“บ้านเล็ก” ในบ้านใหญ่ ตลาดการเมืองยุคดิจิทัล

“บ้านเล็ก” ในบ้านใหญ่ ตลาดการเมืองยุคดิจิทัล

สนามการเมือง ตอนนี้มีความคึกคัก หลัง ส.ส.แห่ย้ายพรรคการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ มาจาก "พปชร." แต่งานนี้ "บิ๊กป้อม" ดูเหมือนไม่เห็นยี่หระ เพราะขุมกำลัง "เด็กปั้น" ตอนนี้ มีดีกว่าที่ "จากไป"

           ตลาดนักการเมือง ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นตกใจ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ได้เขียนหนังสืออนิจลักษณะของการเมือง ด้วยแว่นเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์

 

           อาจารย์รังสรรค์ มองว่า สังคมไทยคาดหวังกับนักการเมืองสูงเกินกว่าระดับปุถุชน “เราควรจะมองนักการเมืองในฐานะปุถุชนที่มีกิเลส มีตัณหา และมีความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง”

 

           ในแง่ตลาดนักการเมือง อาจารย์รังสรรค์ชี้ให้เห็นการเติบโตของพลังเศรษฐกิจทุนนิยมในระบบเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้การตลาดนักการเมืองแปรเปลี่ยน นับแต่ปี 2512 เป็นต้นมา

 

           ยิ่งเห็นในการเลือกตั้งปี 2518 ปรากฏการณ์ “นายทุนท้องถิ่น” กระโดดขึ้นเวทีการเมืองมากมาย จึงเป็นที่มาของศัพท์การเมืองที่ว่า “บ้านใหญ่” ในตลาดเลือกตั้ง

           “จากการเมืองท้องถิ่นไปสู่การเมืองระดับชาติ ตลาดการเมืองท้องถิ่นเป็นที่ฝึกปรือวิทยายุทธ์ในเบื้องต้น ต่อเมื่อประสบความสำเร็จในเวทีการเมืองท้องถิ่นและวิทยายุทธ์ทางการเมืองแกร่งกล้า จึงกระโดดขึ้นสู่เวทีการเมืองระดับชาติ”

 

           อาจารย์รังสรรค์ สรุปว่า การไต่บันไดดาราของนายทุนท้องถิ่น เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน ก็มี ส.ส.หน้าใหม่กว่าครึ่งสภาฯ ที่มาจาก ส.อบจ. , สท. และนายก อบต.

 

 

           ยกตัวอย่างพรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส.หน้าใหม่ มากกว่า 50 คน แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ส.ส.นกแล ที่มาเพราะกระแสความสงบจบที่ลุงตู่ ประมาณ 25 คน และ “ส.ส.บ้านเล็ก” หมายถึง ส.ส.สมัยแรกที่มาจากนายก อบต. นายกเทศมนตรี และ ส.อบจ.

“บ้านเล็ก” ในบ้านใหญ่ ตลาดการเมืองยุคดิจิทัล

           คำว่า “บ้านเล็ก” หมายถึงนักการเมืองท้องถิ่น ที่มีบารมีและเครือข่าย ระดับอำเภอ หรือตำบล โดยเป็นส่วนหนึ่งของ “บ้านใหญ่”

           ดังนั้น ส.ส.พลังประชารัฐ 14 คน ที่ตบเท้าเข้าพรรคภูมิใจไทย ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.บ้านเล็ก ที่ไต่บันไดดาราจากนักการเมืองท้องถิ่นสู่ระดับชาติ ด้วยศักยภาพของตัวเองเป็นหลัก

 

           ขอฉายหนังตัวอย่าง ส.ส.หน้าใหม่ ที่เติบโตมาจากนักการเมืองท้องถิ่น มีฐานทุน ฐานเสียงเป็นของตัวเอง เปรียบเสมือนดาวฤกษ์

 

           “กำนันฉอย” สมเกียรติ วอนเพียร ส.ส.กาญจนบุรี เป็น 1 ใน 4 ส.ส.กาญจนบุรี พรรค พปชร. ที่เพิ่งเป็น ส.ส.สมัยแรก และเป็นคนสุดท้ายที่ตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มเมืองกาญจน์ย้ายพรรค

“บ้านเล็ก” ในบ้านใหญ่ ตลาดการเมืองยุคดิจิทัล

           คนท่าม่วงรู้จัก กำนันฉอย มานานแล้ว ในฐานะผู้นำชาวบ้าน จากบ้านไม้แดงหูช้าง ต.ตะคร้อ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นกำนัน ก่อนจะขยับเป็นนายกเทศบาลตำบลสำรอง ต.พังตรุ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี

 

           สุชาติ อุตสาหะ ส.ส.เพชรบุรี หรือ “สจ.เปี๊ยก” คร่ำหวอดในวงการเมืองท้องถิ่นมายาวนาน อดีตประธานสภาจังหวัด 2 สมัย, อดีตรองนายก อบจ. 2 สมัย และสมาชิก อบจ.เพชรบุรี เขต อ.หนองหญ้าปล้อง 3 สมัย

 

           เดิมที สุชาติเป็นฐานเสียงเก่าแก่ของประชาธิปัตย์ และเคยเป็นผู้ช่วยอลงกรณ์ พลบุตร อดีต ส.ส.เพชรบุรี

 

           สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเทพสถิต และนายก อบต.ห้วยยายจิ๋ว อ.เทพสถิต มี ส.อบจ.ใน อ.บำเหน็จณรงค์, อ.เทพสถิต และ อ.ภักดีชุมพล สนับสนุน รวมถึงวุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย

 

           อนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก มุสลิมปาทาน ที่มีฟาร์มปศุสัตว์อยู่ที่ อ.เมืองพิษณุโลก และไปสร้างฐานการเมืองที่ อ.เนินมะปราง

“บ้านเล็ก” ในบ้านใหญ่ ตลาดการเมืองยุคดิจิทัล

           จริงๆแล้ว เขตนี้เป็นพื้นที่ของ จุติ ไกรฤกษ์ พรรค ปชป. แต่สมัยที่แล้ว จุติให้มือขวา พงษ์มนู ทองหนัก ลงสมัคร ส.ส.แทน แต่พ่ายอนุชาแบบฉิวเฉียด

           เช่นเดียวกับ 3 คน ที่ย้ายจากพรรคพลังประชารัฐ ไปพรรคเศรษฐกิจไทย อย่าง ธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก ธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี และ ณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ พวกเขาก็มาจากนักการเมืองท้องถิ่น ที่มีฐานแน่น

 

           ดังนั้น ตลาดการเมืองยุคนี้ คำว่า อดีต ส.ส. ไม่ค่อยมีราคา เพราะพรรคการเมืองใหญ่ จะพุ่งเป้าไปที่นักการเมืองท้องถิ่น ที่มีความสดใหม่ ไม่เขี้ยว และมีความมุ่งมั่นจะเอาชนะ

 

           ผู้แทนเก่าหรืออดีต ส.ส.หลายคน มักสร้างวีรกรรม “อมกระสุน” จนทำให้แกนนำพรรคใหญ่เข็ดเขี้ยว ไม่สนใจพวกเขาเหล่านั้น โดยหันไปปั้นนักการเมืองท้องถิ่นหน้าใหม่

 

           แม้แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็เบนเข็มไปหานักการเมืองท้องถิ่น หรือบ้านใหญ่หลังใหม่ๆ มาทดแทน ส.ส.ที่ลาออกไป

“บ้านเล็ก” ในบ้านใหญ่ ตลาดการเมืองยุคดิจิทัล  

           อย่างภาคอีสาน ก็มี ยุทธนา ศรีตะบุตร นายก อบจ.หนองคาย, วุฒิพงษ์ ศิริสถิต นายก อบจ.หนองบัวลำภู และ พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ นายก อบจ.มุกดาหาร

 

           ภาคกลาง สุรพงษ์ ปิยะโชติ นายก อบจ.กาญจนบุรี และ ชัยยะ อังกินันทน์ นายก อบจ.เพชรบุรี

 

           สรุปว่า ตลาดนัดนักการเมือง พ.ศ.ปัจจุบัน หลายพรรคการเมือง ให้ความสนใจนักการเมืองท้องถิ่น ประเภทบ้านเล็กในบ้านใหญ่ มากกว่าอดีต ส.ส.ปลาร้าปลาเจ่า ลงสมัครกี่ครั้งก็สอบตก.