"ยอมตาย ไม่ยอมแพ้" เดิมพันปชป. เกมนี้ "ไม่มีพี่น้อง"

"ยอมตาย ไม่ยอมแพ้" เดิมพันปชป. เกมนี้ "ไม่มีพี่น้อง"

กลเกมในห้วงนับถอยหลังสู่วัน "ชี้ชะตา" ถนนการเมืองต่างมุ่งหน้าสู่ "บิ๊กดีล" ไม่เว้น "ค่ายสีฟ้า" ที่ล่าสุดกำลังถูกสาดกระแส-ยิงกระสุนมาจากรอบด้าน

สถานการณ์เลือดไหลภายใน “ค่ายสีฟ้า” พรรคประชาธิปัตย์ แม้ล่าสุดจะมีคำยืนยันจาก “เลขาฯต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน ในฐานะเลขาธิการพรรค ประกาศท้ารบตัดพี่ตัดน้องบรรดาพรรคการเมืองที่ “สาดกระแส-ยิงกระสุน” ดูดส.ส.ย้ายรัง แบบไม่ต้องเกรงใจกันอีกต่อไป

พร้อมระบุ เอาชีวิตการเมืองเป็นเดิมพัน “ยอมตาย ไม่ยอมแพ้” ขอนำทัพรักษาศักดิ์ศรีพรรค นำ ส.ส.ตีตั๋วเข้าสภาให้มากที่สุด

ทว่า ความเคลื่อนไหวภายใน “ค่ายสีฟ้า”  จนถึงวินาทีนี้ ดูเหมือนยังคงเผชิญสภาวะ “เลือดไหลไม่หยุด” ซ้ำเผชิญศึกรอบทิศจากปรากฎการณ์ “ส.ส.บิ๊กล็อต” พาเหรดทิ้งรังย้ายเข้าสังกัดพรรคพี่พรรคน้องในขั้วรัฐบาล ลามไปถึงศึกขั้วตรงข้าม 

\"ยอมตาย ไม่ยอมแพ้\" เดิมพันปชป. เกมนี้ \"ไม่มีพี่น้อง\"

ล่าสุดมีการโยงไปถึง “ซีนชื่นมื่น”  ของ “2 บิ๊กเนม” ทั้ง “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  “หมอตี๋” สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระหว่างร่วมรับประทานอาหารกับ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านสาทร เมื่อช่วงกลางวัน วันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา

ในวงดังกล่าว ว่ากันว่า มีการถกลึกไปถึงขั้นประเมินสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงปลายสมัยของรัฐบาลท่ามกลางสัญญาณจัดทัพรับเลือกตั้ง

ภาพที่เกิดขึ้นนับเป็นการตอกย้ำกระแสเปิด “บิ๊กดีล” ที่ปรากฎออกมาเป็นระยะในช่วงที่ผ่านมา

ก่อนหน้าแม้ “สาธิต” เคยออกมาปฏิเสธกระแสข่าวถูกทาบร่วมงานภูมิใจไทย

โดยยอมรับว่าในส่วนของ “อภิสิทธิ์” และ “อนุทิน” พบเจอกันในงานศพพี่ชายตนจริง แต่ในฐานะเป็นรัฐมนตรีก็ไปร่วมงานกับทุกพรรค พูดคุยกัน แต่ไม่ได้พูดคุยว่าจะย้ายพรรคไปไหน แต่ละคนต่างให้เกียรติและเข้าใจกัน ดังนั้น ข่าวย้ายพรรคจึงไม่มีความจริง 

“ส่วนการทาบทามย้ายพรรค ไม่มี และการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะอยู่พรรคประชาธิปัตย์” สาธิตกล่าวในเวลานั้น

\"ยอมตาย ไม่ยอมแพ้\" เดิมพันปชป. เกมนี้ \"ไม่มีพี่น้อง\"

อย่างที่รู้กัน ศึกเลือกตั้งรอบนี้ ประกาศิตของ “นายใหญ่เมืองปราสาทหิน” เนวิน ชิดชอบ ไม่ใช่แค่การส่ง “อนุทิน” เปิดดีล “เฉลิมชัย” ผู้มากบารมีค่ายสีฟ้าเพื่อกอดคอรวบรวมเสียง จับมือในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลเหมือนครั้งที่ผ่านมา

หากแต่หวังสูงไปถึงการเป็น “พรรค 100+”  ชิงเกมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเสียเอง 

จึงไม่แปลก ที่กลเกมค่ายสีน้ำเงินที่มีขุมกำลังสำคัญอยู่ที่ภาคอีสาน และภาคใต้ ยามนี้จะยังเดินหน้า “ยิงกระสุน” สยายปีกไปยังภูมิภาคอื่นๆโดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง

รวมถึงระยอง หนึ่งในจังหวัดภาคตะวันออก อันเป็นขุมกำลังของ “ตระกูลปิตุเตชะ” ซึ่งเป็นตระกูลที่ได้รับเลือกตั้งมากสุดในระยอง ตั้งแต่รุ่นพ่อ คือ สาคร ปิตุเตชะ อดีตกำนันตำบลบางบุตร รวมถึงปิยะ ปิตุเตชะ พี่ชายที่เป็น ส.ส.ระยองมาตั้งแต่ปี 2538 

ก่อนปิยะ จะส่งไม้ต่อการเมืองสนามใหญ่ให้กับสาธิต และธารา ผู้เป็นน้อง และหันมาลงเล่นการเมืองสนามท้องถิ่นในฐานะนายก อบจ.ระยองแทน

โดยการเลือกตั้งปี 62 “สาธิต” นำทีมระยองปักธงได้ 3 เขต จากทั้งหมด 4 เขตคือ เขต 1 สาธิต เขต 2 บัญญัติ เจตนจันทร์ และเขต 3 ธารา ปิตุเตชะ 
ด้วยฐานการเมืองที่เหนียวแน่น จึงไม่แปลกที่คนในตระกูล “ปิตุเตชะ” โดยเฉพาะ “สาธิต” จะเนื้อหอม และเป็นที่ต้องตาต้องใจของบรรดาพรรคการเมืองจนถูกรุมจีบ

ขณะเดียวกัน หากจับสังเกตดีๆ ท่าทีระหว่าง “หมอหนู” และ “หมอตี๋” ท่ามกลางศึก 2 พรรคในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นศึกชิงพื้นที่ หรือศึกในสภาที่ปรากฎภาพวัดพลัง ทั้งนโยบาย กยศ. รวมถึงศึกกัญชา อันถือเป็นศึกนโยบายพรรคการเมือง

“หมอตี๋” ดูจะออกไปในทางประนีประนอม สวนทางกับ “จุรินทร์” หัวหน้าพรรค รวมถึงลูกหาบ ปชป. ที่ขึงขัง งัดสารพัดวาทกรรมออกมาตอบโต้กันอย่างดุเดือด ไม่หยุดหย่อน

ขณะที่ “หมอหนู” ก่อนหน้าก็โชว์ภาพกอดคอ “หมอตี๋” สยบข่าวศึก 2 พรรค 

ฉะนั้นด้วยสัมพันธ์อันดีของ “2 บิ๊ก”  บวกกับจังหวะ และสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการเปิดดีล โดยเฉพาะเป้าหมายภูมิใจไทยในการดึง "บ้านใหญ่-ตระกูลดัง" ที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

จึงไม่แปลกที่ จ.ระยอง จะถือเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของ“ค่ายสีน้ำเงิน” ในการปักหมุดเพื่อตุนแต้มให้กับพรรคในอนาคตอันใกล้ 

\"ยอมตาย ไม่ยอมแพ้\" เดิมพันปชป. เกมนี้ \"ไม่มีพี่น้อง\"

ในส่วนของ “เดอะมาร์ค” ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกลที่ไหน แต่เป็นนายกรัฐมนตรีในห้วงที่ “ปู่จิ้น”ชวรัตน์ ชาญวีรกูล พ่อของหมอหนู เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย  ขณะที่ “หมอหนู” เวลานั้นยังติดโทษแบนในคดียุบพรรค คอยเป็นผู้สนับสนุนเบื้องหลังผู้เป็นบิดา 

และหากยังจำกันได้ระหว่างอภิสิทธิ์และเนวินก็มีความสัมพันอันดีต่อกัน

ย้อนกลับไปในปี51 ยามนั้นเกิดปรากฎการณ์การเมืองครั้งสำคัญ หลังการจับมือกันระหว่างอภิสิทธิ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กับเนวิน  ในฐานะผู้นำกลุ่มเพื่อนเนวิน เมื่อวันที่ 9ธ.ค.ปี51 ที่โรงแรมสยามซิตี้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นที่รู้กันว่า "เนวิน"คือผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ในปีดียวกันหลังจากนั้นไม่นาน

ขณะเดียวกันในส่วนของ "อภิสิทธิ์" ภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 เจ้าตัวประกาศลาออกจากทั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรค และส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้ ปชป.ยามนั้นเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ โดยเฉพาะบทบาทของ “ขั้วอภิสิทธิ์” ที่สโลว์ดาวน์ลงอย่างเห็นได้ชัด

หลายช่วงหลายตอนโดยเฉพาะยามที่ “ค่ายสีฟ้า” เผชิญวิกฤติกระแสนิยม แม้บรรดา “พลพรรคคนรักมาร์ค”  จะพยายามเดินเกมหวังคืนชีพ “หัวหน้ามาร์ค” ให้ขึ้นมากุมบังเหียนผู้นำพรรคอีกครั้ง

แต่ด้วยกำลังในมือที่มีน้อยกว่า ทำให้เกมวัดพลังของ “ก๊วนอภิสิทธิ์”  ไม่สามารถสู้แรงต้านทานของกลุ่มก๊วนผู้มากบารมีในพรรคได้

แม้ในช่วงที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.รวมถึงสนาม ส.ก.จะปรากฎภาพที่แกนนำดึง “อภิสิทธิ์” มาช่วยงานหวังฟื้นกระแสคนกรุง อันเป็นพื้นที่เดิมของอดีตหัวหน้าพรรค ทว่า บทบาทของเขากลับไม่ได้ฉายออร่ามากสักเท่าไร

ช่วงหลังๆ “อภิสิทธิ์” ที่แม้จะยังคงสถานะสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ต้องหลบฉากเลือกที่จะอยู่ในเซฟโซน หันไปเคลื่อนไหวเดินสายในเวทีวิชาการแทน 

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงที่ผ่านมา ยังมีการวิเคราะห์ไปถึงการจัดลำดับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของ ปชป.ในการเลือกตั้งรอบนี้ 

ซึ่งโดยธรรมเนียมที่เคยเป็นมา คือ  ลำดับที่ 1 จะต้องเป็นหัวหน้าพรรค คือ “จุรินทร์” ถัดไป คืออดีตหัวหน้าพรรค เรียงลำดับตามอาวุโส  ไม่ว่าจะเป็น ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน ก่อนมาถึงอภิสิทธิ์

\"ยอมตาย ไม่ยอมแพ้\" เดิมพันปชป. เกมนี้ \"ไม่มีพี่น้อง\"

ด้วยเกมที่ต้องขับเคี่ยว บวกการช่วงชิงโควตาปาร์ตี้ลิสต์ในลำดับปลอดภัย ไม่เกิน 20 ทำให้ช่วงหลังเริ่มปรากฎ “ข่าวปล่อย” โดยเฉพาะชื่อของ “อภิสิทธิ์” ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะหลุดโผ

สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มก๊วนอภิสิทธิ์” อาทิ อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ที่ล่าสุด ปรากฎตัวเข้าร่วมงานพรรคพลังประชารัฐ  “ซ้อเจน” ศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  ที่เตรียมทิ้งรังย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย รวมถึงพนิต วิกิตเศรษฐ์ ที่ยามนี้ส่งสัญญาณปันใจออกห่าง ส่อแววเตรียมย้ายออกอีกราย

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงตอกย้ำถึงกลเกมในห้วงที่การเมืองนับถอยหลังสู่วันชี้ชะตาที่จะยิ่งทวีความร้อนแรงมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

แต่เป็นการสะท้อนถึงเสถียรภาพ ปชป.ที่อาการน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง