"วัชระ" โต้ "ซิโน-ไทย" พร้อมชี้ผลงานก่อสร้างรัฐสภา ไม่ตรงสัญญา-บกพร่องอื้อ

"วัชระ" โต้ "ซิโน-ไทย" พร้อมชี้ผลงานก่อสร้างรัฐสภา ไม่ตรงสัญญา-บกพร่องอื้อ

‘วัชระ’ ร่ายยาวโต้ ‘ซิโน-ไทย’ เป็นข้อๆ ซัดแถลงข่าวก่อสร้างอาคารรัฐสภาเป็นเท็จ อัดจุดบกพร่องอื้อ ลั่นถ้าเป็นผู้ถือหุ้นใหม่ สั่งปลดกรรมการผู้จัดใหญ่ทันที เหตุไร้ประสิทธิภาพ

         นายวัชระ เพชรทอง สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์​ แถลงตอบโต้ นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจึเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น กรณีปัญหาต่อการก่อสร้างโครงการรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบ โดยย้ำถึงการทำหน้าที่ของประชาชนในการตรวจสอบงานก่อสร้าง ไม่ใช่สร้างความพยามขัดขวางการส่งมอบงานก่อสร้าง ทั้งนี้ที่ผ่านมา บริษัท ซิโน-ไทยฯ ได้ทำหนังสือส่งมอบงานแล้วต่อนายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ รองเลขาธิการสภาฯ ฐานะประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างฯ เมื่อวันที่ 4 กรกฏาคม แต่ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ไม่รับมอบงาน

 

           นายวัชระ กล่าวด้วยว่า กรณีที่พบความเสียหายในงานก่อสร้างและอ้างว่าซ่อมแซมแก้ไขแล้วนั้น ถือเป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างตามสัญญา

 

            "ที่อ้างว่ามีกระบวนการกดดันและสร้างกระแส ทำให้การตรวจรับงานไม่เป็นไปตามธรรมชาตินั้นเป็นเท็จ ถ้าบริษัททำอย่างตรงไปตรงมา ก่อสร้างตามแบบและสัญญาทุกประการ ก็ไม่มีใครปฏิเสธที่จะไม่รับงานได้ และที่ผ่านมาอาจมีกระบวนการการครอบงำข้าราชการให้ปฏิบัติในสิ่งที่ขัดต่อหลักกฎหมายและธรรมาภิบาล เช่น นายสาธิต เรียกประชุมเฉพาะกรรมการเสียงข้างมากเข้าประชุมร่วมกับเอกชนและบุคคลที่มีตำแหน่งทางการเมือง โดยไม่เชิญกรรมการเสียงข้างน้อย 3 คนเข้าประชุมด้วย ส่อเจตนาอะไรและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่" นายวัชระ กล่าว

 

          นายวัชระ กล่าวอีกว่า กรณีที่อ้างว่าหากมีกระบวนการกลั่นแกล้งนั้น ขอยืนยันว่าไม่มีการกลั่นแกล้งใดๆ  ตนและนายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีตส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่พลเมืองดีปกป้องเงินภาษีของประชาชนและประเทศชาติ  ขณะที่นายภาคภูมิ แถลงว่าบริษัทฯ ได้ทำงานตามแบบและตามสัญญานั้นเป็นเพียงข้ออ้างของบริษัทเพราะความจริงคือบริษัทไม่ทำตามสัญญาและข้อกำหนด หลายประการ อาทิ การจ้างช่วงบริษัท , ไม้ตะเคียนทอง, เสาไม้สักรอบสภา 4,200 ต้น, ผนังห้องประชุมกรรมาธิการ มีเจตนาสร้างผิดแบบ , สายไฟฝังดิน 2,700 เมตร ไม่ทำตามแบบ, ต้นไม้ที่ตายนับร้อยต้น, ประตูไม้กันเสียงห้องประชุมกรรมาธิการ 148 บาน

 

 

           "บริษัทเซ็นสัญญาก่อสร้าง 900 วัน วงเงิน 12,280 ล้านบาท เบิกจ่ายไปเกือบหมดแล้วได้ขยายเวลาก่อสร้างถึงสิ้นปี 2563 ขัดมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้สร้างให้เสร็จภายในปี 62 ได้ขยายเวลาก่อสร้าง 4 ครั้ง รวม 1,864 วัน และวันนี้เป็นวันก่อสร้างสภาวันที่ 3,422 วัน ต้องคิดค่าปรับจำนวน 658 วัน การก่อสร้างก็ยังไม่แล้วเสร็จ และ 9. เว็บไซต์เกี่ยวกับงานก่อสร้างของสำนักงานสภาผู้แทนราษฎร มีไว้ทำไม ไม่เคยลงข้อมูลใหม่ที่เป็นปัจจุบันหรือแจ้งประเด็นสำคัญเลยถ้าทางราชการจะไม่ปรับบริษัทนี้แม้แต่บาทเดียว ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน บริษัทกล้ารับประกันหรือไม่ว่าน้ำจะไม่รั่วอีกทั้งหลังคาและชั้นใต้ดิน" นายวัชระ กล่าว