"ธนาธร-ปิยบุตร"แจงร่างแก้รธน. ปลดล็อคท้องถิ่น ไม่สอดไส้แบ่งแยกดินแดน
รัฐสภา เริ่มถกร่างแก้รธน. ปลดล็อคท้องถิ่นแล้ว "ธนาธร" ย้ำเพื่อกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นแก้ปัญหา-พัฒนาพื้นที่ ด้าน "ปิยบุตร" ย้ำไม่มีประเด็นแบ่งแยกดินแดน -ไม่ยุ่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน วอนรัฐสภาโหวตรับหลักการ
เมื่อเวลา 10.10 น. การประชุมรัฐสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้เข้าสู่วาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เกี่ยวกับหมวดการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า และประชาชน จำนวน 76,591 คนเสนอ
ทั้งนี้ก่อนการพิจารณาสาระ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หารือต่อที่ประชุมถึงการใช้เวลาอภิปราย โดยกำหนดเวลาให้ฝ่ายละ 2 ชั่วโมง คือ ตัวแทนประชาชนที่นำเสนอร่าง 2 ชั่วโมง, ฝ่ายรัฐบาล 2 ชั่วโมง, ฝ่ายค้าน 2 ชั่วโมง และฝ่ายวุฒิสภา 2 ชั่วโมง รวม 8 โมง จากนั้นจะใช้เวลาในการลงมติอย่างเปิดเผยด้วยการขานชื่อ จำนวน 2 ชั่วโมง อย่างไรก็ดีการเสนอดังกล่าว ได้รับการคัดค้านจากนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ฐานะวิปฝ่ายค้าน เพราะมองว่าเป็นการปิดกั้นการอภิปรายของสมาชิก พร้อมเสนอให้เปิดกว้างกับการอภิปราย และหากลงมติไม่แล้วเสร็จในวันนี้ (30 พฤศจิกายน) สามารถเลื่อนการลงมติในการประชุมรัฐสภาครั้งถัดไปได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการหารือเรื่องเวลาดังกล่าวไม่มีข้อสรุปอย่างชัดเจนในที่ประชุม ทำให้ วิปฝ่ายค้านและวิปรัฐบาล ขอหารือนอกรอบอีกครั้ง จากนั้นได้เข้าสู่การนำเสนอสาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดยนายธนาธร นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ... ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นฉบับปลดล็อคท้องถิ่น เพื่อทำให้อำนาจและอิสระต่อการบริหาร งบประมาณ รวมถึงประชามติปรับโครงสร้างการบริหารประเทศครั้งใหญ่ โดยยังยึดหลักการพื้นฐานอำนาจเป็นของประชาชนและประชาชนเป็นผู้เลือกตัวแทน ทั้งนี้จะมีความชัดเจนในอำนาของการให้บริการสาธาณะ ออกแบบพัฒนาชุมชนของตนเอง เพื่อพัฒนาจังหวัดไปข้างหน้าตอบสนองความต้องการของประชาชนในชุมชน ขณะที่งบประมาณ กำหนดให้จัดสรรงบประมาณเป็นธรรม เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน ท้องถิ่นได้รับงบ 30% ไปเป็น 50%
“ผมเชื่อว่าการแบ่งสรรอำนาจ จัดสรรงบที่เป็นธรรมตามร่างปลดล็อคท้องถิ่นจะทำให้เป็นจริงได้ ภายใน 10 - 15 ปี ทั้งนี้ร่างนี้เสนอให้ทำประชามติภายใน 5 ปี ต่อการยกเลิก ควบรวมราชการส่วนภูมิภาคเข้ากับส่วนท้องถิ่น ซึ่งระยะเวลา 5 ปีจะเป็นช่วงที่สังคมไทยถกเถียงในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ดีมีตัวอย่างจากรัฐรวมศูนย์ที่ชัดเจน คือ การหารือของส.ส.ที่หารือในสภาถึงปัญหาเชิงพื้นที่ เพื่อให้ผู้มีอำนาจแก้ปัญหา ข้อมูลพบว่า 65% ข้อหารือเป็นปัญหาเชิงพื้นที่ที่แก้ได้ด้วยท้องถิ่นหากได้รับงบประมาณที่เพียงพอและได้รับอำนาจเพื่อแก้ปัญหา ตอบสนองปัญหาให้ประชาชนได้ ดังนั้นหากท้องถิ่นละประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ งบประมาณ และประเทศร่วมกันจะแก้ไขปัญหาได้” นายธนาธร กล่าว
นายธนาธร กล่าวด้วยว่า ท่านอาจไม่ชอบตนไม่เป็นไร แต่ขอให้ดูผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ร่างปลดล็อคท้องถิ่น ตนไม่ได้รับประโยชน์อะไร แต่ประชาชนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์ หากเห็นด้วยในทิศทางและหลักการในการกระจายอำนาจ หากไม่เห็นด้วยรายละเอียดบางประเด็นขอให้รับหลักการ เพื่อหาทางประนีประนอม ข้อสรุปที่ยอมรับได้ในวาระต่อไปเพื่อให้เราเท่าทันปัญหาของประเทศ
ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ตัวแทนผู้ชี้แจง อภิปรายต่อที่ประชุมรัฐสภาโดยย้ำถึงสาระของร่างรัฐธรรมนูญปลดล็อคท้องถิ่น ว่า รับรองหลักการกระจายอำนาจ ปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของคนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 1 เพื่อยืนยันการกระจายอำนาจในประเทศไทย อยู่ภายใต้หลักความเป็นราชอาณาจักร และรัฐเดี่ยว และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อป้องกันปัญหาคนตีความพิศดาร หรือเข้าใจกลุ่มตนผิดว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน นอกจากนั้นยังมีหลักการสำคัญ คือ ประชาชนต้องมีสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น
“ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว ท้องถิ่นและส่วนกลางต้องมีการเกาะเกี่ยว ผ่านการกำกับดูแล ดังนั้นร่างปลดล็อคท้องถิ่นได้กำหนดให้มีการกำกับดูแลภายหลังจากที่ท้องถิ่นดำเนินการไปแล้ว และพบการทำผิดกฎหมาย ขณะที่การมีส่วนร่วมของพลเมือง กำหนดให้เข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น,ถอดถอน และเติมให้ทำประชามติในระดับท้องถิ่นในการทำโครงการ เพื่อต้องการสรางสภาพลเมือง ให้ทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลนายกท้องถิ่น ฐานะฝ่ายบริหารท้องถิ่นทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการกำหนดให้มีการเปิดเผยการประชุมสภาท้องถิ่น สัญญา จัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส นอกจากนั้นประชาชนจะมีสิทธิในการกำหนดงบประมาณในการทำโครงการที่ประชาชนต้องการ” นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร อภิปรายถึงการโอนถ่ายส่วนราชการภูมิภาคที่จะกำหนดกรอบการถ่ายโอนที่ชัดเจน ขณะที่การออกเสียงประชามติในการถ่ายโอน ยุบราชการภูมิภาค ที่กำหนดโรดแมพฟังความเห็นในระยะ 5 ปี หากประชาชนเห็นด้วย ส่วนราชการไม่ได้ถูกยุบ แต่จะย้ายไปสังกัดท้องถิ่นเท่านั้น และที่สำคัญร่างปลดล็อคท้องถิ่นไม่ยุ่งกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยตนคาดหวังว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปลดล็อคท้องถิ่นจะได้รับการสนับสนุนจากทุกพรรคการเมือง และวุฒิสภา ซึ่งพบว่ามีความคิดสนับสนุนกระจายอำนาจ
“ร่างนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับวุฒิสภา แต่ร่างนี้จะเป็นสิ่งที่แสดงให้สังคมเห็นว่า วุฒิสภาไม่ไดขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญหากเป็นประโยชน์ประชาชน” นายปิยบุตร กล่าว