“ป.ป้อม”เนื้อหอม ลุยฟื้นพปชร. จุดหมายนักเลือกตั้งหนีบัตร2ใบ
น่าสนใจว่าผลลัพธ์จากกระแสเลือดไหลเข้าของพลังประชารัฐ อันสืบเนื่องจากกติกาเลือกตั้งบัตร2ใบ ที่กดดันพรรคเล็กและพรรคใหม่ ให้ต้องหนีตาย และพรรคของป.ป้อม ก็เป็นที่หมายปลายทางของนักการเมืองจากทุกสารทิศ
ดูเหมือนกลยุทธ์ “พลังประชารัฐ” เวลานี้ กำลังสร้างแรงเหวี่ยง เปิดตัวนักการเมืองเข้าพรรคกันเป็นว่าเล่น
ล่าสุด "นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ" เข้ามาสวมเสื้อพรรคลงสู้เลือกตั้งครั้งต่อไปเป็นที่เรียบร้อย โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส่ง เสี่ยโต อภิชัย เตชะอุบล จากที่เคยเป็นแกนนำ กทม. ช่วยพรรคในศึกเลือกตั้ง ส.ก. ลงไปเป็นแบ็คอัพช่วยนิพิฏฐ์ ที่ภาคใต้แทน
ขณะเดียวกัน ส.ส.หลายคนของพลังประชารัฐ ที่เตรียมย้ายพรรค โดยเฉพาะ กทม. กำลังโดนเงื่อนไขของพรรคใหม่บีบให้ต้องลาออก เพื่อไปเปิดตัวในอีกไม่กี่วันนี้ข้างหน้า
จะว่าไปแล้ว สนาม กทม. ของพลังประชารัฐ นับเป็นจุดอ่อนที่เห็นได้ค่อนข้างชัด เนื่องจากกระแสพรรคในการเลือกตั้งปี 62 มา เพราะความนิยมในตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เมื่อป.ประยุทธ์ แยกทาง จึงเป็นงานหนักของพรรคที่จะฟื้นในส่วนนี้
มีการพูดถึงกันมาตลอดว่า อ.แหม่ม นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค ถูกวางตัวในคุมกทม. แต่เอาเข้าจริง เจ้าตัวก็พอจะรู้แล้วว่า ไม่ง่าย หลังเคยรุกหนัก ลุยทำพื้นที่เมืองหลวงมาระยะหนึ่ง ก่อนจะเฟดตัว และเงียบไป
แถมเวลานี้ ชื่อของ จั้ม สกลธี ภัททิยกุล อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ที่ลงในนามอิสระ กวาดมาได้กว่า 2 แสนคะแนน คัมแบ็คกลับมาอยู่พลังประชารัฐ อีกครั้ง พร้อมภารกิจสำคัญคือการรับผิดชอบพื้นที่เมืองหลวง พร้อมกับบิ๊กเนมที่เคยปลุกปั้นพลังประชารัฐ มาตั้งแต่เริ่มต้น ตอนนี้จึงอยู่ระหว่างการปรับทัพ วางตัวคีย์แมน กลยุทธ์สู้ศึก และคัดตัวผู้สมัครลงเลือกตั้ง
ทั้งยังต้องจับตาท่าทีของพรรคไทยสร้างไทย ที่นำโดย สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อาจปรับขบวนเลี้ยวมาร่วมงานกับ ป.ป้อม ด้วยก็ไม่แน่ หากดีลควบรวมกับพรรคสร้างอนาคตไทยล่ม และการจะไปต่อโดยลำพังก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ภายใต้กติกาเลือกตั้งใหม่ อีกทั้ง ไทยสร้างไทย ที่มีขุนพลในกทม. เข้มแข็งหลายคน ก็อาจเติมเต็มให้พลังประชารัฐได้
ในส่วนภาคกลาง ของพลังประชารัฐมีการวางตัว ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รับผิดชอบพื้นที่ ซึ่งอยู่ระหว่างคัดผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ดึงทีมงาน บิ๊กแจ๊ส พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ. ปทุมธานี มาแล้ว
นอกจากนั้น ยังมีกระแสข่าวว่า พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ นายก อบจ.นนทบุรี ก็จะมาร่วมงานกับพลังประชารัฐอีกด้วย
ขณะที่ภาคอีสาน มี วิรัช รัตนเศรษฐ ดูแลพื้นที่บางจังหวัด อาทิ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์สุรินทร์ เป็นต้น ส่วน แม่ทัพอี๊ด พล.อ.ธัญญา เกียรติสาร อดีตแม่ทัพภาค 2 ที่เคยถูกวางตัวดูพื้นที่อีสานเหนือ เวลานี้ก็ดูจะซาไปพอสมควร
พื้นที่ภาคเหนือ มี สันติ พร้อมพัฒน์ เลขาฯพรรค ยืนพื้นดูแลเพชรบูรณ์ และ จ.ใกล้เคียง และยังต้องจับตา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ทำท่าจะกลับมาพลังประชารัฐ และถ้ากลับจริง ก็น่าจะมีส่วนช่วยรับผิดชอบโซนเหนือตอนบนอีกด้วย
ขณะที่ พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ที่แท็กทีมกับ วราเทพ รัตนากรแกนนำกลุ่มกำแพงเพชร ที่ช่วยดูแลพื้นที่เมื่อตอนเลือกตั้งปี 62 ก็ยังไม่ชัดเจนว่า สมศักดิ์จะอยู่หรือไป แต่วราเทพ ค่อนข้างแน่แล้วว่ายังอยู่กับ ป.ป้อม คอยรักษาฐานเดิมไว้
นอกจากสมศักดิ์ จะช่วยคุมพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างแล้ว ก่อนหน้านี้ก็เคยถูกวางตัวให้ดูแลพื้นที่ภาคใต้อีกด้วย แต่ก็ไม่ได้ลงรายละเอียดทั้งหมด เนื่องจากบริบทของพลังประชารัฐ มีความทับซ้อนกันเป็นปกติ เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “วิรัช”ที่มีฐานที่มั่นในอีสาน ก็มีส่วนดูแลพื้นที่นราธิวาสอีกด้วย เพราะมี สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส เป็นสายตรงบ้านรัตนเศรษฐ นั่นเองรวมถึงหลายจังหวัดก็มีลักษณะเช่นเดียวกันนี้
เมื่อดูแนวโน้ม โดยเฉพาะในภาคใต้ ก็อาจจะต้องเผชิญปัญหาตัวผู้สมัครทับซ้อน ดูได้จากแกนนำพรรคหลายคน ต่างมีบทบาทในพื้นที่
ยกตัวอย่าง นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่ยอมรับว่า มีทีมงานจะย้ายมาร่วมงานกับพรรคอีกหลายคนรวมถึง อนุมัติ อาหมัด อดีต ส.ว.ที่อาจมีความพยายามวางตัวผู้สมัครในพื้นที่อีกด้วย เช่นที่สงขลา และจังหวัดชายแดนใต้ หลังจากนี้ อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ที่เตรียมลาออกมาร่วมงาน ก็อาจจะมีทีมงานตามมาสมทบด้วย เรียกว่าต่างคนต่างต้องการบทบาทด้วยกันทั้งสิ้น
ดังนั้น เมื่อต่างคนต่างมีพื้นที่ และต่างมีอิทธิพล จึงอาจเกิดภาวะวัดกำลังกัน ก็ไม่แน่ เมื่อดูปูมหลังแต่ละขั้ว เช่น สัมพันธ์ และ อนุมัติ ก็ไม่ค่อยจะกินเส้นกัน
จึงเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ในพลังประชารัฐ ต้องบริหารจัดการและแก้ปัญหาให้แต่ละคนมีที่ทาง ไม่ต้องมางัดข้อกันเองอย่างที่ผ่านมา
น่าสนใจว่า ผลลัพธ์จากเลือดไหลเข้าพลังประชารัฐ อันสืบเนื่องจากกติกาเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ที่กดดันพรรคเล็กและพรรคใหม่ ให้ต้องหนีตาย และพรรคของ ป.ป้อม ก็เป็นที่หมายปลายทางของนักการเมืองจากทุกสารทิศ
ปัจจัยนี้จะส่งผลต่อความสำเร็จในการเลือกตั้งของพลังประชารัฐมากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆแกนนำในพรรคต่างมั่นอกมั่นใจว่าถึงอย่างไร ก็มีโอกาสเป็นรัฐบาลสูง