จับตา ป.ป.ช.ถกปมเปิดเผยทรัพย์สิน “ประยุทธ์” เหตุศาล รธน.ชี้ “นายกฯขาดตอน”
เลขาฯ ป.ป.ช.เผยปมยื่นทรัพย์สิน-วาระ 8 ปี “ประยุทธ์” ตีความกฎหมายคนละฉบับ ต้องรอ จนท.สังเคราะห์เรื่องก่อนชงที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่วินิจฉัยควรเปิดเผยหรือไม่ เหตุที่ผ่านมามองเป็นการนั่งเก้าอี้ต่อเนื่องกัน
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2565 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” ถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการขาดตอนจากกัน ให้เริ่มนับตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 คือวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน และ ป.ป.ช.ต้องเปิดเผยหรือไม่ ว่า ต้องย้อนกลับไปเดิมก่อนว่า ป.ป.ช. มีอำนาจตีความวินิจฉัยตามกฎหมาย ป.ป.ช. (พ.ร.ป.ป.ป.ช.) มีบทเฉพาะกาลไว้เกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อเนื่อง เรามานั่งดูกฎหมาย 2 ช่วงคือ กฎหมายเก่าปี 2542 และกฎหมายใหม่ปี 2561 โดยนัยของกฎหมาย การที่จะวินิจฉัยว่า กรณีการเข้าดำรงตำแหน่งกับการพ้นตำแหน่ง ในกฎหมายใหม่ มาตรา 105 มีเจตนารมณ์ไม่ต้องการให้ยื่นซ้ำที่เคยยื่นไว้แล้ว แม้พ้นตำแหน่ง หากภายใน 1 เดือนกลับมาดำรงตำแหน่งใหม่ ไม่ต้องยื่นต่อ
นายนิวัติไชย กล่าวอีกว่า พอย้อนกลับมาดูของเดิมที่วินิจฉัย อาจตีความแตกต่างกันระหว่าง ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ แต่หลักการวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่ง สมมติ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยผูกพันทุกองค์กร แต่ ป.ป.ช. เคยมีแนววินิจฉัยไปแล้วในเรื่องนี้ นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินไว้แล้วตอนดำรงตำแหน่งปี 2562 เพื่อเป็นหลักฐาน ไม่ใช่ไม่ยื่น แต่ประเด็นอยูที่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. มองว่า เป็นการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกัน ไม่จำเป็นต้องประกาศเปิดเผย ดังนั้นในส่วนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หลังจากนี้คือมีประเด็นปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประยุทธ์ กรณีรับตำแหน่งปี 2562 หรือไม่
นายนิวัติไชย กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. คงจะสังเคราะห์ประเด็น ก่อนจะนำเสนอแก่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาต่อไป แต่ไม่สามารถตอบแทนได้ว่าจะชงเรื่องไปวันไหน หรือเสร็จเมื่อใด เพราะต้องให้เจ้าหน้าที่ประมวลเรื่องเข้ามาก่อน เนื่องจากไม่ใช่มีแค่กรณีตำแหน่งนายกฯ แต่มีอีกหลายตำแหน่งที่มีลักษณะแบบนี้ เช่น กรณีรองนายกฯ กรณีรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันตั้งแต่สมัย คสช.
“ส่วนแนวทางอย่างไรต่อไป เป็นเรื่องที่กรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัย ผมคงไม่สามารถตอบแทนได้ แต่ตอนนี้มีแค่ประเด็นเดียวคือต้องเปิดเผยบัญชีหรือไม่ เพราะการยื่นบัญชีทรัพย์สินของทุกท่าน ยื่นมาปกติไม่ได้ขัดกฎหมายอะไร” นายนิวัติไชย กล่าว