจก้าวล่วง ต้องติดตามกันต่อไป ตอนนี้รู้เพียง บิ๊กตู่และบิ๊กป้อม สั่งเกาเหลามานั่งกินกันคนละมุมห้อง ส่วนผมสั่งก๋วยเตี๋ยวมานั่งกลางห้องแล้ว”

 

คำพูดของ “พี่โทนี่” อาจมีนัยสำคัญกว่าที่คิดก็เป็นได้? โดยเฉพาะที่บอกว่า “ตนสั่งก๋วยเตี๋ยวมานั่งกลางห้องแล้ว” ขณะที่ “บิ๊กตู่” กับ “บิ๊กป้อม” กินเกาเหลาอยู่คนละมุมห้อง

 

นั่นอาจหมายถึง งานนี้มี “ทักษิณ” เข้ามาแทรกหรือไม่

 

อย่าลืม “ดีลพิเศษ” ที่เคยเป็นกระแสข่าว แม้ว่าจะมีการปฏิเสธจาก “ทักษิณ” ว่า ไม่เคยคุยกับ “บิ๊กป้อม” แต่ปรากฏการณ์ “สภาล่ม” ขณะโหวตหนุน กฎหมายเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์สูตร 500 หาร ที่พรรคเพื่อไทยเล่นเกม โดยส.ส.พรรคพลังประชารัฐก็มีส่วนด้วย จนเป็นเหตุให้ไม่ทัน 180 วันตามรัฐธรรมนูญกำหนด ต้องกลับมาใช้ร่างแรกสูตร 100 หาร เข้าทางพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้าแบบเต็มๆ ถูกมองว่า “ดีล” ขับเคลื่อนไปแล้วหรือไม่

 

ความจริง “ดีลพิเศษ” วิเคราะห์กันว่า เนื่องมาจากข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธ ในการหนุนคนระดับ “บิ๊ก” ในรัฐบาล เป็น “นายกฯคนนอก” (แลกกติกาเลือกตั้งที่เอื้อ “แลนด์สไลด์”) หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “บิ๊กตู่” พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากอยู่ครบ 8 ปีแล้ว ซึ่งหลายขั้นตอนตามกฎหมาย ในการยกเว้นการเลือกจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ไปจนถึงเลือกนายกฯคนนอก ต้องใช้เสียงส.ส., ส.ว.ในรัฐสภาจำนวนมาก ทำให้พรรคเพื่อไทย “เนื้อหอม” ขึ้นมาทันทีในหมากเกมนี้

 

โดยรัฐธรรมนูญ 2560 “เปิดช่อง” ให้มี “นายกรัฐมนตรีคนนอก” และ “นายกรัฐมนตรีคนใน” ไว้ “2 ทาง”

 

ทางแรก รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง เปิดช่องให้ “ยกเว้น” การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมือง กรณีไม่สามารถรวมเสียงได้ “เกินกว่ากึ่งหนึ่ง” ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา หรือ 367 เสียง จาก 738 เสียง

 

โดยใช้เสียง “2 ใน 3” หรือ 492 เสียง ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา ให้ยกเว้นการเลือกนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง เพื่อสถาปนานายกรัฐมนตรีคนนอกได้

 

ทางที่สอง รัฐธรรมนูญมาตรา 159 เลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมือง โดยใช้เสียง “เกินกึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

 

แต่เมื่อเกิดคดีพลิก “บิ๊กตู่” อยู่ต่อ ก็ต้องจับตามองในการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่ “บิ๊ก” บางคน มีทั้งส.ส.และส.ว.อยู่ในมือ “ดีล” เลือกนายกฯ จึงสำคัญ!  

 

แน่นอน,ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าจะมาจากการ “ยุบสภา” หรือ รัฐบาลอยู่ครบเทอม ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามก็คือ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ยังมีบทบาทในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี อาจเป็นตัวกำหนดอนาคตการเมืองครั้งสำคัญอีกครั้ง

 

ทั้งนี้ ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ได้กำหนดให้ใน 5 ปีแรก การเลือกนายกรัฐมนตรี จะต้องเป็น “การประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา” หรือการให้อำนาจ ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ “คสช.” ร่วมเลือกด้วย

 

ตัวอย่างปัญหาที่เห็นได้ชัด ก็คือ แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ส.ส.เข้าสภาฯมากที่สุด แต่ก็ใช่ว่า จะสามารถรวบรวมพรรคร่วมรัฐบาล จัดตั้งรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกฯได้เลย เหมือนก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2560

 

เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ การเลือกนายกฯจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ต้องใช้เสียงส.ส. มากกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือประมาณ 376 เสียง (บทเฉพาะกาลกำหนดให้ 5ปีแรก ส.ว.มีสิทธิร่วมเลือกนายกฯ)

 

ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าที่อาจมีปัญหาก็คือ นอกจากพรรคที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 ต้องหาพรรคร่วมรัฐบาลให้มีส.ส.มากพอที่จะมีเสถียรภาพแล้ว ยังต้องหาเสียงสนับสนุนจากส.ว.เพื่อให้ได้เกินกว่ากึ่งหนึ่ง(376 เสียง) เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

 

นี่คือ สิ่งที่หลายคนเชื่อว่า “ดีลพิเศษ” ยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะมีการต่อรองทางการเมืองอย่างไรใหม่หรือไม่

 

จึงไม่แปลกที่ “เต้น”ณัฐวุฒิ ใสเกื้อ ประกาศยุทธศาสตร์ “แลนด์สไลด์” เพื่อหยุดการสืบทอดอำนาจของ “คสช.” พลันตัดสินใจเป็น ผอ.ครอบครัวพรรคเพื่อไทย

 

“ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง เราจำเป็นที่จะต้องมีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งในฝ่ายประชาธิปไตย คว้าชัยชนะให้ได้อย่างเด็ดขาด ได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภา แลนด์สไลด์ให้เผด็จการไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพื่อให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประชาชนมีฉันทามติเลือกพรรคการเมืองหนึ่งแลนด์สไลด์ทั้งประเทศ และเมื่อถึงวันนั้น ส.ว.ที่มีโอกาสลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ก็จะถูกเรียกร้องให้เคารพเสียงประชาชนและต้องตัดสินใจตามเสียงของประชาชน”

 

แต่สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ยังถือว่าห่างไกลอย่างมาก ที่จะมีเงื่อนไขเอื้อให้พรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใด แม้แต่ “พรรคเพื่อไทย” ชนะ “แลนด์สไลด์” หรือ ถล่มทลาย อย่างที่ “ณัฐวุฒิ” ต้องการได้

 

เพราะการเลือกตั้งทั่วไปส.ส.ทั่วประเทศ มีหลายปัจจัยเป็นตัวกำหนด “แพ้-ชนะ” เลือกตั้ง นับแต่บัญชีรายชื่อ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” นโยบายพรรค กระแสนิยมพรรค ตัวบุคคลที่พรรคส่งลงสมัคร การตื่นตัวไปลงคะแนนเลือกตั้งของแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญคือ การยิงกระสุน กระสุนใครเข้าเป้ากว่ากัน ซึ่ง พูดได้ว่า แต่ละพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคใหญ่ ยังต่อสู้กันได้อย่างสูสี

 

แม้ว่า พรรคเพื่อไทย อาจได้เปรียบจากกระแสเบื่อรัฐบาล “ไม่เอาประยุทธ์” แต่ก็มีปัญหาเลือดไหลภายในพรรค และถูก “พลังดูด” ของพรรคภูมิใจไทย ดูดส.ส. “ตัวความหวัง”ไปหลายคน จึงไม่แน่ว่า กระแส “ไม่เอาประยุทธ์” จะสร้างปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ให้พรรคเพื่อไทยได้หรือไม่

 

ประเด็น อยู่ที่ “พรรคพลังประชารัฐ” จะยังคงรักษาที่นั่งเดิมเมื่อครั้งเลือกตั้งปี 2562 เอาไว้ได้แค่ไหน และที่น่าจับตามอง ร.อ.ธรรมนัส จะกลับมาหรือไม่

 

ไม่นับว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ จะเลือกตัดสินใจอย่างไร เพราะดูเหมือนไม่ได้สร้างฐานทางการเมืองเอาไว้มากนัก และยังไม่แน่ว่า จะมีพรรคใดให้การสนับสนุนเป็นแคนดิดตนายกฯ ถ้าเป็นพรรคเล็ก พรรคเฉพาะกิจ คุ้มหรือไม่ที่จะเอาตัวเองไปเสี่ยงเปลืองตัว ถ้าได้ส.ส.เข้าสภาฯน้อยกว่าที่คาดคิด ซึ่ง สรุปว่าไม่ง่ายที่จะตัดสินใจ แม้ว่าจะมีส.ส.บางกลุ่มยังคงสนับสนุน

 

เหลือเพียง “บิ๊กป้อม” ที่ถ้ามองถึงการ “คลี่คลายปัญหา” ภายในพรรคพลังประชารัฐได้ก่อนการเลือกตั้ง มี “ร.อ.ธรรมนัส” กลับมาเป็นขุนพลหาเสียงเลือกตั้ง และจัดการการเลือกตั้ง โอกาสที่ “บิ๊กป้อม” จะไต่บันไดฝัน ก็ประมาทไม่ได้เช่นกัน

 

อย่าลืม ถ้า “บิ๊กตู่” ไม่เล่นการเมือง แต่ “บิ๊กป้อม” ตัดสินใจเล่น พรรคพลังประชารัฐ อาจไม่จำเป็นต้องได้ส.ส.อันดับ 1 เพื่อแบกอำนาจ “คสช.” เอาไว้ อย่างปี 2562 แต่โอกาสที่จะได้ร่วมรัฐบาล ต้องมาก่อนเป็นอย่างน้อย

 

เพราะอะไร เพราะมรดก “คสช.” ที่เหลือไว้ 1 ปี ก็คือ ส.ว.250 คน ยังมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี

 

นี่คือ “พลังต่อรอง” ในระดับที่สูงอย่างมาก เพราะพรรคการเมืองใด ไม่ว่าอันดับ 1 หรือ 2 ถ้าได้ที่นั่งส.ส.สูสีกัน โดยที่พรรคพลังประชารัฐ อาจได้อันดับรองลงไป ตัวเลือกแรก ที่จะเลือกร่วมรัฐบาล ก็คือ “พลังประชารัฐ” หรือไม่ เพื่อให้การเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่มีปัญหา

 

ส่วน “ดีลพิเศษ” ยังจะสานต่อได้หรือไม่ อยู่ที่พรรคเพื่อไทย พร้อม “ทรยศ” ต่อ ประชาชน ในการร่วมรัฐบาลกับพรรคที่เคยอยู่ในฝ่าย “เผด็จการ” ซึ่งโจมตีเขามาตลอด หรือไม่

 

แล้วก็ไม่แปลก หากจะมีข้ออ้างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อความเป็นรัฐบาลปรองดองสมานฉันท์ การเมืองถูกวางกับดัก ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะรัฐธรรมนูญบังคับ ฯลฯ

 

แต่สุดท้ายก็ “สมประโยชน์” ทางการเมือง เอาหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้ แต่หลังเลือกตั้ง จับตาอาจมี “เซอร์ไพรส์” ให้เห็น!?