"เนชั่น" แจงสมาคมสื่อฯ "พรรครวมไทยสร้างชาติ" คุกคาม-จงใจทำลายความน่าเชื่อถือ
กอง บก. "เนชั่น" แจงสมาคมสื่อฯ กรณี "พรรครวมไทยสร้างชาติ" คุกคามสื่อ จงใจทำลายความน่าเชื่อถือ
"เนชั่นทีวี" ชี้แจงต่อ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรื่อง การนำเสนอข่าวของสื่อในเครือเนชั่น กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เตรียมเข้าสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ
ตามที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ทำกราฟฟิกแบนเนอร์เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ของพรรค และส่งไปยังกลุ่มไลน์ของสื่อมวลชน เพื่อจงใจกล่าวหาว่า ข่าวการสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเฟคนิวส์ โดยได้แนบลิงค์ข่าวของเนชั่นออนไลน์ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 เรื่อง “บิ๊กตู่" สมัครเป็นสมาชิก "พรรครวมไทยสร้างชาติ" https://www.nationtv.tv/news/politics/378893620 จนเกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งข้อเท็จจริงของข่าวนี้ และการกระทำของพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น
กองบรรณาธิการเนชั่นทีวี และเนชั่นออนไลน์ ตลอดจนสื่อทุกสื่อของเครือเนชั่น ยืนยันว่า การนำเสนอข่าวนี้ทั้งในแพลตฟอร์มออนไลน์ และทีวี ได้ปฏิบัติตามหลักจริยธรรม จรรยาบรรณ และมาตรฐานทางวิชาชีพสื่อสารมวลชน ด้วยอุดมการณ์ “สถาบันสื่อมืออาชีพ” โดยได้ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงในข่าว และเปิดโอกาสให้หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติได้ชี้แจง ซึ่งก็ได้นำเสนอคำชี้แจงของหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติไปพร้อมกันด้วย https://www.bangkokbiznews.com/politics/1039313 การทำหน้าที่สื่อมวลชน อย่างถูกต้อง อาจจะไม่ถูกใจ บางคนบางกลุ่ม ดังนั้นควรแยกแยะ ออกมาให้ชัดเจนว่า เนชั่นทีวี ปฎิบัติหน้าที่ ’ไม่ถูกต้อง’ อย่างไรบ้าง
ฉะนั้น การที่พรรครวมไทยสร้างชาติได้ทำแบนเนอร์ กล่าวหาใส่ร้ายว่าการนำเสนอข่าวของเครือเนชั่นเป็น “เฟคนิวส์” หรือ “ข่าวปลอม” พร้อมกระจายไปตามช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของพรรค และกลุ่มไลน์สื่อมวลชน ถือว่าเป็นการ “คุกคามสื่อ” รูปแบบหนึ่ง และเป็นการจงใจทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อ ทั้งๆ ที่บุคลากรของพรรคสามารถชี้แจง อธิบาย ปฏิเสธข่าว รวมถึงใช้สิทธิทางกฎหมายดำเนินคดีกับสื่อเครือเนชั่นได้ หากเห็นว่าการเสนอข่าวของเครือเนชั่นก่อความเสียหายให้กับพรรค แต่ทางพรรคกลับใช้วิธีการป้ายสี ทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อแทน ซึ่งมาตรฐานการดำเนินการเช่นนี้ ถือเป็นอันตรายต่อการทำหน้าที่สื่อสารมวลชน ไม่ว่าแขนงใด
ยิ่งไปกว่านั้น การให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาของผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะบุคคลที่ตกเป็นข่าวเอง รวมถึง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ก็เป็นแนวแบ่งรับแบ่งสู้ และไม่ได้ปฏิเสธโดยสิ้นเชิงเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ
ส่วนนิยามของคำว่า “เฟคนิวส์” หรือ “ข่าวปลอม” หมายถึงการโฆษณาชวนเชื่อและหลอกลวงด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จโดยสิ้นเชิง แล้วเผยแพร่ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ การแพร่สัญญาณตามปกติ หรือสื่อสังคมออนไลน์
โดย “ข่าวปลอม” มักถูกเขียนและพิมพ์เผยแพร่โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชักจูงบุคคลในทางที่ผิด สร้างความเสียหายต่อหน่วยงาน นิติบุคคล หรือบุคคล หรือเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ทางการเงิน หรือเพื่อชักจูงการเมือง ซึ่งผู้สร้างข่าวปลอมมักใช้ข้อความพาดหัวในลักษณะเร้าอารมณ์ หลอกลวง หรือกุขึ้นทั้งหมด เพื่อเพิ่มยอดผู้อ่าน การแบ่งปันออนไลน์ และรายได้จากคลิกอินเทอร์เน็ต ซึ่งในกรณีหลังคล้ายกับพาดหัว “คลิกเบต” ออนไลน์ ในการเร้าอารมณ์ และอาศัยรายได้จากการโฆษณาจากกิจกรรมนี้ โดยไม่สนใจว่าเรื่องที่เสนอไปนั้นจะถูกต้องหรือไม่ ซึ่งจากนิยามของ “ข่าวปลอม” หรือ “เฟคนิวส์” แตกต่างจากการรายงานข่าวของสื่อเครือเนชั่นอย่างสิ้นเชิง
กองบรรณาธิการเนชั่นทีวี เนชั่นออนไลน์ และสื่อในเครือ จึงขอให้สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พิจารณาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในการทำหน้าที่สื่อสารมวลชน และการแสดงท่าทีของพรรคการเมืองต่อข่าวสารที่พาดพิงไปยังพรรคการเมืองนั้นๆ ต่อไป