“นายกฯ-มท.1” ห่วง 9 จังหวัดใต้เผชิญน้ำท่วม สั่งทุกหน่วยช่วยเต็มกำลัง
“ปลัดมหาดไทย” เผย นายกฯ-มท.1 ห่วงใยพี่น้องประชาชนชาวปักษ์ใต้ 9 จังหวัด เผชิญสถานการณ์อุทกภัย กำชับผู้ว่าราชการจังหวัด บูรณาการทุกหน่วยงานให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเต็มกำลังความสามารถ
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2565 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ในขณะนี้ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ รวม 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และจังหวัดนราธิวาส ในพื้นที่ 49 อำเภอ 189 ตำบล 1,028 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 51,543 ครัวเรือน โดยจากภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยยังมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น
โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กระทรวงมหาดไทย ได้บูรณาการร่วมกับกองทัพ หน่วยทหาร และหน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วน ช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัย แก้ไขคลี่คลายสถานการณ์ตามแผนการช่วยเหลือ จัดตั้งศูนย์อพยพชั่วคราวและดูแลประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำท่วม พร้อมทั้งช่วยขนย้ายคนและสิ่งของจำเป็นไปยังพื้นที่ปลอดภัย รับ-ส่งประชาชน มอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัย และปรุงอาหารแจกจ่ายประชาชน อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางได้ติดตามสภาวะอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งได้พยากรณ์อากาศพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ของวันนี้ ถึงเวลา 06.00 น. ของวันพรุ่งนี้ (20 ธ.ค. 65) พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนัก ได้แก่ จังหวัดกระบี่ นครศรีธรรมราช พื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักมาก ได้แก่ จังหวัดตรัง พังงา สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และจังหวัดนราธิวาส จึงขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม โดยอาจทำให้เกิดท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ มีความห่วงใยในสวัสดิภาพของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่กำลังประสบสถานการณ์อยู่ในขณะนี้ และได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่ประสบสถานการณ์อุทกภัย ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ได้ทำหน้าที่ตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และแผนเผชิญเหตุอย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยการบูรณาการองคาพยพในพื้นที่ทุกภาคส่วน ทั้งกำลังทหาร ตำรวจ และพลเรือน รวมทั้งภาคเอกชน มูลนิธิ สมาคม องค์กรสาธารณกุศล และอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา ในการดูแลอำนวยความสะดวก และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และหากประเมินว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงจะเกิดเหตุการณ์ดินโคลนถล่ม หรือดินสไลด์ ต้องเร่งอพยพประชาชนไปอยู่ยังที่ปลอดภัย พื้นที่ชายฝั่งทะเล ต้องสั่งการเรือเล็กงดออกจากฝั่ง และหากมีเรือประมง หรือเรือของชาวบ้านออกนอกพื้นที่ชายฝั่ง ต้องเร่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำกลับเข้าฝั่ง พร้อมแจ้งเตือนประชาชน นักท่องเที่ยว ที่อยู่บริเวณชายฝั่ง ให้ระมัดระวังอันตรายจากคลื่นลมแรง และฝนตกหนักไว้ด้วย
“ในด้านการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ ได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และนายอำเภอในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ ได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำให้พี่น้องประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขโดยเร็ว ด้วยการจัดตั้งโรงครัวพระราชทานประกอบอาหารเลี้ยง การจัดถุงยังชีพแจกจ่ายตามวงรอบ การจัดกำลังคนดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ การจัดหน่วยแพทย์ประจำศูนย์พักพิงชั่วคราว และดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบและไม่สามารถออกจากบริเวณบ้านได้ รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้า อุบัติเหตุอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตในช่วงสถานการณ์อุทกภัย รวมถึงวิธีปฏิบัติตนในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม และการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความมั่นใจและผ่อนคลายความกังวลจากสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (ส่วนหน้า) ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี เพื่อทำหน้าที่บูรณาการสรรพกำลังทั้งเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ และกำลังคน ในการสนับสนุนภารกิจให้กับจังหวัดทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ โดยได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด หากพบว่ากำลังในพื้นที่ไม่เพียงพอ สามารถขอรับการสนับสนุนจากกองอำนวยการฯ ส่วนหน้า ดังกล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า ขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ในขณะนี้ ในทุกจังหวัด ทุกอำเภอ และทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่างระดมสรรพกำลังจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เร่งระบายน้ำท่วมและให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง และเต็มกำลังความสามารถ จึงขอให้พี่น้องประชาชนได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และติดตามข้อมูลข่าวสารจากทุกช่องทาง ทั้งนี้ หากต้องการขอรับความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสายด่วนนิรภัย โทร. 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเจ้าหน้าที่สามารถเข้าให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายบรรเทาลงภายหลังจากที่น้ำลดแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เข้าสำรวจความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการต่อไป