ลุ้นกองทัพเลิก "เกณฑ์ทหาร" 12 ปี เกณฑ์ลด สมัครใจพุ่ง
ความต้องการทหารกองประจำการปี 2565 ที่ลดลงรวมถึงตัวเลขผู้สมัครใจเข้าเป็นทหารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การยกเลิก "เกณฑ์ทหาร" ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมไทยน่าจะอยู่ไม่ไกลนับต่อจากนี้
เริ่มเห็นเค้าลางเป็นรูปธรรมสำหรับการยกเลิก"เกณฑ์ทหาร" เปลี่ยนมาสมัครใจในอนาคต แนวทางการพัฒนากองทัพบกตามห้วงระยะเวลา 3 ปี นโยบายของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ( ผบ.ทบ.)ซึ่งสอดคล้องกับการปฏิรูปการบริหารจัดการและการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพปี 2560-2569
ทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดหน่วยให้มีขนาดเล็กลง ลดการใช้งบประมาณรายจ่ายของประเทศ การปรับลดอัตราทหารประจําการ โดยนํากําลังพลสํารองเข้ามาร่วมปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังดํารงสภาพความพร้อมรบให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน
เมื่อเร็วๆ นี้ "กองทัพบก" ได้แถลงผลงานประจำปี 2565 โดยหนึ่งในนั้น คือผลสัมฤทธิ์ การพัฒนาระบบการได้มาซึ่งทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) เพื่อมุ่งสู่การเป็นทหารด้วยความสมัครใจ ผ่านโครงการรับสมัครทหารกองประจำการโดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ ที่ดำเนินการมาเป็นปีที่สอง ระหว่าง 1 ธ.ค. 64-31 ม.ค. 65
ซึ่งผ่านการขบคิดของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ในช่วงนั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ.ปีแรกๆ หลังกองทัพถูกฝ่ายการเมืองรุกหนักหลายปีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรวบรัดผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร ของ พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีต ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ แต่ไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ไม่เซนต์รับรองเมื่อปี 2563
หรือแม้แต่การเข้าชี้แจงต่อ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 พล.อ.ณรงค์พันธ์ ก็ถูกฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะ กมธ.สัดส่วนพรรคก้าวไกล "พริษฐ์ วัชรสินธุ" หรือ ไอติม ไล่บี้อย่างหนักกับการยกเลิกการเกณฑ์ทหารในอนาคตว่าจะเกิดรูปธรรมอย่างไร
นโยบายค่อยเป็นค่อยไปแบบช้าๆ แต่ได้พร้าสองเล่มงาม ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้คนมาสมัครใจเป็นทหารที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เชื่อว่าจะเกิดความยั่งยืนเป็นรูปธรรมและไม่ส่งผลกระทบ สภาพความพร้อมรบ การปกป้องอธิปไตยและภารกิจอื่นๆ ครอบจักวาลของทหาร มากกว่ารวบรัด พลิกระบบอย่างเช่น ปรับเปลี่ยน พ.ร.บ.เกณฑ์ทหาร เพราะเกี่ยวข้องกับสิทธิมากมายหลายอย่าง รวมถึงงบประมาณของประเทศอย่างที่ฝ่ายการเมืองต้องการ
จึงเป็นที่มาแนวคิดสร้างแรงจูงใจให้ชายไทยที่มีใจรัก สมัครเข้าเป็นทหาร โดยสามารถเลือกหน่วยทหารที่จะประจำการได้ และเมื่อเข้ารับราชการครบ จะได้รับคะแนนพิเศษในการสอบเข้าเป็นนายทหารชั้นประทวน พร้อมให้โควตา 80% รับทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) เป็นนักเรียนนายสิบทหารบก และอนาคตจะปรับเป็น 100%
พ.ท.หญิง พัชรินทร์ จันทร์อาสา ผู้ช่วยโฆษกกองทัพบก เปิดเผยตัวเลขยอดเรียกเกณฑ์ทหาร ปีล่าสุด 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 58,330 นาย แบ่งเป็นกลุ่มที่สมัครผ่านโครงการทหารออนไลน์ 6,101 นาย และกลุ่มเข้ารับการตรวจเลือก 51,692 นาย มีผู้ร้องขอเข้ารับราชการในวันตรวจเลือก 21,046 นาย คงเหลือจับฉลากแดง 30,646 นาย ซึ่งมีจำนวนลดลงจากปี 2564 ถึง 18,749 นาย
"ขณะนี้เข้าสู่ปีที่ 3 ในการรับสมัครทหารออนไลน์ ซึ่งกองทัพบกได้พัฒนาและขยายโอกาสให้กับผู้ที่มีใจรักอยากเป็นทหารในหลายกรณี อาทิ กลุ่มในพื้นที่ห่างไกล กลุ่มที่อยู่ในการดูแลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งเริ่มรับสมัครตั้งแต่ 29 สิงหาคม 65 – 29 มกราคม 66" พ.ท.หญิง พัชรินทร์ กล่าวและว่า
ในปี 2565 ที่ผ่านมา กองทัพบกมีการปรับลดยอดทหารกองประจำการลงร้อยละ 10 ของจำนวนที่บรรจุจริง ภายในปีงบประมาณปี 2566 หรือจำนวน 12,000 นาย ตั้งแต่ผลัดที่ 1/2565 จนถึงผลัดที่ 2/2566 รวม 4 ผลัด ซึ่งทำให้ยอดเรียกเกณฑ์ลดลงอย่างมาก โดยในปีงบประมาณ 2566 กองทัพบกจะปรับปรุงเพื่อพัฒนาไปสู่ทหารกองประจำการสมัครใจในอนาคต
หากย้อนไปดูสถิติทหารกองประจำการก่อนหน้านี้ กองทัพมีความต้องการ ปีละประมาณ 80,000-100,000 คน (ขึ้นอยู่อัตราการเกิด) จัดสรรให้กองบัญชาการกองทัพไทย 1,900 นาย กองทัพบก 70,000 นาย กองทัพอากาศ 13,000 นาย กองทัพเรือ 6,000 นาย ส่วนที่เหลือให้แก่ กระทรวงกลาโหม เพื่อใช้ปฏิบัติหน้าที่ด้านความมั่นคง และรักษาอธิปไตยรอบประเทศ รวมถึงช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย
และจากข้อมูลย้อนหลัง 12 ปี พบชายไทยสมัครใจเข้าเป็นทหารพบว่า ปี 2553 จำนวน 22% ปี 2554 จำนวน 26% ปี 2555 จำนวน 30% ปี 2556 จำนวน 34% ปี 2557 จำนวน 33% ปี 2558 จำนวน 43% ปี 2559 จำนวน 46% ปี 2560 จำนวน 49% ปี 2561 จำนวน 43% ปี 2562 จำนวน 37% ปี 2563 จำนวน 44% ปี 2564 จำนวน 30%
สำหรับปี 2565 กองทัพบก เปิดเผยตัวเลขชายไทยสมัครเป็นทหารจำนวนมากถึง 10,915 คน คิดเป็น 75% ของอัตราที่เปิดรับ ซึ่งมีผู้สมัครมากกว่าปี 2564 ถึง 2 เท่า โดยผู้สมัครส่วนใหญ่ 90% อยู่ในกลุ่มอายุ 18-20 ปี ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 และ กองทัพภาคที่ 4 มีจำนวนผู้สมัครเกินยอดที่เปิดรับถึง 118 % และ 134% ตามลำดับ
ทั้งนี้ กองทัพบก ยอมรับว่าปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ชายไทยสมัครเข้าเป็นทหารลดลงในบางปีเกิดจากการโจมตีกองทัพของฝ่ายการเมือง ส่งผลต่อภาพลักษณ์ การใช้คำพูดดูหมิ่นดูแคลน รวมถึงเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นในหน่วยทหารถูกนำฉายซ้ำๆในโซเชียลมีเดีย แต่นโยบายเพิ่มแรงจูงใจของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ถือเป็นความสำเร็จที่จะนำไปสู่การการตรวจเลือกทหารแบบสมัครใจทั้งระบบในอนาคต
โดยสิ่งชี้วัดคือความต้องการทหารกองประจำการปี 2565 ที่ลดลงรวมถึงตัวเลขผู้สมัครใจเข้าเป็นทหารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขในอดีต การยกเลิกเกณฑ์ทหาร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมไทยน่าจะอยู่อีกไม่ใกล้ไม่ไกลนับต่อจากนี้