“ดร.ณัฎฐ์” ชี้ ก้าวไกล ชูนโยบายแก้ ม.112 ควรเพิ่มโทษให้หนักเพื่อให้เข็ดหลาบ
“ดร.ณัฎฐ์” ปรมาจารย์ทางกฎหมายมหาชน แนะ "ไอติม” ชูนโยบายแก้ มาตรา112 ควรเพิ่มเติมโทษให้หนักขึ้นเพื่อให้เข็ดหลาบเท่านั้น
29 ตุลาคม 2565 จากกรณี นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการรณรงค์สื่อสารนโยบาย พรรคก้าวไกล เนื้อหาสาระของนโยบายพรรคก้าวไกล เสนอในการแก้ไขมาตรา 112 ใน 3 ประเด็น ได้แก่ ข้อที่หนึ่ง คือการลดความหนักของโทษ ข้อที่สอง คือการกำหนดผู้ฟ้องให้ชัดเจนและข้อที่สาม คือการวางขอบเขตการบังคับใช้
ล่าสุด ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” ปรมาจารย์ทางกฎหมายมหาชนและผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญคนดัง ระบุว่า ตามที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ พรรคก้าวไกล หากเสนอยกเลิก มาตรา 112 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายพรรคการเมือง อาจนำไปสู่ยุบพรรคก้าวไกลได้ หากปรับเปลี่ยนนโยบายเป็น แก้ไข มาตรา 112 ตรงนี้ เห็นด้วย แต่ข้อ เสนอ 3 ประเด็น เพื่อให้คุณธรรมทางกฎหมายมุ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการ ควรแก้ไขเฉพาะโทษ ดังนี้
(1) จากเดิมมาตรา 112 กำหนดอัตราโทษจำคุกสถานเดียว ในระวางจำคุกขั้นต่ำ 3 ปี สูงสุด ไม่เกิน 15 ปี เพิ่มเติมโทษให้หนักขึ้น และเพื่อให้เข็ดหลาบ ควรแก้ไขเพิ่มเติม “จำคุกขั้นต่ำ 5 ปี สูงสุดไม่เกิน 20 ปี”ตรงนี้ การกำหนดขั้นต่ำไว้ กรณีจำเลยให้การรับสารภาพและอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ศาลมีคำพิพากษาได้ทันที แต่หากกำหนดขั้นต่ำเพิ่มเติมโทษไว้ ระหว่างอัตราโทษจำคุกระหว่าง 5 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี จะต้องให้โจทก์นำสืบพยานประกอบ หากจำเลยรับสารภาพ ศาลไม่สามารถลงโทษจำเลยได้ ศาลก็ต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงและเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดจริง ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 ประกอบมาตรา 227 วรรคหนึ่ง
(2)ในความผิดดูหมิ่นศาล หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นประชาชน กำหนดระวางโทษ จำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในมาตรา 112 มีอัตราโทษ จำคุกสถานเดียว แต่ไม่มีโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ เห็นควร แก้ไขเพิ่มเติมค่าปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อให้จำเลยเกรงกลัวและเข็ดหลาบ คือ “…หรือปรับ 1,000,000-2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ..” ให้เหมาะสมกับบริบทสภาวะการณ์ปัจจุบันของอัตราค่าเงิน ในทางปฎิบัติ หากไม่มีเงินจ่าย ศาลอาจมีคำสั่งกักขังแทนค่าปรับไม่เกินสองปี เพื่อให้เข็ดหลาบ
(3)ที่พรรคก้าวไกล สับขาหลอก ในประเด็น ข้อที่สอง คือการกำหนดผู้ฟ้องให้ชัดเจน เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 112 อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ความผิด ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว ดังนั้น การกำหนดผู้ฟ้องให้ชัดเจน แนวทางลักษณะอย่างนี้ ทำให้ประชาชนผู้สนใจการเมือง คอการเมือง แฟนคลับแต่ละฝ่าย ประชาชนทั่วไปอาจสับสนได้ เมื่อเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ประชาชนทั่วไป ประสบพบเห็นเป็นความผิด สามารถกล่าวโทษได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(8) คำกล่าวโทษ หมายความถึง การที่บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย ได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดีได้กระทำความผิดอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อมีแนวคิดที่จะแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 บทบัญญัติอยู่ในหมวดนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถกล่าวโทษได้ แตกต่างจากความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ด้วยตนเอง ตามมาตรา 2(7) แห่งกฎหมายฉบับเดียวกัน ในทางปฎิบัติหากกำหนดขอบเขตจะให้พระองค์ท่านมอบอำนาจให้ดำเนินคดีกับพสกนิกร คงเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญมาตรา 6 พระมหากษัตริย์ บุคคลใดจะละเมิดไม่ได้ ทั้งประเทศไทยในคดีอาญาใช้ระบบกล่าวหา
(4)ส่วน แนวทางพรรคก้าวไกล ข้อที่สาม การวางขอบเขตการบังคับใช้ เห็นว่า กฎหมายอาญาในความผิดฐานนี้ ในองค์ประกอบความผิดในฐานความผิดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการ บทบัญญัติดังกล่าว เหมือนกฎหมายอาญาทั่วไป เป็นข้อห้ามและมีบทลงโทษ หากบุคคลใดฝ่าฝืนย่อมต้องถูกดำเนินคดีอาญา ตรงนี้ ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมาย เชื่อว่า พนักงานสอบสวน ก่อนรับดำเนินคดี สามารถตรวจสอบข้อกฎหมาย แนวคำพิพากษาศาลฎีกา ว่า พฤติการณ์ดังกล่าว เป็นความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า พรรคก้าวไกลต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่า แก้ยกเลิกมาตรา 112 มีประชาธิปไตยสูงขึ้นอย่างไร และประชาชนอยู่ดีกินดีอย่างไร แต่วันนี้ กลับมาบอกว่า ไม่ยกเลิก(เลี่ยงข้อกฎหมายพรรคการเมืองเพื่อไม่ให้ถูกยุบพรรค) วันนี้ ต้องตั้งคำถามกับ”ไอติม”และพรรคก้าวไกลว่า การแก้ไขมาตรา 112 โดยลดโทษให้น้อยลง ตามแนวทางพรรคก้าวไกล จะแก้ปัญหาเพื่อให้คนที่กระทำผิดกฎหมายมาตรา 112 ผู้กระทำผิดจะสำนึกผิดและเข็ดหลาบหรือไม่ อย่างไร กลุ่มที่กระทำผิดซ้ำ เป็นเพียงกลุ่มเดียว ควรเพิ่มเติมโทษให้เข็ดหลาบหรือไม่ อย่าลืมว่า แม้นักโทษเด็ดขาดทั้งหลายที่กรมราชทัณฑ์บังคับโทษทางอาญา ได้รับอภัยโทษจากพระองค์ท่าน ควรจะจงรักภักดีหรือไม่ ในเมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า จัดรายการ “เอาปากกามาวง” ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวถึงกรณี พรรคการเมืองหลากหลายพรรคออกมาปกป้อง มาตรา 112 ทั้ง ๆ ที่มาตรา 112 มีปัญหาทั้งในเชิงตัวบท อุดมการณ์เบื้องหลัง และการบังคับใช้ ท่านมีความเห็นว่า อย่างไร “ดร.ณัฎฐ์” กล่าวว่า เท่าที่ติดตามข่าว หากพูดในข้อกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด จะจำกัดเสรีภาพไม่ได้ โดยเฉพาะ อาจารย์ปิยบุตรฯ ท่านเคยเป็นอาจารย์ น่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นในฐานะนักวิชาการ รัฐไม่ควรปิดกั้นความเห็นต่าง แต่หากอาจารย์ปิยบุตรฯ ไปพูดเสริมเติมแต่งคาบเกี่ยวความผิดอาญา ต้องรับผิดชอบในความเห็นนั้นด้วย อย่าลืมว่า อาจารย์ปิยบุตร เคยเป็นอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผมเรียนจบปริญญาเอกทางกฎหมาย เขียนวิจัยทางด้านกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย่อมรู้ทางกันดี หากพิจารณาถึงสถานะคณะก้าวหน้า ไม่ใช่นิติบุคคลตามกฎหมายและไม่เป็นพรรคการเมือง และเคยเป็น กก.บห.พรรคอนาคตใหม่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมือง หากอาจารย์ปิยบุตรฯ มีความคิดยกเลิกมาตรา 112 เพื่อเป็นนโยบายพรรคก้าวไกล หากพรรคก้าวไกลถูกยุบพรรค กก.บห.พรรคก้าวไกลจะเดือดร้อน บุคคลนอกเหนือจากนี้ ไม่ต้องรับผิด ในความเห็นส่วนตัว ส.ส.ในพรรคก้าวไกล เป็นคนรุ่นใหม่ กล้าคิด กล้าทำ ถ่วงดุลตรวจสอบฝ่ายรัฐบาล น่าชื่นชม แต่ให้คิดนโยบายใหม่ๆเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ปากท้อง เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี จะตอบโจทย์และได้ใจพี่น้องประชาชนมากกว่า มาติดหล่มมาตรา 112
///////
#ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม #ดร.ณัฎฐ์ #พรรคก้าวไกล
#ไอติม #มาตรา 112 #เพิ่มโทษให้หนักขึ้น #เพิ่มโทษปรับ #นโยบายพรรคก้าวไกล #คณะก้าวหน้า