ป.ป.ช.หวัง ITA ปี 66 หน่วยงานรัฐผ่าน 84% “วิษณุ” ชี้รัฐบาลมุ่งแต่ล้อมคอก
ป.ป.ช.ประชุมคิกออฟประเมินผล ITA ปี 66 ตั้งเป้าหน่วยงานรัฐผ่านเกณฑ์ประเมิน 84% คาดอนาคตต่อยอดใช้ดูสมรรถนะผู้บริหาร-พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายได้ “วิษณุ” ยันรัฐบาลยังมุ่งล้อมคอก แม้วัวหายไปหลายตัว
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดการประชุมชี้แจงการประเมิน ITA ประจำปี 2566 “KICKOFF ITA 2023” โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวในหัวข้อ “ความสำคัญและการร่วมมือกันเพื่อการบรรลุเป้าหมายการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566” ว่า ผลการประเมิน ITA ปี 2565 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของหน่วยงานภาครัฐอย่างก้าวกระโดด หากพิจารณาตามค่าเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจะต้องมีค่าประเมิน ITA ผ่าน 85 คะแนนขึ้นไป ซึ่งจากหน่วยงานภาครัฐจำนวน 8,303 แห่งที่เข้าร่วมประเมิน มีหน่วยงานที่ผ่านค่าเป้าหมาย 5,855 หน่วยงาน หรือคิดเป็น 70.52%
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า ในปี 2566 มีความเข้มข้นและท้าทายมากขึ้น โดยค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดว่าหน่วยงานภาครัฐผ่านเกณฑ์ประเมิน 85 คะแนนขึ้นไป ไม่น้อยกว่า 84% ของหน่วยงานที่เข้าร่วมประเมินทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวน 6,991 หน่วยงาน นอกจากนั้นประเด็นการประเมิน ITA ในปีนี้มีการเพิ่มประเด็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม การขับเคลื่อนกิจกรรมตามไม่รับของขวัญตามแผนการปฏิรูปประเทศ การเพิ่มความรัดกุมในการจัดเก็บข้อมูลให้ดียิ่งขึ้น และ ป.ป.ช.ยังได้มีข้อเสนอแนะต่อ ครม. เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้สนับสนุนและช่วยเหลือดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อยกระดับผลการประเมิน ITA ให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ป.ป.ช.หวังว่า ในปี 2566 นี้ หน่วยงานภาครัฐจำนวน 8,323 แห่งทั่วประเทศ จะร่วมมือกันยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานให้บรรลุค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกันได้
ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในหัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านสู่การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ และการส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐมีคุณธรรมและความโปร่งใสผ่านการประเมิน ITA” ตอนหนึ่งว่า เท่าที่รัฐบาลยังบริหารราชการแผ่นดินในเวลาที่เหลืออยู่จำกัดนี้ รัฐบาลยังยึดมั่นในนโยบายป้องกันการทุจริต โดยที่ผ่านมามีมาตรการต่างๆออกมาจำนวนมาก เพื่อทำให้ข้าราชการเพิ่มความระมัดระวังเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตให้มากขึ้น ทั้ง พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการมาตรฐานกลาง กำกับดูแลการจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายไม่มีผู้ใดเล็ดรอดไปจากการอยู่ภายใต้ประเมินจริยธรรมของหน่วยงานตัวเองได้เลยแม้แต่รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน ซึ่งจะช่วยป้องกันและปราบปรามการทุจริตไปได้ เพราะการทุจริตส่วนหนึ่งเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรม
“เท่ากับเป็นการล้อมคอกได้อีกอย่างหนึ่ง แม้วัวจะหายไปแล้วหลายตัว แต่ก็ยังมีวัวเหลืออยู่ในคอกอีกหลายตัว จึงจำเป็นต้องล้อม วันนี้กรอบเราถึงมีหลายกรอบ คอกที่ล้อมที่มีหลายคอก โดยเรื่องจริยธรรมก็เป็นส่วนหนึ่ง การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับวิธีทำงานของข้าราชการก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะล้อมคอกเอาไว้ ซึ่งวันนี้หลุดไปด่านหนึ่ง ก็จะไปเจออีกด่านหนึ่ง เพราะยังมีคอกล้อมอยู่อีกหลายชั้น” นายวิษณุ กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ป.ป.ช. ได้เสนอมายังรัฐบาลว่ามาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างหนึ่งคือทำให้โปร่งใส โดยเรามีกฎหมายข้อมูลข่าวสารทางราชการ และยังมีอีกสิ่งหนึ่งคือการที่รัฐบาลประกาศทำให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยลดการพบปะกันของประชาชนและข้าราชการในการติดต่อราชการ ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีเครื่องมือต่างๆเข้ามาช่วย โดยรัฐบาลเพิ่งออก พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่กำหนดว่าประชาชนสามารถติดต่อราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทั้งเรื่องภาษี การขอใบอนุญาต การขอขึ้นทะเบียนต่างๆ ให้เปลี่ยนมาติดต่อทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยไม่ต้องมาเจอกัน ซึ่งจะช่วยให้ลดการเผชิญหน้าระหว่างข้าราชการกับประชาชน ลดโอกาสการเรียกเงินใต้โต๊ะ ทั้งนี้กฎหมายเพิ่งออกมาใช้ คงต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี ถึงจะเข้าสู่ระบบดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งในการลดทุจริต ถือเป็นอีกคอกที่ล้อมวัวไว้ ให้ระบบราชการอยู่ในร่องในรอย นอกจากนั้นรัฐบาลยังสนับสนุนการประเมิน ITA ซึ่งเกิดประโยชน์มาก ทั้งประโยชน์ต่อประชาชน และเกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐ ที่รู้ว่าถูกจับตาอยู่ หน่วยงานรัฐจะได้เตือนกันเอง ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติราชการได้ผลดีขึ้น
ขณะที่ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวในหัวข้อ “รายละเอียดและความเปลี่ยนแปลงในการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566” ว่า การประเมิน ITA ในปี 2566 มีหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วม 8,323 หน่วยงาน โดยมีหน่วยงานภาครัฐในส่วนกลางและหน่วยงานกองทุนต่างๆ เข้าร่วมประเมินเพิ่มขึ้น โดยวันนี้จะใช้ผลการประเมิน ITA ในเชิงบวกยังไม่มีบทลงโทษ เป็นเมือนเครื่องมือตรวจสุขภาพหน่วยงานภาครัฐ แต่ ป.ป.ช. และ ก.พ.เห็นว่า หากการเครื่อง ITA มีมาตรฐาน สามารถชี้วัดการทำงานผู้บริหารในหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจจะนำ ITA ไปมีส่วนในการประเมินสมรรถนะของผู้บริหารในหน่วยงาน รวมทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายในหน่วยงาน อาจจะนำคะแนน ITA ไปชี้ในในการแต่งตั้งผู้บริหารในหน่วยงานได้ ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้นำผลประเมิน ITA ไปใช้ในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วในส่วนหนึ่ง
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวด้วยว่า ความเปลี่ยนแปลงในการประเมิน ITA ในปี 2566 จะเพิ่มเวลาในการประเมินจากบุคคลภายในองค์กรและภายนอกองค์กร ซึ่งจากเดิมกำหนดไว้ 3 เดือน เพิ่มเป็น 6 เดือน นอกจากนั้นยังมีการปรับเปลี่ยนวิธีตอบแบบสอบถามโดยใช้รหัส OTP ส่งเข้าหมายเลขโทรศัพท์มือถือเพื่อยืนยันตัวตน แทนหมายเลขบัตรประชาชน เพื่อป้องกันการล็อคคำตอบในผลประเมิน นอกจากนั้น ป.ป.ช.จะเข้าไปจัดเก็บข้อมูลผู้มีส่วนได้เสียและบุคคลภายนอกเองโดยตรง ลดโอกาสการล็อคผลประเมินเช่นกัน