วัดกึ๋น"นายร้อย-นายพัน" กฎใหม่ กลาโหม "เกษียณตามชั้นยศ"
ในอนาคต "ทหาร" นอกจากต้องเก่งทั้ง "บุ๋น-บู๊" แล้วต้องมีความรู้ความสามารถรอบด้าน สอดรับกับภัยคุกคามทั้งรูปแบบเก่า รูปแบบใหม่ และภารกิจครอบจักรวาลของกองทัพ ที่จะชี้วัดว่าใครได้อยู่ต่อ หรือต้องหิ้วกระเป๋าออกจากกองทัพไป
"กองทัพ"เป็นองค์กรที่มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม เมื่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิตรับราชการทหารเดินมาถึงจุดหนึ่งและไปต่อไม่ได้ เนื่องจากตำแหน่งที่มีจำกัด ไม่เพียงพอรองรับบุคลากรภายในกองทัพ "เกษียณตามชั้นยศ" โดยไม่ต้องรอให้อายุครบ 60 ปี คือแนวทางที่จะนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้
"กระทรวงกลาโหม" อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ที่จะให้มีการเกษียณตามชั้นยศ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการปฏิรูปการบริหารจัดการและการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพปี 2560-2569 ควบคู่ไปกับการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรในกองทัพ
ในทุกๆปี "กระทรวงกลาโหม" ปรับลดทหารชั้นนายพลของเหล่าทัพ 5-10% โดยริเริ่มตั้งแต่ยุค สมัคร สุนทรเวช เป็น นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เมื่อปี 2551ต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน มีการยุบหน่วยที่ไม่จำเป็น หรือ รวมหน่วยในภารกิจที่ใกล้เคียงกัน ที่มี ผบ.หน่วยเป็นทหารระดับ "พลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี" ขึ้นไป
รวมถึงลดการแต่งตั้ง นายทหารปฏิบัติการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ชำนาญการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ และเมื่อเกษียณราชการจะไม่บรรจุเพิ่มเพื่อให้เป็นไปตามแผนของกระทรวงกลาโหม ลดให้ได้ 50% ในปี 2570 และมีแผนจะลดต่อเนื่องไปอีก
เพราะเดิมทีมีทหารชั้นนายพลที่นั่งประจำในตำแหน่งดังกล่าวรวมกันทุกเหล่าทัพ จำนวน 768 นาย ในปี 2552-2564 ลดลงจำนวน 253 นาย ประหยัดงบประมาณด้านกำลังพลประมาณ 640 ล้านบาท และในปี 2565-2571 จะลดลงไปอีก 141 นาย
อย่างไรก็ตามตำแหน่งทหารชั้นนายพลมีสัมพันธ์กับนายทหารที่จบจาก โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) จึงมีการลดการผลิตนายทหารลงไปครึ่งหนึ่งในแต่ละรุ่น นักเรียนนายร้อย เหลือประมาณ 200 กว่านาย นักเรียนนายเรือ เหลือ 80 นาย นักเรียนนายเรืออากาศ เหลือ 80 นาย พร้อมปรับปรุงหลักสูตรการเรียนสอดรับภัยคุกคามรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่
นอกจากนี้ "กระทรวงกลาโหม" ยังพบข้อมูลว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังมี ทหารยศนายร้อยจนถึงระดับพันเอกพิเศษเป็นจำนวนมาก ที่มีความสามารถและเก่งในด้านต่างๆ แต่ไม่สามารถไปต่อได้เนื่องจากกองทัพเป็นองค์กรที่มีลักษณะรูปสามเหลี่ยม ทำให้ถึงทางตัน
เดิมที กระทรวงกลาโหม มีแนวทางลดกำลังพล คือ 1. เกษียณอายุราชการ 60 ปี ไม่เปิดบรรจุในตำแหน่งนั้นๆ หรือ บรรจุให้น้อยลง พิจารณาความจำเป็นเป็นหลัก 2.ให้แรงจูงใจด้วยการให้ออกหรือ early retire
แต่ปัจจุบันเตรียมจะเปิดให้มีการเกษียณตามชั้นยศ เช่น ทหารยศนายร้อย หากไม่สามารถเติบโตเข้าเป็นทหารระดับนายพันได้ ก็ต้องเกษียณ ส่วน ทหารยศนายพัน หากไม่สามารถเติบโตเป็นทหารยศนายพลได้ ก็ต้องเกษียณเช่นเดียวกัน
โดยจะให้แต่ละหน่วยหรือเหล่าทัพ ซึ่งอาจตั้งเป็นรูปแบบคณะกรรมการ ประเมิน 1.ขีดความสามารถของทหารนายร้อยและนายพันแต่ละคนว่าสามารถไปต่อได้หรือไม่ หากไม่สามารถไปต่อได้ หรือไม่ก้าวหน้าไปกว่านี้แล้ว ก็ต้องแนะนำให้เข้าโครงการเกษียณตามชั้นยศ
2. หาแรงจูงใจ ทั้งเรื่องค่าตอบแทน ที่ต้องสัมพันธ์กับงบประมาณเพื่อให้ไปตั้งตัว การสร้างงาน ให้ทหารเกษียณตามชั้นยศ ได้ไปต่อ เพื่อไม่ให้สะดุดและส่งผลกระทบต่อครอบครัว หรือ ภาระที่รับผิดชอบที่มีในปัจจุบัน ด้วยการประสานงานกับภาคเอกชนหาตำแหน่งงานที่เหมาะสม หรือเข้าฝึกอบรมเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ
นั้นเท่ากับว่าเมื่อกระทรวงกลาโหม เปิดให้มีการเกษียณตามชั้นยศ จะส่งผลให้นายทหารแข่งขันกันทำงาน เพื่อพัฒนาตัวเองให้มีความรู้ความสามารถ รวมถึงการประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด เพราะต้องผ่านการประเมินและเกณฑ์ชี้วัดตามที่กำหนด
ดังนั้นอนาคต "ทหาร" นอกจากต้องเก่งทั้ง "บุ๋น บู๊" ยังต้องมีความรู้ความสามารถรอบด้าน ให้สอดรับกับภัยคุกคามทั้งรูปแบบเก่า รูปแบบใหม่ และภารกิจครอบจักรวาลของกองทัพ ที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าใครจะได้อยู่ต่อ หรือต้องหิ้วกระเป๋าออกจากกองทัพไป