"ก้าวไกล" ปักธง ปฏิรูปกองทัพ "กลาโหม" กางแผนลดนายพล -เลิกเกณฑ์ทหาร
กลาโหม ให้ความสำคัญ การปฏิรูปกองทัพและเปิดกว้างฝ่ายการเมือง มีส่วนร่วม แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความมั่นคง เสถียรภาพ อธิปไตย ผลประโยชน์ของชาติและศักดิ์ศรีของประเทศ
เปิดตัวออกมาแล้วกับนโยบายชุดแรกที่ใช้สู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าของ "พรรคก้าวไกล" ภายใต้แนวคิด การเมืองไทยก้าวหน้าใน 9 ประเด็น โดยหนึ่งในนั้นยังคงพุ่งเป้าไปที่การ "ปฏิรูปกองทัพ" หลังเคยโกยคะแนนเป็นกอบเป็นกำในการเลือกตั้งปี 2562 ในนามพรรคอนาคตใหม่ ด้วยการชูธงยกเลิกการเกณฑ์ทหาร
มาครั้งนี้พรรคก้าวไกล หวังต่อยอดนโยบายเดิมทั้งการปรับโครงสร้างกองทัพให้กระชับ คล่องตัว ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร ลดจำนวนนายพล เพิ่มสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย รวมถึงยกเลิกระบบทหารรับใช้ ทำให้ทหารมีศักดิ์ศรีและปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพ
แม้การปฏิรูปกองทัพ กลายเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคม เนื่องจากพรรคก้าวไกลใช้เป็นนโยบายหาเสียง แต่ต้องยอมรับว่า "กลาโหม"มีแผนปฏิรูปกองทัพ มาก่อนหน้านั้น ตั้งแต่การลดทหารชั้นนายพล ที่ริเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2551 ยุค สมัคร สุทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ต่อยอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
แม้แต่แนวทางการเกณฑ์ทหาร ก็มีทั้งสองระบบ คือสมัครใจ และใช้วิธีการเกณฑ์ ด้วยการจับใบดำ ใบแดง และพยายามหาวิธีที่จะทำให้คนมาสมัครใจเป็นทหารครบ 100% ตามความต้องการของกองทัพในอนาคต โดยไม่ต้องเกณฑ์ ทั้งการหาแรงจูงใจในด้านต่างๆเพื่อไม่ให้กระทบต่องบประมาณจากภาครัฐมากกว่าการเพิ่มเงินเดือน สวัสดิการ ค่าครองชีพ ให้กลายเป็นภาระของประเทศ
พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า การปฏิรูปกองทัพเราดำเนินการตามแผนแม่บท การปฏิรูปการบริหารจัดการและการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพปี 2560-2569 ขณะเดียวกันเราก็มีแผนพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ ที่มุ่งพัฒนาบุคลากรและยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัยแบ่งเป็น 2 ส่วน
การปฏิรูปการบริหารจัดการและการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพ ที่จะต้องคำนึงถึงภัยคุกคาม โดยดูจากรอบๆประเทศและภัยคุกคามของภูมิภาค ที่จะต้องดูถึงเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องมีกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ที่เหมาะสม ในการแก้ปัญหาเหตุความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่รอบประเทศ ขณะเดียวกันเราก็ต้องสานความร่วมมือทางทหารกับมิตรประเทศไปพร้อมกัน
ดังนั้นเราไม่ได้มีกำลังที่เวอร์จนเกินไป เราคิดว่าเราจะจัดกำลังที่เหมาะสม ก็ต้องกลับมาดูโครงสร้างหน่วยเดิม หน่วยไหนที่มีภารกิจเหล่าทัพทับซ้อนต้องยุบรวม อะไรที่จะต้องปรับโครงสร้างใหม่ให้คล่องตัวรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่มีอยู่
พล.อ.คงชีพ กล่าวต่อว่า เมื่อมีการปรับโครงสร้างกองทัพแล้ว กำลังพลก็จะต้องลดลงด้วยในทุกระดับ และต้องนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น และกำลังพลที่เหลืออยู่ก็จะถูกพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพ พัฒนาบุคลากรให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องมีงบประมาณรองรับการจัดหาเทคโนโลยีใหม่ๆ หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ที่ใช้เทคโนโลยีสูงเข้ามาทดแทน
"กองทัพจะลดทันทีทันใดไม่ได้เพราะเป็นส่วนราชการ จะลดปลดออกทันทีไม่ได้ ก็จะลดในลักษณะ 1 เกษียณแล้ว ไม่เปิดบรรจุ หรือ บรรจุน้อยลง 2.การจูงใจให้ออก early retire 3. บรรจุให้น้อยลง ดังนั้นการจะลดจะต้องลดทุกระดับตั้งแต่นายทหาร นายสิบ พลทหาร" พล.อ.คงชีพ กล่าวและว่า
กระทรวงกลาโหม ตั้งเป้าลดกำลังพลทั่วไปให้ได้ 5% ในทุกปี โดยปี 2560-2564 ลดไปแล้วกว่า 8,000 นาย คิดเป็นเม็ดเงิน 1,500 ล้านบาท จนถึงปี 2570 รวมเป็น 12,000 นาย สามารถประหยัดงบกำลังพลลงได้ 2,100 ล้านบาท
ส่วนแผนปรับลดทหารชั้นนายพล ตำแหน่งนายทหารปฏิบัติการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ชำนาญการ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตั้งเป้าลดให้ได้ 50% ในปี 2570 เดิมที่ทหารชั้นนายพลประจำตำแหน่งดังกล่าวมีประมาณ 768 นาย ได้ดำเนินการลดลงปีละ 5-10% ตั้งแต่ปี 2552-2564 จำนวน 253 คน ประหยัดงบกำลังพลได้ 640 ล้านบาท ในปี 2565-2571 จะลดได้อีกประมาณ 141 นาย ซึ่งจะเหลือนายทหารชั้นนายพลในตำแหน่งดังกล่าวเพียง 384 นาย และมีแผนลดต่อเนื่องไปอีก
"ทหารชั้นนายพลลดลงไปปีละเกือบ 18-20 นาย โดยปี 2565 ปิดบรรจุ 20 คน ปี 2566 ประมาณ 20 ดำเนินการเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆจนจนถึงปี 2571 ดังนั้นนายพลผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษจะหายไป เหลือ ครึ่งหนึ่ง และมีแผนจะลดลงอีก "
พล.อ.คงชีพ กล่าวต่อว่า ตำแหน่งนายทหารชั้นนายพลสัมพันธ์กับตำแหน่งนายทหารที่จบจาก โรงเรียนนายร้อย ซึ่งต้องปรับการผลิตลงเหลือครึ่งหนึ่งในแต่ละรุ่น เหลือผลิตนักเรียนนายร้อยทหารบก ประมาณ 200 กว่าคน นักเรียนนายเรือ 80 คน นักเรียนนายเรืออากาศ 80 คน ขณะเดียวกันก็ต้องปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เพื่อให้ได้นายทหารที่มีความสามารถจบออกมาสังกัดหน่วยที่รองรับภัยคุกคามรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่
สำหรับแนวทางการเกษียณตามขั้นยศ ที่อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด เนื่องจากพบว่า ทหารยศนายร้อยจนถึงทหารยศพันเอกพิเศษ หลายคนเกษียณในชั้นยศดังกล่าว ทั้งๆที่เป็นบุคลากรที่เก่ง มีคุณภาพแต่มาถึงทางตันไม่สามารถก้าวหน้าไปกว่านี้แล้ว เนื่องจากกองทัพเป็นองค์กรมีลักษณ์สามเหลี่ยม
"เรามองเรื่อง การเกษียณราชการตามชั้นยศ ซึ่งขณะนี้มีการศึกษา ถึงความเป็นไปได้ หมายความว่า ในระหว่างที่เติบโตขึ้นมา หากไปต่อไม่ได้ ไม่มีความก้าวหน้า หรือความสามารถไม่ถึง ก็จะต้องมี การออกระหว่างทางก็คือการเกษียณตามชั้นยศ ไม่จำเป็นต้องรอจนอายุ 60 ปี เช่น อัตราชั้นนายร้อย ถ้าเติบโตขึ้นมาไม่สามารถเป็นชั้นนายพันได้ก็อาจจะต้องเกษียณ อัตราชั้นนายพันเติบโตขึ้นมาไม่สามารถเป็นชั้นนายพลได้ก็จะต้องเกษียณ"
โดยจะต้องมีการประเมินขีดความสามารถว่าไปต่อได้หรือไม่ หากไปต่อไม่ได้ก็ต้องบอกเขา รวมถึงให้แรงจูงใจถ้าเขาคิดว่าไปต่อไม่ได้และไม่ก้าวหน้า แล้วสมัครใจที่จะออก และการจะออกก็จะต้องดู 1. ค่าตอบแทน ต้องสัมพันธ์กับงบประมาณ ต้องให้เขาไปตั้งตัว 2. การสร้างงาน สร้างอาชีพให้เขาเดินต่อได้ เพื่อไม่ให้เขาสะดุด เพราะมีครอบครัวมีคนต้องดูแล โดยจำเป็นต้องประสานกับภาคเอกชน สนับสนุนจัดหาตำแหน่งงานที่เหมาะสม
พล.อ.คงชีพ ย้ำว่า หากทำได้ กองทัพจะได้ทหารที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งทหารแต่ละนายจะต้องพัฒนาตัวเองเพื่อแข่งขันกัน เพราะมีตัวประเมิน ชี้วัด หากผ่านตรงนี้ ก็สามารถไปต่อได้ แต่บางครั้งความรู้ความสามารถอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องพิจารณาถึงพฤติกรรมด้วย ทหารบางนายเก่ง มีความสามารถ แต่ไม่เก่งเรื่องบริหาร ก็จะไปทางสายวิชาการได้ ใครเก่งบริหาร ก็ไปต่อ
ในส่วนการยกเลิกทหารเกณฑ์ นั้น ทหารเกณฑ์ มีความสัมพันธ์กับเรื่องปฏิรูปกองทัพ วันนี้ถ้าเรายังไม่ได้ปรับใหญ่ ความจำเป็น การใช้ทหารเกณฑ์ก็จะมีลักษณะคล้ายของเดิม เพราะโครงสร้างหน่วยยังไม่ได้ปรับ อัตราบรรจุทหาร ก็ยังอยู่ในลักษณะเดิม แต่ก็ลดลงไปตามความจำเป็น เช่นปัจจุบัน มีการยุบรวมหน่วย อัตราทหารนายสิบ พลทหาร ก็จะลดตามไปด้วย เรื่องของบางส่วนที่เราใช้อัตราประจำลดลง เช่น ปรับงานทหารนายสิบ มาเป็นลูกจ้างชั่วคราว ทั้งงานธุรการ งานเชียวชาญเฉพาะทาง
สำหรับความต้องการกองทัพ ในการกำหนดปริมาณทหารเกณฑ์ ในแต่ละปีนั้น พล.อ.คงชีพ กล่าวว่า ทหารเกณฑ์ มาจากภารกิจของกองทัพที่รับผิดชอบอยู่ในเรื่องการใช้กำลังป้องกันประเทศ ซึ่งจะต้องมีอยู่ 2 ส่วน คือการเตรียมกำลัง และการใช้กำลัง สิ่งสำคัญต้องไม่ลืมว่ากำลังป้องกันประเทศต้องปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมงก็จะมีกำลังหมุนเวียน ส่วนหนึ่งฝึก อีกส่วนประจำการ และส่วนหนึ่งพัก เพื่อให้กำลังพร้อมในการปฏิบัติงาน
"ทหารใหม่ที่เข้ามา จะมีทหารที่เข้ารับการฝึกส่วนหนึ่งและไปฝึกความเชี่ยวชาญเฉพาะ เพื่อออกชายแดนตามความชำนาญและมีส่วนที่พักด้วย และยังมีกำลังเตรียมพร้อมเคลื่อนที่เร็ว ก็ต้องฝึกปฏิบัติเพื่อให้สามารถเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ได้ทันที เราไม่ได้คิดการใหญ่เพียงแค่ต้องการระงับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่มีการใช้กำลัง ซึ่งเราต้องประเมินว่าภัยคุกคามขั้นต่ำที่จะต้องใช้กำลังทหารในพื้นที่มีขนาดไหน ตั้งแต่ระดับกองร้อย กองพัน ก็ต้องเตรียมกำลังทหารไว้เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดภารกิจในเรื่องของการป้องกันประเทศ นี่คือสิ่งที่จะกำหนดการเกณฑ์ทหารในแต่ละปี " พล.อ.คงชีพ กล่าวและว่า
ทั้งนี้กองทัพต้องการคนที่สมัครใจเข้ามาเป็นทหาร แต่เราพยายามทำแล้ว ก็ทำได้อยู่ที่ประมาณ 40% ของยอดเรียกเกณฑ์ทั้งหมด ฉะนั้นก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเกณฑ์เพิ่ม ซึ่งขณะนี้กองทัพบกก็พยายามเพิ่มแรงจูงใจทั้ง โควต้าสอบนักเรียนนายสิบ การเพิ่มคะแนนพิเศษ ให้ช่องทางสอบบรรจุรับราชการ
สิ่งที่ต้องการให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารเป็นเรื่องดี ที่เราจะต้องร่วมมือกัน อย่าให้กองทัพทำเพียงฝ่ายเดียว หากมีการให้ทหาร ให้เกียรติกองทัพ ก็เป็นสิ่งหนึ่งทำให้คนอยากเข้ามาเป็นทหาร แต่ถ้ายังมีการมาโจมตี บิดเบือนข้อมูล ให้ร้ายกองทัพ ก็จะทำให้พัฒนาการตรงนี้เดินไม่ถึงเป้าหมายที่เราตั้งใจร่วมกัน
ในอนาคตมีความเป็นไปได้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เมื่อโครงสร้างปรับลดลงไป หน่วยเล็กลง มีเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น จำนวนทหารที่จะต้องใช้ก็ต้องน้อยลง ซึ่งตอนนี้เราพยายามร่วมกันพิจารณาว่ากำลังพลส่วนไหนถ้าไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ พลทหาร หรือยกเลิก ปิดอัตราไปได้ก็ปิด หน่วยไหนยุบรวมยกเลิกได้ก็ทำ การเกณฑ์น่าจะน้อยลงไปเรื่อยๆ นี่คือภาพการลดอัตรากำลัง ไม่ใช่ว่ากองทัพไม่ทำ กองทัพปรับลดแล้วและทำมาอย่างต่อเนื่อง จะให้ยกออกหรือปิดอัตราบรรจุทันทีทำไม่ได้ ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปและทำให้สอดคล้องและสัมพันธ์กันระหว่างต้นทางปลายทาง
พล.อ.คงชีพ กล่าวทิ้งท้ายว่า การปฏิรูปกองทัพ กห.ให้ความสำคัญและดำเนินการมาต่อเนื่อง โดยพร้อมเปิดกว้างรับข้อมูลจากทุกภาคส่วน รวมทั้งจากภาคการเมือง และเรากำลังร่วมกันสร้างกองทัพเพื่อรับมือกับภัยคุกคามในอนาคต ทั้งจากภัยคุกคามทางทหารและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ซึ่งเราต่างต้องเห็นภาพภัยคุกคามของประเทศให้เป็นภาพเดียวกันก่อน ซึ่งเรื่องดังกล่าวต่างต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองกัน
ต่อจากนั้น เรามาช่วยกันกำหนดว่า จะให้กองทัพเข้าไปรับมือถึงจุดที่เหมาะสม จุดไหน ระดับไหน ซึ่งเรายอมรับร่วมกันได้ ถึงระดับความมั่นคง เสถียรภาพ อธิปไตย ผลประโยชน์ของชาติและศักดิ์ศรีของประเทศ ซึ่งกองทัพเอง ก็พร้อมและต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายบริหาร คือรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ ที่สนับสนุนทางด้านกฏหมายและงบประมาณ กองทัพเอง คือกำลังพลในกองทัพ หรือแม้กระทั่งภาคประชาชน ที่ต้องมีความเข้าใจและให้การสนับสนุน โดยต้องพิจารณากำลังเงินในกระเป๋า เหตุผลความจำเป็น กรอบเวลาและความพร้อมของประเทศด้วย
โดยส่วนตัว ดีใจที่มีพรรคการเมือง ให้ความสำคัญและชูเป็นนโยบายในการปฏิรูปกองทัพ และหวังว่าคงจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เพื่อร่วมกันหาจุดที่เหมาะสมดังกล่าว และร่วมสนับสนุนผลักดันการปฏิรูปกองทัพให้มีความพร้อมและทันสมัยไปด้วยกัน เพื่อให้กองทัพ เป็นกองทัพของประชาชน มีเกียรติและศักดิ์ศรีในเวทีต่างชาติ และสามารถทำหน้าที่เป็นหลักประกันความมั่นคงของประเทศ ในการรักษาเอกราช อธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ