“อนาคตใหม่”ในขวด“ก้าวไกล” สร้างสมดุลการเมืองใหม่ ฝันใหญ่ตั้งรัฐบาล
ภารกิจของอดีตพรรคอนาคตใหม่จนถึงพรรคก้าวไกล คือร่วมกันเข้าไปเอาความคิดของประชาชน เอาผลประโยชน์ประชาชน เอาความคิดใหม่ ๆ ทางสังคม ความคิดก้าวหน้าเข้าไปปะทะ ประสาน เวทีทางสังคมโดยรวม และทางการเมือง
ความร้อนแรงทางการเมืองกลับมาปะทุอีกครั้ง พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง วินิจฉัยว่าสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุดลง เนื่องจากยังดำรงตำแหน่งไม่ครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ให้เริ่มนับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญคือวันที่ 6 เม.ย. 2560
แม้จะเป็นเรื่องไม่เหนือความคาดหมาย เพราะบรรดา “ขั้วฝ่ายค้าน” ผู้ยื่นเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญ ต่างเชื่อลึก ๆ อยู่แล้วว่า “บิ๊กตู่” รอดจากเรื่องนี้แน่นอน แต่ยังสามารถนำประเด็นดังกล่าวมาใช้เป็น “กลยุทธ์” ทางการเมือง สู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าได้
เช่นเดียวกับ “พรรคก้าวไกล” หนึ่งในพรรคร่วมฝ่ายค้าน มองข้ามช็อตไปถึงสมรภูมิเลือกตั้งครั้งถัดไป ผลักดันแคมเปญ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยให้มีที่มาจาก ส.ส.ร.ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็น “ธงหลัก” ในการขับเคลื่อนทิศทางการเมืองของพรรค โดยเชื่อว่า “พรรคก้าวไกล” จะกลายเป็น “พรรคใหญ่” แกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย
กรุงเทพธุรกิจ จับเข่าคุยกับ “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล “แม่บ้านค่ายสีส้ม” ถึงการ “ปฏิรูปพรรค” ผ่านแคมเปญ “ก้าวไกล NEXT” รวมถึงความเคลื่อนไหวทางการเมือง และทิศทางของพรรคในการเลือกตั้งครั้งถัดไป
“ชัยธวัช” ในชุดเสื้อเชิ้ต-กางเกงสแล็กสีดำทั้งตัว เปิดห้องทำงานเลขาธิการพรรคบนชั้น 4 อาคารอนาคตใหม่ หัวหมาก เล่าถึงภาพรวมความคืบหน้าในแคมเปญ “ก้าวไกล NEXT” ที่จะนำไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป ว่า แคมเปญนี้ไม่ใช่แคมเปญเลือกตั้ง แต่เป็นการระดมความคิดเห็นจากสมาชิกพรรค เครือข่าย และภาคประชาชนว่า คิดเห็นกับการทำงานของเราอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการทำงานระดับพื้นฐานทั่วไป จนถึงการเสนอนโยบาย การสื่อสารของพรรค รวมถึงความคาดหวังต่อตัวผู้สมัคร โดยนำข้อคิดเห็นการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวที่มีประโยชน์ต่อพรรคหลายอย่าง เริ่มใช้ปรับปรุงการทำงานของพรรคแล้ว
สิ่งที่มีการเสนอกับเรา มีการพูดคุยในทุกเวทีมี 3 เรื่อง คือ 1.ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ควรจะต้องพิจารณาผู้สมัครที่ไว้วางใจได้ มีอุดมการณ์ มีจุดยืนที่ชัดเจน ไม่ทรยศต่อประชาชน 2.นโยบายที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างพร้อม ๆ กับสถานการณ์เฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจ 3.ความเห็นเรื่องการสื่อสารของพรรคที่ประชาชนคาดหวัง นอกจากในส่วนทำดีอยู่แล้วตั้งแต่อนาคตใหม่ถึงปัจจุบัน อยากจะให้พรรคมีกลยุทธ์สื่อสารกับคนในวงกว้างมากขึ้น
ส่วนการคัดสรรว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็น “จุดอ่อน” ของพรรค เพราะเกิดปัญหา “งูเห่า” จำนวนมากนั้น “ชัยธวัช” อธิบายว่า ปัญหางูเห่าดังกล่าว ไม่ได้มีแค่พรรคก้าวไกลพรรคเดียว แต่หลายพรรคก็มีเช่นกัน แต่พรรคเราได้รับความสนใจ เนื่องจากตอนยุบพรรคอนาคตใหม่ มี ส.ส.จำนวนหนึ่งไม่ไปต่อ หรือบางคนไปต่อในนาม แต่ทางปฏิบัติก็อย่างที่ทราบ
เรื่องนี้ต้องพิจารณาว่า ปัญหาใหญ่คือปัญหาในเชิงระบบด้วย ส่วนหนึ่งคือระบบที่ถูกออกแบบโดยรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. เอื้อให้เกิดงูเห่า ทำให้ ส.ส.ทรยศความไว้วางใจของประชาชน และการเมืองภายใต้ระบอบสืบทอดอำนาจรัฐประหาร มันก็สร้างบรรยากาศ สร้างกลไกที่ทำลายระบบรัฐสภา ทำลายระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง นี่เป็นปัญหาใหญ่ ไม่ใช่ปัญหาของพรรคใดพรรคหนึ่ง ต้องแก้ในอนาคต ไม่ว่าจะแก้ผ่านจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงสร้างระบบวัฒนธรรมการเมืองใหม่ หลังเปลี่ยนผ่านระบอบสืบทอดรัฐประหารไปแล้ว
อย่างไรก็ตามปฏิเสธความรับผิดชอบของพรรคได้ ไม่ใช่แค่ก้าวไกล แต่ทุกพรรค ต้องคัดสรรผู้สมัครให้ประชาชนมั่นใจให้ได้ ว่าจะไม่หักหลักหรือทรยศต่อประชาชน สำหรับเราในคราวนี้เรามั่นใจว่า คุณภาพและกระบวนการสรรหาผู้สมัครของพรรคก้าวไกลดีขึ้นกว่าสมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่อย่างมาก
“ชัยธวัช” ยอมรับว่าในการเลือกตั้งปี 2562 เราเป็นพรรคการเมืองที่ใหม่มาก เดิมในตอนแรกประชาชนไม่ได้คิดว่าเราจะได้รับเสียงความไว้วางใจมากขนาดนั้น สำหรับพรรคการเมืองใหม่ ไม่เคยมีประสบการณ์การเมือง ไม่มีนักการเมืองเก่าเลย ต้องเรียกว่า ตอนที่เราตั้งพรรคได้สำเร็จตามกฎหมาย เปิดประกาศรับสมัครลงเลือกตั้ง เรามีคนที่เข้ามาสมัครน้อยมาก หลายเขตยอมรับว่าไม่มีตัวเลือก มีคนมาสมัครก็คิดว่า ในเมื่อมีคนมาสมัครก็ต้องส่ง เพราะเราตั้งใจจะส่งให้ครบทุกเขต
ดังนั้นคราวที่แล้วเราไม่มีโอกาสที่จะคัดสรร หรือพิจารณาผู้สมัครมากนัก แต่คราวนี้เรามีเวลามากขึ้นกว่าคราวที่แล้วเยอะ เราเริ่มกระบวนการประกาศรับสมัคร และสรรหาผู้สมัคร ตั้งแต่ปี 2564 เรามีเวลาปีกว่าก่อนการเลือกตั้งใหม่ และกระบวนการคัดสรรละเอียดมากขึ้น ไม่ใช่มาสมัคร พูดคุยไม่กี่คำแล้วจบ เรามีกลไกใหม่ที่เราเริ่มสร้างขึ้นในปี 2565 คือ คณะกรรมการรสรรหาของพรรคในระดับจังหวัด มีบทบาทสำคัญมากในการช่วยเราพิจารณาผู้สมัคร ให้ความเห็น รวมถึงการประเมินการทำงานของผู้สมัคร มีบทบาทประเมินติดตามว่า ผู้สมัครดังกล่าวผ่านหรือไม่ มีกระบวนการที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับสมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่ ถ้าพบว่าคนใดมีพฤติกรรม หรือมีข้อมูลที่ว่าเป็นผู้สมัครที่ขัดต่ออุดมการณ์หรือคุณค่าของพรรค เราก็มีสิทธิที่จะเปลี่ยนผู้สมัคร จนกว่าจะถึงกระบวนการรับรองผู้สมัคร ส.ส.ที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
ส่วนการเตีรยมพร้อมสู้สมรภูมิเลือกตั้งในปี 2566 ซึ่งใช้ระบบบัตร 2 ใบและสูตรหาร 100 ส่งผลกระทบอย่างไรกับพรรคก้าวไกล และเตรียมแก้หมากเกมนี้อย่างไรนั้น “เลขาธิการพรรคก้าวไกล” ยืนยันหนักแน่นว่า ไม่มีว่าระบบการเลือกตั้งเป็นแบบใดก็พร้อมต่อสู้ เพราะพรรคก้าวไกลต้องการเป็นพรรคหลัก เป็นแกนนำในการบริหารประเทศ จุดยืนนี้มีมาตั้งแต่สมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่ โดยพรรคจะต้องมี ส.ส.เขตเป็นฐานหลัก ต้องได้ ส.ส.จากทุกภูมิภาคด้วย
“เป้าหมายของเราชัดเจนตั้งแต่แรก เราอยากบริหารประเทศ เราเป็นพรรคบัญชีรายชื่อไม่ได้ ในพรรคทราบดี ผมเชื่อว่าก้าวไกลมีศักยภาพ วันนี้พรรคก้าวไกล อดีตพรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคการเมืองหลักในระบบการเมืองไทยแล้ว ไม่ใช่เป็นพรรคเล็ก พรรคชั่วคราวแน่นอน มีแต่ที่จะโตขึ้น” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ยืนยัน
“ชัยธวัช” ขยายความให้ฟังว่า ถ้าดูในการเลือกตั้งปี 2562 แน่นอนมีหลายเขตเลือกตั้งที่เราชนะ เพราะพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ถูกยุบ แต่มีหลายเขตที่เราชนะด้วยการแข่งขันกับพรรคการเมืองหลัก ๆ ทุกพรรค เราก็ยังศักยภาพที่จะชนะการเลือกตั้งได้ แม้จะแข่งกับพรรคใหญ่ทุกพรรค
คราวที่แล้วประชาชนจำนวนมาก แม้จะรู้จัก “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” (อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) มีกระแส “ฟีเวอร์ธนาธร” ขึ้นมา แต่หลายคนยังรู้จักเราน้อย เป็นกระแสที่รู้จักพรรคอนาคตใหม่อย่างพื้นผิววูบวาบ แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ 3 ปี อดีตพรรคอนาคตใหม่ จนถึงพรรคก้าวไกล เป็นที่รู้จักของประชาชนกว้างขวาง และลึกกว่าปี 2562 เยอะ แล้วรู้จักในแบบรู้จักจริง ๆ ว่า เมื่อเราได้รับการเลือกตั้งเข้าไปแล้ว เราทำงานอย่างไร
ดังนั้นในคราวที่แล้วยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รู้จักเรา อาจชอบแนวคิด แต่ยังไม่เลือกเรา เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะได้กี่เสียงในคราวที่แล้ว จึงไม่กล้าที่จะเลือก กลัวเสียงของ แต่คิดว่า 3 ปีที่ผ่านมา การพิสูจน์จากการทำงานจริง แม้จะเป็นฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกลได้รับการยอมรับว่าเป็นพรรคที่ทำงานในสภาได้ดีที่สุด แม้จะเป็น ส.ส.สมัยแรก เชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าความไว้วางใจ ความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้นเยอะ เมื่อเทียบกับปี 2562
“เรามีศักยภาพ แม้มีทรัพยากรน้อย ส.ส.เราใช้งบประมาณหาเสียงหลักแสนบาท ไม่มีใครเชื่อ ไปสู้กับนักการเมืองส่วนใหญ่ที่ใช้เงินหลักล้านบาท หลักสิบล้านบาท แต่เราพิสูจน์แล้วว่าเป็นไปได้ วัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่มันเป็นไปได้” ชัยธวัช ยืนยัน
“ชัยธวัช” กางสูตร “คณิตศาสตร์การเมือง” ให้เห็นภาพจากผลการเลือกตั้งปี 2562 ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งปี 2566 ว่า ปี 2562 แม้เราชนะ ส.ส.เขตแค่ 30 เขต แต่ 30 เขตนี้ มีศักยภาพรักษาชัยชนะได้อยู่ แม้ระบบการเลือกตั้งเปลี่ยน หรือว่าจะมีพรรคหลักส่งครบทุกพรรค เราก็ยังคิดว่าเรายังรักษาแชมป์ได้อยู่
ถ้ามาดูในเขตที่เราไม่ชนะ เราเป็นที่ 2 อยู่เกือบ 100 เขต ถ้าดูฐานคะแนนเดิม เรามีเขตที่ได้คะแนนเกิน 20,000 เสียงราว 100 เขต นี่เป็นต้นทุนที่เรามีอยู่ ยังไม่นับว่าหลายเขตต้นทุนคะแนนเดิมไม่สูง แต่ผู้สมัครคนใหม่ทำงานต่อเนื่อง ทำงานดี ก็มีศักยภาพมากที่จะเอาชัยชนะได้ นี่เป็นปัจจัยที่ผมคิดว่า แม้ระบบการเลือกตั้งจะเปลี่ยน พรรคก้าวไกลน่าจะไปในทิศทางที่ขยายตัวมากขึ้น
“ผมคิดว่าเวลาเราพูดกันแต่ละพรรคจะได้ ส.ส.เท่าไหร่ ในสภาคงมีเป็นพันคนแล้ว คนแซวกัน (หัวเราะ) แต่เราคิดว่าเราขยายอย่างก้าวกระโดดแน่นอน และมีความมั่นใจว่าได้จากทุกภาค แม้กระทั่งภาคใต้ สนามทางการเมืองวันนี้เรามั่นใจ” ชัยธวัช กล่าว
สำหรับทิศทางการจัดตั้งรัฐบาลนั้น “ชัยธวัช” กล่าวว่า เลือกตั้งคราวหน้าเราสามารถเปลี่ยนขั้วรัฐบาลได้ หมายความว่าจากขั้วฝ่ายค้านปัจจุบันเปลี่ยนเป็นรัฐบาล แน่นอนเราคงไม่สามารถจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือพรรคที่ตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจรัฐประหารคงเป็นไปไม่ได้ ดีที่สุดคือการพลิกขั้วฝ่ายค้านกับรัฐบาล
แต่ประเด็นคือ เรามองว่าเพียงการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีคงไม่พอ ประเทศมันอยู่ในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง ในขั้นรากฐานหลาย ๆ อย่าง ความหมายสำหรับเราไม่ใชแค่เปลี่ยนรัฐบาล หรือนายกฯ แต่เป็นโอกาสสำคัญในการเปลี่ยนประเทศ โอกาสที่ประชาชนช่วยเติมความเปลี่ยนแปลงผ่านการเลือกตั้ง ผลักดันประเทศไทยก้าวหน้าขึ้น จึงเป็นที่มาของสโลแกนเลือกตั้งของเราว่า “ต้องก้าวไกล ให้ไทยก้าวหน้า”
อย่างไรก็ดีปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทของ “พรรคก้าวไกล” ในสภาและทางการเมืองที่ผ่านมา มักผลักดันประเด็น “แหลมคม” เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเลิกอำนาจ ส.ว. รวมถึงการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตรงนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างมากของพรรค
“ชัยธวัช” อธิบายว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งของประชาชน นี่น่าจะเป็นวาระที่สำคัญมาก ๆ น่าจะเป็นประเด็นที่หลาย ๆ พรรคการเมืองยอมรับกันได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องหลักเรื่องหนึ่งที่เราจะผลักดัน ทั้งก่อนการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง ล่าสุดเราได้เสนอแคมเปญให้ประชาชนเข้าชื่อ เพื่อเสนอรัฐบาลจัดทำประชามติเรื่องนี้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือไม่ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง และเสนอให้จัดประชามติพร้อมกับจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าเลย
“นอกจากเลือกรัฐบาลใหม่แล้ว ควรจะใช้เวทีนี้ตัดสินเลยว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีฉันทานุมัติอย่างไร และยังช่วยประหยัดงบประมาณด้วย รวมถึงจะได้เป็นฉันทานุมัติจากประชาชนฝากรัฐบาลใหม่ไปเลยกับการเลือกตั้ง ทำ 2 ทางคือ 1.รณรงค์ประชาชนเข้าชื่อทางหนึ่ง 2.เราเสนอผ่านกลไกของรัฐสภา โดยการเข้าชื่อเสนอญัตติโดย ส.ส. หากเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาเห็นด้วย จะส่งเรื่องไปยัง ครม.พิจารณาต่อไป” ชัยธวัช กล่าว
“ชัยธวัช” อธิบายเพิ่มเติมว่า หลาย ๆ เรื่องที่พูดถึง เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ฐานหมิ่นประมาททั้งหมด ที่ผ่านมาเราเสนอแก้ไขกฎหมายกระทบสิทธิเสรีภาพประชาชน เราเสนอแก้ไขทั้งหมด แก้ทั้งระบบ จริง ๆ แม้แต่วงการสื่อมวลชนก็เคยรณรงค์มานาน ตั้งแต่เหตุการณ์ พ.ค. 2535 ยกเลิกโทษอาญาฐานหมิ่นประมาท เพราะเป็นการปิดปากประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์ โดยให้เหลือโทษทางแพ่งอย่างเดียว สอดคล้องกับหลักสากลในปัจจุบันที่ทั่วโลกเห็นแล้วว่า ไม่มีใครควรติดคุกเพราะการแสดงความคิดเห็น ต่อให้ผิดหมิ่นประมาท ควรเป็นแค่โทษทางแพ่ง เรื่องนี้เราเสนอทั้งแพคเกจ รวมทั้ง ม.112 ด้วย โดยสิ่งนี้เราทำไปไม่ใช่เพื่อการหาเสียง เราทำไปเพราะว่าตอบสนองต่อสถานการณ์ ปัญหาทางการเมืองสังคมที่เป็นจริงในปัจจุบันด้วย เรื่องนี้เป็นจุดยืนที่เหมือนเดิมสำหรับพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล เราคงจะผลักดันการแก้ไขกฎหมาย หรือทบทวนกฎหมายที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ส่วนความท้าทายในเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น “ชัยธวัช” ยืนยันว่า ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้ เรามีปัญหาหลายเรื่องในสังคมไทยที่เราทราบกันดีว่าเป็นปัญหา แล้วควรจะมีการแก้ไขปรับปรุง แต่ที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจทางการเมือง พรรคการเมือง นักการเมือง ไม่กล้าที่จะพูดถึง ไม่กล้าที่จะแตะต้อง ไม่กล้าที่จะเสนอในสิ่งที่ควรจะเป็น คิดว่าสิ่งนี้เป็นเจตนารมณ์ตั้งแต่เป็นรากฐานความคิดตั้งแต่ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่
“คำถามใหญ่คือ เราจะมีพรรคการเมืองเพิ่มอีกพรรคทำไม ถ้าเราทำเหมือนกับพรรคการเมืองอื่น ๆ เต็มที่ก็สรรหานโยบายที่จะมาสร้างความนิยมกับประชาชน และมีบทบาททางการเมือง แต่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงรากฐาน ที่นำประเทศไปสู่อนาคตได้จริง ๆ มันไม่มีประโยชน์ เราไม่ได้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อชนะการเลือกตั้ง เราอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง เราอยากนำพาประเทศไปสู่ความก้าวหน้า แก้ไขความผิดพลาดในอดีตให้มันถูกต้อง อยากสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาในระบบรัฐสภาต่อพรรคการเมือง และต่อนักการเมืองด้วย มันควรมีนักการเมือง พรรคการเมืองที่กล้าหาญ มีเจตจำนงมุ่งมั่นในสิ่งที่ควรจะเป็น และถูกต้อง ไม่ใช่คิดแต่ว่า นี่ก็ไม่กล้าแตะ กลัวเสียคะแนน เสียประโยชน์ หรือสูญเสียตำแหน่งทางการเมืองต่อไป อย่าไปมองเฉพาะกรณี” ชัยธวัช ยืนยัน
เลขาธิการพรรคก้าวไกล ขยายความด้วยว่า เรื่อง ม.112 เองเป็นเรื่องที่เราตัดสินใจแสดงจุดยืน และข้อเสนอต่อสังคม เมื่อเห็นว่าเป็นปัญหาอย่างหนักหน่วงไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้ฐานะนักการเมือง หรือพรรคการเมือง เราอยู่เฉยไม่ได้ เราตั้งคำถามกับตัวเองว่ามันเป็นปัญหาใหญ่แบบนี้ได้อย่างไร ถ้าเราไม่พูดอะไรกับมันเลย ไม่บอกว่ามันเป็นปัญหา ควรแก้ไขอย่างไร มันไม่มีความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองนี้ (อดีตพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล)
ด้วยข้อเสนอ “แหลมคมทางการเมือง” ในช่วง 3 ปีเศษที่ผ่านมา ทำให้สังคมมองว่า “พรรคก้าวไกล” มีศัตรูมากกว่ามิตร ตรงนี้ถือเป็นจุดอ่อน และจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร “ชัยธวัช” อธิบายว่า เราให้ความสำคัญกับทุกเรื่อง เราสนใจปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคม เรามีหลายประเด็นที่ผลักดันไปพร้อม ๆ กันได้ เราทำหลายเรื่องมาก ไม่ได้เน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพียงแต่ที่คนเห็นว่าเราเน้นเรื่องข้างต้น เพราะคนอื่นไม่กล้าแตะต้องมัน แต่เราไม่ได้เน้นประเด็นทางการเมืองแหลมคมเท่านั้น เราทำทุกเรื่องที่พรรคการเมืองควรจะทำ ต้องเคลียร์อันนี้ก่อน
“เท่ากับเราไม่ประนีประนอมหรือไม่ เราคิดว่าไม่ใช่ขนาดนั้น ทุกเรื่องต้องยอมประนีประนอมอยู่แล้ว ถ้าเราคิดถึงความสำเร็จในทางปฏิบัติหลายเรื่อง เราต้องผ่อนปรน หลายเรื่องต้องมีการต่อรองกันได้ ยอมกันได้ แค่นั้นแค่นี้ แต่มันไม่ใช่เท่ากับว่า เราไม่กล้าพูดในสิ่งควรจะเป็น แสดงจุดยืนที่ควรจะเป็น แต่การทำงานก็ธรรมดา ตอนนี้เป็นฝ่ายค้าน ไม่ใช่ฝ่ายบริหาร ก็ต้องยอมกันบางเรื่อง อยากผลักดันกฎหมายของเรา ก็ต้องประนีประนอม ช่วยเหลือแลกเปลี่ยนในสิ่งที่ถูกต้องยอมได้ เพื่อให้ทางนู้นได้ทางนี้ได้ประชาชนได้ เพราะการทำงานร่วมกัน การไม่สุดขั้วเป็นเรื่องปกติ” ชัยธวัช ยืนยัน
ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลกับ “พรรคเพื่อไทย” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เป็นไปได้หรือไม่ เลขาธิการพรรคก้าวไกล ตอบว่า สำหรับก้าวไกลเราพร้อมอยู่แล้ว ตอนนี้เรามองตัวเองมากกว่าจะทำอย่างไรให้ชนะการเลือกตั้งให้มากที่สุด สิ่งนี้ทำให้พรรคก้าวไกลมีความหมายในทางการเมือง ขึ้นอยู่กับฉันทามติของประชาชน หากประชาชนเห็นว่าสิ่งที่ก้าวไกลทำ สิ่งที่ก้าวไกลคิด เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ประชาชนก็ให้เสียงเรามาเอง และเสียงเรานี่แหละ ถ้าเราได้รับเสียงมาก เราก็มีน้ำหนักมาก ได้เสียงน้อยก็น้ำหนักน้อย นี่คือความเป็นจริงทางการเมือง ไม่มีปัญหาในการทำงานกับพรรคร่วมฝ่ายค้านปัจจุบัน เรามีจุดร่วมทางการเมืองร่วมกันอยู่ ธรรมดาแต่ละพรรคมีจุดร่วม จุดต่าง
สุดท้ายจุดยืนของ “ก้าวไกล” คือการเปลี่ยนแปลงสังคมระดับฐานราก จะมีการประนีประนอมคุยกับ “คนเห็นต่าง” ในเรื่องเหล่านี้อย่างไร “ชัยธวัช” กล่าวว่า จริง ๆ ไม่ใช่เฉพาะพรรคการเมือง แต่พูดถึงคนทั้งสังคม เราไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องการหาเสียงเลือกตั้ง การได้เก้าอี้ ส.ส.เท่าไหร่ เราให้ความสำคัญมาก ๆ กับการทำงานความคิดกับคนในสังคม ตั้งแต่อนาคตใหม่ถึงปัจจุบัน ไม่ใช่แค่การพูดคุยกับพรรคการเมือง หรือขั้วการเมืองที่เห็นแตกต่างกัน แต่ทั้งสังคมด้วย หากจะเปลี่ยนได้จริง ๆ มันต้องทำให้ความคิดทั้งสังคมมันเปลี่ยน
แน่นอนการเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐาน หรือการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ไม่ใช่เกิดได้ในเร็ววัน หรือเกิดด้วยทางลัดทางการเมือง มันไม่มี ที่จะไปหักเอา ความเป็นจริงไม่มีใครได้ดั่งใจทุกอย่าง ไม่ว่าจะอยู่ขั้วการเมืองไหน หรือคนกลุ่มไหน สุดท้ายสังคมต้องปรับเข้าสู่จุดสมดุลของมัน
ดังนั้นภารกิจของอดีตพรรคอนาคตใหม่จนถึงพรรคก้าวไกล คือร่วมกันเข้าไปเอาความคิดของประชาชน เอาผลประโยชน์ประชาชน เอาความคิดใหม่ ๆ ทางสังคม ความคิดก้าวหน้าเข้าไปปะทะ ประสาน เวทีทางสังคมโดยรวม และทางการเมือง โดยกระบวนการนี้ต้องพูดคุยแลกเปลี่ยน ปะทะเห็นต่างกัน แต่เชื่อว่าสักวันหนึ่งจะนำไปสู่จุดสมดุลใหม่ ซึ่งจุดสมดุลนี้หน้าตาเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่เชื่อว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปอย่างตามที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการ เป็นการปะทะนำไปสู่จุดสมดุล หรือฉันทามติใหม่
“นี่คือโจทย์ใหญ่มากกว่าใครจะได้ ส.ส.กี่คนอีก หลังจากนี้สังคมไทย ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมด้วย อะไรคือจุดลงตัวที่ทุกฝ่าย แม้จะมีผลประโยชน์ ความคิดแตกต่างกัน แต่ยอมรับอยู่ร่วมกันได้ หากหาสิ่งนี้ไม่ได้ ทำให้การเมืองมันวุ่นวายไปอีกนาน ตอนนี้เราติดหล่มตรงนี้อยู่ ปัญหาไม่ใช่แค่ว่า นายกฯชื่อประยุทธ์ ปัญหาใหญ่คือเรื่องนี้ (จุดสมดล) จริง ๆ” ชัยธวัช กล่าวทิ้งท้าย