ปูแผนซีเคียวริตี้ เอเปค 2022 ตร.-กองทัพระดม "มือพระกาฬ"
หากการจัดประชุมผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค วันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 นี้ผ่านพ้นไปด้วยดี นอกจากสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยแล้ว ยังมุ่งหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ซึ่งจะเป็นผลงานชิ้นส่งท้ายของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก่อนยุบสภา
งวดเข้ามาทุกขณะ กับการประชุมผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC 2022) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน
อีกไม่กี่วันนับจากนี้ "ประเทศไทย" จะกลายเป็นศูนย์รวมของ ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค ที่จะมาพบหน้ากันครั้งแรกอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจ อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย เป็นต้น หลังก่อนหน้านี้ "โควิด-19" ระบาดทำได้เพียงจัดประชุมทางไกลผ่านจอภาพ หรือ Video Conference
โดย พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการ "หน่วยงานความมั่นคง" ดูแลการประชุมครั้งนี้ ให้ผ่านพ้นลุล่วงไปด้วยดี เพราะนอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยแล้ว ยังเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะได้ใช้ประโยชน์ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 ให้เกิดแนวทางเติบโตอย่างยั่งยืนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคการเดินทางและการท่องเที่ยว
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ซักซ้อมแผนแก้ไขปัญหาสถานการณ์วิกฤติและการเผชิญเหตุ รองรับการประชุมเอเปค 2565 เตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และชุดปฏิบัติการพิเศษ ซักซ้อมยุทธวิธีการปฏิบัติต่างๆ ในกรุงเทพฯ รองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และสามารถปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเป็นการจำลองในสถานการณ์เกิดเหตุคนร้ายก่อเหตุกราดยิง ที่หน้าศูนย์การค้า และยกระดับมีการเป็นจับตัวประกัน โดยถอดบทเรียนจากหลายเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น เช่น กรณีที่ศูนย์การค้าเทอมินอล 21 จังหวัดนครราชสีมา
ด้วยการส่งชุดปฏิบัติการพิเศษในการค้นหา และใช้เครื่องมือโดรนตรวจสถานการณ์ โดรนจับความร้อน ใช้รถควบคุมสั่งการ หรือ Mobile CCOC การเชื่อมต่อข้อมูลกล้อง CCTV จนสามารถเข้าคลี่คลายสถานการณ์ ช่วยเหลือตัวประกันได้อย่างปลอดภัย
สำหรับชุดปฏิบัติการพิเศษที่ใช้ในครั้งนี้ เป็นทีมเดียวกับที่ใช้ปฏิบัติจริงในวันประชุมผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค ประกอบด้วย “ชุดอรินทราช 26” จากกองบัญชาการตำรวจนครบาล “นเรศวร 261” จากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน “คอมมานโด” จากกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ “หนุมาน” จากกองบังคับการปราบปราม “สยบไพรี” จากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดฯ
นอกจากนี้ กองบัญชาการทัพไทย สนับสนุน ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) ติดตามความเคลื่อนไหว กลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างประเทศ และศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) จัดทีมฝีมือดีทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยพร้อมยานพาหนะ
โดยทำงานสอดประสานกับ 3 เหล่าทัพ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการข่าว โดยเฉพาะความเคลื่อนไหว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การตามประกบกลุ่มเป้าหมาย พร้อมส่งกำลังเสริมเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น กองทัพบก จัดกำลังพลจาก หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษเข้ามาสมทบ กองทัพเรือ จัดกำลังหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินลาดตระเวนทางน้ำ กองทัพอากาศ จัดกำลังหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน รับผิดชอบพื้นที่ภาคพื้น-ทางอากาศ
ทันทีที่อากาศยานผู้นำ 21เขตเศรษฐกิจเอเปคบินเข้าน่านฟ้าไทย กองทัพอากาศ จะทำหน้าที่ดูแลเส้นทางการบิน การวางแนวป้องกันตามแนวร่อนเครื่องบิน รวมถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยสนามบินอย่างหนาแน่น พร้อมจัดห้องรับรองอำนวยความสะดวกในทุกๆ ด้าน และเมื่อพ้นพื้นที่กองทัพอากาศ จะเป็นหน้าที่ของชุดรักษาความปลอดภัยของ ศรภ. และตำรวจ จนถึงพื้นที่เป้าหมาย
"เรื่องนี้สำคัญมาก ถือเป็นจุดรับแขกจุดแรก คือพื้นที่จอดอากาศยานของกองทัพอากาศ ซึ่งขณะนี้กำลังเคลียร์อากาศยานที่อยู่ในพื้นที่ ย้ายไปจอดที่ กองบิน 4 จ.นครสวรรค์ เพื่อให้มีพื้นที่ว่างรองรับเครื่องบินแขกต่างชาติ โดยตอนนี้มีที่จอดเพียง 6 จุด ซึ่งต้องหาเพิ่มให้มากกว่านี้ เพราะล่าสุดทราบว่าประเทศซาอุดิอาระเบีย จะมามากถึง 800 คน ผมยืนยันว่าการเตรียมสถานที่จอดอากาศยานไม่มีผลกระทบต่อประชาชน เพราะเป็นเรื่องของการรับแขก" พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทอ. ระบุ
สำหรับการดูแลรักษาความปลอดภัย กำลังตำรวจจะรับผิดชอบพื้นที่วงใน ส่วนกำลังทหารดูแลพื้นที่วงนอก ทั้งเส้นทางการเดินทางแขกวีไอพี สถานที่จัดการประชุม สถานที่พัก โรงแรม สถานทูตแต่ละประเทศ หรือสถานที่เป้าหมาย อื่นๆ พื้นที่สูงข่มบนตึก หรืออาคารสูง จะมีกำลังตำรวจ ทหาร คอยประจำการ
หากสถานที่จัดประชุม หรือโรงแรมที่พัก ติดกับแม่น้ำ จะเป็นหน้าที่ของกองทัพเรือ ในการลาดตระเวน พร้อมสนับสนุนเตรียมเครื่องมือตัดสัญญาณโดรนที่มีใช้อยู่ทุกเหล่าทัพ ซึ่งมีเป็นแพกเก็จในการดูแลรักษาความปลอดภัยอยู่แล้ว
"ผู้นำของต่างประเทศเดินทางมาไทย เราต้องดูแลความปลอดภัยขั้นสูงสุด ในส่วนประเทศมหาอำนาจบางประเทศ จะมีทีมรักษาความปลอดภัยเป็นของตัวเองติดตามมาด้วย ทำงานควบคู่กับทีมรักษาความปลอดภัยของไทย ซึ่งจะปฏิบัติงานอยู่วงนอก" แหล่งข่าวความมั่นคงระบุ
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานความมั่นคง ยังเกาะติดความเคลื่อนไหวมวลชนออกมาเรียกร้องในประเด็นด้านต่างๆ ทั้งเรื่อง การเมือง สิ่งแวดล้อม การเกษตร ตลอดจนถึงกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ พร้อมนำบทเรียนเหตุการณ์เมื่อปี 2552 มาใช้ กรณีม็อบคนเสื้อแดงบุกป่วนสถานที่จัดประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา จ.ชลบุรี ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ จนล่มไม่เป็นท่ามาแล้ว
โดยเฉพาะเมื่อเร็วๆนี้ กลุ่มเกษตรกรสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ หรือ สกน. หลายร้อยคน พยายามบุกเข้าไปในสถานที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 ที่มีเพื่อเรียกร้องรับฟังเสียงภาคประชาชนและการต่อต้านไม่ให้ผู้นำเอเปคทำข้อตกลงร่วมมือกับทางรัฐบาลไทยที่มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเขียว ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา
จนกลายเป็นที่มาคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ในที่ประชุมสภากลาโหมครั้งล่าสุด ให้เหล่าทัพ บูรณาการทำงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ วางมาตรการดูแลการประชุมผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค ให้เกิดความเรียบร้อยรัดกุม เพราะนอกจากสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยแล้ว ยังมุ่งหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ผลงานชิ้นส่งท้ายของรัฐบาลก่อนยุบสภา