"สมชาย"แนะวิธี เร่งอุดสุญญากาศ "คุมกัญชา" สายนันทนาการเกลื่อนเมือง

"สมชาย"แนะวิธี เร่งอุดสุญญากาศ "คุมกัญชา" สายนันทนาการเกลื่อนเมือง

"สมชาย" ชี้ สุญญากาศคุมสายเขียว พบกัญชานำเข้าต่างประเทศ ขายเกลื่อนเพื่อสันทนาการ มากกว่าการแพทย์ แนะสภาเร่งผ่านร่างกม.กัญชา-แก้กฎกระทรวง หากยุบสภาก่อน ต้องออก พ.ร.ก.

         นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึก ทั่วไทย โดยย้ำถึงปัญหาของสุญญากาศกัญชา ต่อกรณีที่ไม่มีกฎหมายควบคุมที่ชัดเจน เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ... อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แม้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข จะออกประกาศกระทรวงเพื่อแก้ปัญหา แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด เพราะการออกกฎกระทรวงนี้ อ้างอิงจาก พ.ร.บ.ที่ใกล้เคียง เช่น ของกรมอนามัย อาหาร การประกอบอาหาร ควัน เดือดร้อนลำคาญ ควบคุมพืชสมุนไพร  แต่กฎเหล่านั้นไม่ได้ให้อำนาจตำรวจจับกุม ดำเนินคดี  และจากการสำควจพื้นที่ย่านข้าวสาร, นานา, เอกมัย  มีร้านค้าจำหน่ายกัญชาจำนวนมาก และส่วนใหญ่จำหน่ายเพื่อสันทนาการ ไม่ใช่เพื่อการแพทย์ อีกทั้งพบว่าเป็นกัญชานำเข้าจากต่างประเทศ จึงถือว่าเป็นช่องว่างที่ สภาฯต้องเร่งพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชงโดยเร็ว 

         นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ที่มีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล หรือ ฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเอง รีบเสนอให้สภาฯพิจารณาวาระสอง และวาระสามให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอต่อวุฒิสภา โดยนำความเห็นต่าง ทั้งจากนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ฐานะประธานกมธ., นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ และฝ่ายค้าน รวมถึงภาคีแพทย์ที่มีความขัดแย้ง มากองรวมที่ส.ว. เพื่อให้ช่วยกันพิจารณา ซึ่งตนเชื่อว่า 28 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นปิดสมัยประชุม รัฐบาลจะไม่ยุบสภา จากนั้นให้ร่างพ.ร.บ.ที่วุฒิสภาพิจารณา ส่งคืนไปยังสภาฯ เพื่อให้ลงมติเห็นชอบ เชื่อว่าจะทันในรัฐบาลนี้ และเสร็จในเดือนมีนาคม 2566

 

         “หากสภาฯ ตีตก จะไม่ถูกส่งมายังวุฒิสภา และต้องรอให้มีสภาฯชุดใหม่ เข้ามาทำหน้าที่ คาดว่าจะเป็น ช่วงกรกฏาคมปี 2566 และต้องรอให้รัฐบาลยืนยันร่างกฎหมายพิจารณาวาระสองสามกว่าจะผ่านสภาฯ คาดว่าจะ 1 ปี และปี 2567 ถึงจะมีกฎหมายกัญชาบังคับใช้ จากนั้นต้องออกกฎหมายลูก ที่ใช้เวลา 1 ปี สุญญากาศจะเกิดขึ้นนานถึง 3 ปี” นายสมชาย กล่าว

         นายสมชาย กล่าวว่าหากเกิดกรณียุบสภา ทางออกที่เสนอคือ ขอให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ของกระทรววงสาธารณสุข และคณะกรรมการป้องกันยาเสพติดที่นายกฯ เป็นประธานเรียกกัญชาเข้าสู่การควบคุม แต่ไม่ถึงประเภท 5 เพื่อเป็นยาควบคุม เหมือนกับ กรณีที่นำฝิ่นสกัดเป็นมอร์ฟีน เป็นต้น และแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้ใช้ได้จริงเพื่อให้ตำรวจสามารถจับกุมได้  หรือ หากทำไม่ทัน ให้ดึงบางมาตราของร่างพ.ร.บ.กัญชา เช่น เรื่องควบคุมร้านค้าจำหน่าย การออกใบอนุญาต ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)   ทั้งนี้การปลดล็อคกัญชาที่เกิดขึ้น ถูกนำไปใช้เพื่อการสันทนาการมากกว่าทางการแพทย์ และผิดวัตถุประสงค์ในการทำกฎหมายยาเสพติด ซึ่งกำหนดให้ใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์