สตง.ชำแหละงบ 1.7 หมื่นล. “การประปาฯ-เอกชน” ร่วมทุนผลิตน้ำ ไม่คุ้มค่า ส่อเหลว
สตง.ชำแหละงบประมาณกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท “การประปาฯ” ร่วมลงทุน “เอกชน” ผลิต-จำหน่ายน้ำ 20 สาขา พื้นที่ 11 จังหวัด ไม่คุ้มค่า ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ส่อล้มเหลว
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่บทสรุปผู้บริหาร กรณีการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ดำเนินโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535-2539) และนโยบายของรัฐบาลในการเร่งรัดขยายการลงทุนด้านบริการพื้นบานให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
โดย กปภ.ดำเนินโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการดังกล่าวจำนวน 12 โครงการ ในภาพรวมมีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2538 สิ้นสุดปี 2577 วงเงินลงทุนตามโครงการทั้งหมดไม่น้อยกว่า 17,676 ล้านบาท โดยดำเนินการเพื่อจัดหาแหล่งน้ำดิบที่มีคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสม การผลิตน้ำประปาที่มีคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม การจัดส่งและจัดจำหน่ายน้ำประปาให้แก่ผู้ใช้น้ำ จำนวน 1,078,984 ราย ในพื้นที่ให้บริการของ กปภ. 20 สาขา พื้นที่ 11 จังหวัด การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยการตรวจสอบดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ 2564 กำหนดทิศทางและเป้าหมายในการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ความสำคัญกับโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP)
โดยการดำเนินงานให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ. จำนวน 12 สัญญา ปีงบประมาณ 2559-2564 ผลปรากฏว่า การดำเนินโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของ ปภ.ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ การบริหารจัดการน้ำสูญเสียในความรับผิดชอบของ กปภ.ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด การกำหนดกำลังการผลิตน้ำประปา และปริมาณซื้อน้ำขั้นต่ำไม่พิจารณาถึงการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย การกำหนดรูปแบบการปรับราคาซื้อน้ำประปาไม่สอดคล้องกับการปรับราคาจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ. และการจัดหาแหล่งน้ำดิบในความรับผิดชอบของ กปภ.ไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในสัญญา ส่งผลให้คุณภาพน้ำประปาในความรับผิดชอบของบริษัทเอกชนคู่สัญญา ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
สตง.สรุปข้อตรวจพบสำคัญ เช่น การบริหารจัดการน้ำสูญเสียในความรับผิดชอบของ กปภ.ไม่เป็นตามเป้าหมายที่กำหนด โดยจากการตรวจสอบ 20 สาขา กปภ.เบื้องต้น ตั้งแต่ปี 2559-2564 พบว่า มีปริมาณน้ำสูญเสีย 17 สาขา โดยมี 13 สาขา จัดการน้ำสูญเสียอย่างไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้พบว่า กปภ.จำนวน 15 สาขา ไม่สามารถบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียได้ตามเป้าหมายอย่างน้อย 1 ปี จาก 5 ปี
ทั้งนี้ กปภ.สาขาที่ให้บริษัทเอกชนร่วมลงทุนดำเนินการบริหารจัดการน้ำสูญเสียและดูแลระบบจ่ายน้ำประปาตามสัญญาจำนวนทั้งหมด 5 สาขา มีผลการบริหารจัดการน้ำสูญเสียไม่เป็นไปตามเป้าหมายตลอด 5 ปี ในขณะที่ กปภ.สาขารับผิดชอบบริหารจัดการน้ำสูญเสียเอง ได้จ้างบริษัทเอกชนที่ไม่ใช่บริษัทที่ร่วมลงทุนจำนวน 13 สาขา ไม่สามารถดำเนินการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียได้ตามเป้าหมายที่กำหนด 5 ปี
ขณะเดียวกันการกำหนดกำลังการผลิตน้ำประปาและปริมาณซื้อน้ำขั้นต่ำไม่พิจารณาถึงการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย การกำหนดรูปแบบการปรับราคาซื้อน้ำประปาไม่สอดคล้องกับการปรับราคาจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ. การจัดหาแหล่งน้ำดิบในความรับผิดชอบของ กปภ.ไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในสัญญา ส่งผลให้คุณภาพน้ำประปาในความรับผิดชอบของบริษัทเอกชนคู่สัญญาไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
โดยผลการตรวจสอบข้างต้น สรุปได้ว่า มีสาเหตุสำคัญเกิดจากการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ เกี่ยวกับการวิเคราะห์ความเสี่ยงและจัดทำแผนการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อประกอบการพิจารณาก่อนดำเนินโครงการให้เอกชนร่วมลงทุน และการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ยังไม่ครอบคลุมความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการ และ กปภ.สาขา ขาดความพร้อมในการดำเนินการบริหารจัดการน้ำสูญเสีย และดูแลระบบจ่ายน้ำประปาตามสัญญา ด้านจำนวนบุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์ รวมถึงขั้นตอนในการจัดซื้อจัดจ้าง และการขอรับจัดสรรงบประมาณ
โดยผู้ว่า สตง.มีข้อเสนอแนะว่า
1.การศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงของโครงการ กรณีที่ กปภ.มีการพิจาณณาดำเนินโครงการร่วมลงทุนและการแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้แก่ กปภ. ในอนาคตให้ครอบคลุมความเสี่ยง ได้แก่ ความเสี่ยงด้านการจัดหาแหล่น้ำดิบ ความเสี่ยงด้านคุณภาพของน้ำประปา ความเสี่ยงจากการผลิตและบำรุงรักษาระบบส่งประปา ความเสี่ยงในเรื่องการบริหารจัดการน้ำสูญเสีย เพื่อให้สามารถประมาณการปริมาณการผลิตน้ำประปา และกำหนดปริมาณน้ำขั้นต่ำใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริง เป็นต้น รวมถึงพิจารณาการแบ่งรับความเสี่ยงระหว่าง กปภ.และบริษัทเอกชนคู่สัญญา รวมถึงจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงที่ กปภ.ต้องรับภาระ กำหนดให้มีการติดตามผลงาน และดำเนินการแก้ไขปัญหาระยะเวลาที่ร่วมลงทุน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่างทางการเงิน และบรรลุวัตถุประสงค์ของการร่วมลงทุน
2.สำรวจปัญหาและความเสี่ยงของการดำเนินโครงการให้สิทธิเอกชนดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของ กปภ.ในขั้นตอนที่ กปภ.รับผิดชอบตามสัญญาให้เอกชนร่วมลงทุน เช่น การบริหารจัดการน้ำสูญเสีย การจัดหาแหล่งน้ำดิบที่มีคุณภาพ การกำหนดรูปแบบราคาค่าน้ำประปา และศึกษาวิเคราะห์ต้นและความคุ้มค่าในการแก้ไขปัญหาตลอดอายุสัญญาร่วมทุน เพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยง และแผนบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของ กปภ. การขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหา พิจารณาทบทวนแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัทเอกชนคู่สัญญา กำหนดแนวทางการติดตามแก้ไขปัญหา เพื่อใช้ในการปรับปรุงแผนให้สอดคล้องกับบริบทการดำเนินงานของ กปภ. เพื่อให้บริการน้ำประปาที่มีคุณภาพ และเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และบรรลุวัตถุประสงค์ของการร่วมลงทุน