ประยุทธ์-ม.112-กัญชาเสรี "3 ปม"หักเหลี่ยม ชิงแต้ม-จับขั้ว
ปม "ประยุทธ์-ม.112-กัญชาเสรี" ถูกชูเป็นประเด็นนำของ “พรรคการเมือง” บางปมต้องหักเหลี่ยมเฉือนคมในขั้วเดียวกันเอง บางปมสามัคคีกันขย่มขั้วตรงข้าม เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง จากนี้ไปต้องจับตาทุกนโยบาย เพราะมีนัยถึงการจับขั้วตั้งรัฐบาลหน้า
การเมืองเข้าสู่เกมช่วงชิงความได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง แต่ละพรรคเริ่มจับจองนโยบายที่คาดว่าจะโกยแต้มฐานเสียงของตัวเอง พร้อมวางยุทธศาสตร์สร้างกระแสนิยมปูทางไปสู่ชัยชนะ
โดยมี 3 ประเด็นหลักที่พรรคการเมืองหยิบยกมาช่วงชิงคะแนน
ปมแรก "เอาหรือไม่เอาประยุทธ์" เพราะชื่อของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" อยู่ตรงกลางความขัดแย้ง และอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมา 8 ปี ส่งผลให้ความนิยมลดลง
แน่นอนว่า “ขั้วฝ่ายค้าน” อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ จะรณรงค์หาเสียง"ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์” สืบทอดอำนาจอีกต่อไป เก็บคะแนนคนเบื่อ “3 ป.” ซึ่งนับวันเริ่มมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้
“ขั้วรัฐบาล” อาทิ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา ยังออกลูกแทงกั๊ก เพราะเคยผิดสัญญามาแล้วในการเลือกตั้งปี 2562 ทั้ง “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รวมถึง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยประกาศบนเวทีดีเบตไม่จับมือกับ “พล.อ.ประยุทธ์” แต่สุดท้ายก็ตระบัดสัตย์
ที่สำคัญพรรคแดนสะตอ เคยได้บทเรียนจากคำประกาศไม่สนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” ของ “อภิสิทธิ์” จนทำให้คะแนนสวิงเทไปที่พรรคพลังประชารัฐ ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ต้องการเจาะพื้นที่ภาคใต้ แต่ชื่อของ “พล.อ.ประยุทธ์” ในพื้นที่ด้ามขวานยังขายได้-ขายดี จึงขอสงวนท่าทีเอาไว้
ปมสอง "แก้หรือไม่แก้ ม.112" มีเพียงพรรคก้าวไกล เพียงพรรคการเมืองเดียวที่ประกาศเป็นนโยบายต้องแก้กฎหมายอาญามาตรา มาตรา 112 เนื่องจากฐานเสียงหลักอยู่ที่ “คนรุ่นใหม่-ม็อบราษฎร” จึงจำเป็นต้องแสดงความชัดเจนในจุดยืน
โดย “แกนนำก้าวไกล” อ่านกระแสว่าหากไม่มีนโยบายแก้มาตรา 112 คะแนนเสียงจะหายไปเยอะ และจะโดนกระแสตีกลับจาก “ม็อบราษฎร” เพราะมีแกนนำ-แกนตามของม็อบ โดนฟ้องร้องเอาผิดคดีมาตรา 112 จำนวนมาก
ส่วนพรรคเพื่อไทยยังสงวนท่าที เลี่ยงไม่พูดเกี่ยวกับมาตรา 112 เพราะฐานเสียงของพรรคส่วนหนึ่งค่อนข้างคล้อยตาม “ม็อบราษฎร” แต่หากจะเอา “โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับบ้าน คงไม่กล้าชักธงรบกับ “ขั้วอนุรักษ์นิยม” ดังนั้นจึงยากที่จะเห็นพรรคเพื่อไทยเสนอแก้มาตรา 112
ตรงกันข้ามกับ “ขั้วพรรคร่วมรัฐบาล” ต่างออกมาแท็กทีมคัดค้านนโยบายดังกล่าว พร้อมเสนอหลักการรองรับว่าตัวกฎหมายไม่มีปัญหา แต่มีบางกลุ่มเจตนาทำให้เกิดปัญหา ด้วยการบิดเบือนกฎหมาย
ทว่าเหตุผลหลักของ “ขั้วพรรคร่วมรัฐบาล” คือการรักษาฐานเสียงของตัวเองเช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลาง และ กทม.หลายส่วนและบางช่วงวัย ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย “ทะลุฟ้า” ฉะนั้นการรักษาฐานเสียงเดิมเอาไว้จะเป็นประโยชน์มากกว่า ที่สำคัญการจะไปแย่งฐานเสียง “พรรคสีส้ม” คงยาก เพราะ “คนรุ่นใหม่” เลือกเทคะแนนให้ไปแล้ว
ฉะนั้นปมแก้มาตรา 112 จะเหลือเพียง “พรรคก้าวไกล” เพียงพรรคเดียวเท่านั้นที่อาจช่วงชิงคะแนนการเมืองเอาไว้ได้ แต่ก็อาจเสียแต้มในฐานอายุของ “กลุ่มวัยผู้ใหญ่ ไปจนถึงสูงวัย” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
ปมสาม "ผลักดันหรือไม่ผลักดันนโยบายกัญชาเสรี" แน่นอนว่า “ขั้วฝ่ายค้าน” อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ แท็กทีมคัดค้านกัญหาเสรี เนื่องจากมีแรงต้านจากเกือบทุกภาคส่วนของสังคม โดยมองว่า “คนไทย” ยังไม่มีความพร้อมในเรื่องดังกล่าว
ขณะเดียวกัน “ขั้วพรรคร่วมรัฐบาล” กลับเสียงแตก โดยพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศชัดไม่สนับสนุนกัญชาเสรี ตัดตอนแค่กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น เพราะพออ่านทิศทางออกว่า แรงต้านเริ่มมีสูง โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และบางพื้นที่ในภาคใต้
เช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ ออกลูกแทงกั๊ก เกรงใจพรรคภูมิใจไทย ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล จึงไม่มีท่าทีชัดเจนออกมา ซึ่งต้องจับตาการพิจารณา พ.ร.บ.กัญชา ซึ่งจะเกิดขึ้นในการเปิดสมัยประชุมสภาในเดือน พ.ย. นี้
ทำให้มีเพียงพรรคภูมิใจไทย เจ้าของนโยบายเพียงพรรคเดียวที่ออกตัวผลักดัน “กัญชาเสรี” อย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งเพราะเป็นนโยบายหาเสียงก่อนการเลือกตั้งปี 2562 จึงต้องพยายามทำให้สำเร็จ
ทั้ง 3 ปม ถูกชูเป็นประเด็นนำของ “พรรคการเมือง” บางปมต้องหักเหลี่ยมเฉือนคมในขั้วเดียวกันเอง บางปมสามัคคีกันขย่มขั้วตรงข้าม เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง
จากนี้ไปต้องจับตาทุกย่างก้าว ทุกนโยบาย ที่แต่ละพรรคจะนำมาใช้หาเสียงสู้ศึกเลือกตั้ง โดยมีนัยถึงการจับขั้วตั้งรัฐบาลหน้า