เปิดคำแนะนำ "กมธ.-ส.ส." ปฏิบัติงานช่วง180วัน พบไฟเขียว กมธ.จัดโต๊ะจีนได้
"กมธ.กิจการสภาฯ" ออกแนวทาง-คำแนะนำการทำงานของกมธ.-ส.ส.ช่วง180 วันก่อนหมดอายุสภา พบการอนุญาตให้ "กมธ." จัดโต๊ะจีนเลี้ยงผู้ร่วมอบรม สัมมนา ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาฯ ที่มีนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ. ได้ทำแนวทางการหาเสียงเลือกตั้งของส.ส. และแนวทางการจัดสัมมนาและศึกษาดูงานของ กมธ. ในช่วงระยะเวลา 180 วัน ก่อนวันครบอายุของสภาฯ วันที่ 23 มีนาคม 2566 ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 แจ้งต่อส.ส.
โดยมีสาระสำคัญต่อแนวทางปฏิบัติ ตามคำชี้แจงของ ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการ กกต. ดังนี้ 1.ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง ร่วมมงานประเพณีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานศพ และมวบพวงหรีดดอกไม้สดได้ แต่ต้องไม่ให้เงินหรือทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งรวมถึงพวงหรีดที่เป็นสิ่งของ เช่น พัดลม ผ้าขนหนู หรือช้อนส้อม ยกเว้นฝ่ายเจ้าภาพจัดเตรียมของตามพิธีการไว้ให้มอบในงาน, สามารถระบุชื่อเป็นประธานงานกฐิน โดยผู้สมัครหรือพรรคการเมืองไม่ได้มอบเงินหรือทรัพย์สินได้
2.ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จำเป็นจัดงานพิธีต่างๆ ช่วงที่หาเสียงสามารถทำได้เท่าที่จำเป็น เช่น งานศพ งานบวช งานแต่งงาน แต่หลีกเลี่ยงการจัดงานขนาดใหญ่ทีมีผู้ร่วมงานจำนวนมาก เพราะอาจเป็นเหตุถูกร้องได้ว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งนี้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุม และกิจกรรมระดมทุนได้ แต่ต้องไม่เข้าข่ายหาเสียงเลือกตั้ง
3.ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรค สามารถหาเสียงในสถานที่ต่างๆ เช่น โรงเรียน สถานที่ราชการ แต่ต้องขออนุญาตเจ้าของสถานที่
4.ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง ไม่สามารถมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนได้ ทั้งช่วยเหลืออุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย โรคระบาด
5.ส.ส.ที่ดำรงตำแหน่งอื่นในขณะเดียวกัน เช่น นายกสมาคมกีฬา นายกสมาคมศิษย์เก่า สามารถปฏิบัติภารกิจหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวได้ตามปกติ แต่ต้องไม่ใช่อำนาจในตำแหน่งที่เข้าข่ายหาเสียงเลือกตั้ง
6.การทำสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น ป้ายหาเสียงต้องเป็นไปตามขนาดที่ กกต. กำหนด รวมถึงต้องระบุ ชื่อ สกุล ชื่อพรรค นโยบายพรรค คติพจน์ ผลงาน ได แต่ไม่ใช้ถ้อยคำที่ใส่ร้าย เป็นความเท็จ หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ขณะที่การหาเสียงผ่านอิเล็กทรอนิกส์ สื่อโซเชียลมีเดียทำได้ตามระเบียบกกต. กำหนด
“บุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้สมัครหรือสมาชิกพรรค หากมีค่าใช้จ่ายหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ เว็ปไซต์ อีเมลล์ โปรแกรมค้นหา หรือ โซเชียลมีเดีย ที่สื่อให้รับรู้ถึงการหาเสียง เกิน 10,000 บาท ต้องแจ้งค่าใช้จ่ายกับ กกต.ประจำจังหวัด”
ขณะที่กลุ่มของกรรมาธิการ , ส.ส.ที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน ที่ยังมีภาระกิจตามหน้าที่และอำนาจจนกว่าจะหมดอายุของสภาฯ แนวทางที่กมธ.กิจการสภาฯ ทำเป็นข้อสรุป คือ สามารถจัดสัมมนา หรือ ศึกษาดูงานของกมธ. ได้ในช่วงระยะเวลา 180 วัน แต่ต้องไม่ทำในสิ่งที่เข้าข่ายการหาเสียงเลือกตั้ง
ทั้งนี้มีรายละเอียดเพิ่มเติมสำคัญ คือ 1.การจัดสัมนนาของกรรมาธิการ สามารถจัดอาหารมื้อเช้า มื้อกลางวัน หรือมื้อเย็นในรูปแบบอาหารกล่อง บุฟเฟ่ต์ หรือ โต๊ะจีน รวมถึงอาหารว่าง เครื่องดื่มให้ผู้ร่วมสัมมนา ผู้ร่วมประชุม ได้ แต่ต้องไม่เข้าข่ายหาเสียงเลือกตั้ง
2.จัดเอกสาร ประกอบการฝึกอบรม สัมมนา ศึกษาดูงาน ค่าเดินทาง ค่าเช่าที่พัก ค่าสมนาคุณวิทยากร และของสมนาคุณ ของที่ระลึกให้หน่วยงานที่กมธ.ไปดูงานได้ แต่ต้องไม่เข้าข่ายหาเสียงเลือกตั้ง
3.การจัดกระเป๋าหรือสิ่งที่ใช้บรรจุเอกสาร ที่เตรียมไว้ให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนา ฝึกอบรม สามารถมีสัญลักษณ์ของสภา ชื่อ กมธ. ได้ แต่ต้องไม่ระบุชื่อ ส.ส.หรือ กมธ.เพราะจะเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง รวมถึงห้ามทำสิ่งที่เข้าข่ายหาเสียงเลือกตั้ง