“F-35” ทอ.สะดุดแผลเก่า “เรือดำน้ำ”ฝ่าเกลียวคลื่น
ทอ.ไทย เคยมีประวัติทำให้สหรัฐฯโกรธควันออกหูมาแล้วเมื่อ 7 ปีก่อน กรณีการแสดงบินผาดแผลง ฉลองครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน
ปัญหาเรือดำน้ำขาดเครื่องยนต์ของกองทัพเรือกำลังจะเดินทางมาถึงตอนอวสานในปี 2566 ในขณะที่โครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35 ของกองทัพอากาศ ที่เพิ่งเปิดรอบปฐมทัศน์ไปเมื่อปีที่แล้ว ก็ถึงกำหนดที่สภาคองเกรส สหรัฐอเมริกา จะให้คำตอบว่าจะขายให้หรือไม่
สองโครงการของสองเหล่าทัพที่ถูกโฟกัสว่าจะกลายเป็นประเด็นร้อนในปีนี้ ล้วนประสบปัญหาแตกต่างกันไป กองทัพเรือถูกมองว่าจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ไม่โปร่งใส ไร้ประสิทธิภาพ หากสุดท้ายแล้ว เรือดำน้ำต้องติดเครื่องยนต์จีน ส่วนกองทัพอากาศ อาจถูกตั้งคำถามถึงความเชื่อมั่นที่สหรัฐอเมริกามีให้ หาก F-35 ไม่ได้รับการอนุมัติ
การหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่างกองทัพเรือ ผู้แทนบริษัท CSOC และผู้ช่วยทูตทหารจีนประจำประเทศไทย ในฐานะผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวก ประเด็น“เครื่องยนต์ดีเซลขับเคลื่อนกำเนิดไฟฟ้า” เพิ่งได้ข้อสรุปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
เดือน ม.ค.- เม.ย.2566 กองทัพเรือจะส่งเจ้าหน้าที่เทคนิค กรมอู่ทหารเรือที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นคณะผู้แทนไปเข้าร่วมการทดสอบทดลองเครื่องยนต์ CHD 620 ที่บริษัท CSOC เสนอทดแทนเครื่องยนต์จากเยอรมนี MTU 396 ณ โรงงานผู้ผลิต ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
ทั้งนี้ กองทัพเรือยังกำหนดความต้องการเครื่องยนต์ CHD 620 ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานทางทหารจากกองทัพเรือจีน ซึ่งเป็นกองทัพเรือของประเทศผู้ผลิต พร้อมยืนยันถึงแนวทางข้างต้น เป็นเพียงขั้นตอนปฏิบัติ ยังไม่ใช่ข้อตกลงใจใช้เครื่องยนต์ CHD 620 มาติดตั้งในเรือดำน้ำไทย แต่นั่นก็ไม่สามารถลดความแคลงใจต่อสังคม
โดยกระบวนการดังกล่าวจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน 2566 จากนั้น กองทัพเรือจะรวบรวมข้อพิจารณาเพื่อเสนอต่อ รมว.กลาโหม และรัฐบาลชุดใหม่ ที่ยังไม่ชัดว่า เลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึง อำนาจทางการเมืองจะเปลี่ยนมือหรือไม่ หากยังเป็นขั้วเดิม มีความเป็นไปได้สูงที่เรือดำน้ำจะติดเครื่องยนต์จีน แต่หากขั้วอำนาจเปลี่ยนมือ คงต้องลุ้นกันอีกครั้ง
“กองทัพอากาศ” จะก้าวผ่านความล้าสมัย ไปสู่ความเป็นกองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค ด้วยการมีเครื่องบินรบ เจเนอเรชั่น 5 เทคโนโลยีล้ำสมัย มีระบบล่องหน บินด้วยความเร็วเหนือเสียง ด้วยท่วงท่าพิสดาร ระบบเซ็นเซอร์รอบตัว และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลในอนาคต ซึ่งเป็นเสมือนยานอวกาศที่เป็นยานแม่และมียานลูกที่ไร้คนขับ “เครื่องบินขับไล่ F-35” คือตัวชี้วัด
“ลูกทัพฟ้า” กำลังลุ้นอย่างใจจดใจจ่อ หากเป็นไปตาม พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทอ. ระบุไว้ประมาณ ม.ค.-ก.ค. 2566 กองทัพอากาศ จะได้คำตอบจากสหรัฐฯ หากเป็น “Yes” จะเดินหน้าร่างสัญญา แต่หากเป็น “No” ต้องคืนงบ 369 ล้านบาท ตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566
คำสัญญาคืนงบดังกล่าว อาจมองได้ 2 ลักษณะ คือ ทอ.มั่นใจว่า F-35 จะผ่านการอนุมัติจากสหรัฐฯ แน่นอน ด้วยไทยเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ มายาวนาน 190 ปี อีกทั้งความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างสองกองทัพ และสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับคำขอซื้อ
ทว่า อีกนัยหนึ่งอาจมองได้ว่า ทอ.ก็ไม่มั่นใจเช่นกัน แต่ขอยื่นคำร้องเผื่อฟลุคต้องยอมรับว่า สหรัฐฯ ซีเรียสไม่น้อยในการพิจารณาขาย F-35 ให้แต่ละประเทศ เพราะกังวลเรื่องเทคโนโลยีในเครื่องบินรบจะเล็ดลอดออกไป โดยส่วนใหญ่ที่อนุมัติให้ ล้วนเป็นประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิด และในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก มีเพียง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์เท่านั้น
ขณะที่ ทอ.ไทย เคยมีประวัติทำให้สหรัฐฯโกรธควันออกหูมาแล้วเมื่อ 7 ปีก่อน กรณีการแสดงบินผาดแผลง โดยกองทัพอากาศไทย และกองทัพอากาศจีน เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ จ.นครราชสีมา
โดยการบินผาดแผลงในครั้งนั้น ทอ.ไทย ขนเครื่องบิน F-16 ที่รู้กันดีว่าเป็นของค่ายสหรัฐฯ มาแสดงร่วมกับหมู่บินผาดแผลงจากกองทัพอากาศสาธารณรัฐประชาชนจีน August 1st Aerobatic Team จำนวน 6 ลำ นำโดยนักบินผาดแผลงหญิง
หลังงานเสร็จสิ้นไม่นาน กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ส่งหนังสือร้องเรียนมายังกระทรวงกลาโหมไทยว่า ไทยละเมิดเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพราะพบข้อมูลว่า ในการแสดงบินผาดแผลง ทอ.ไทย ปล่อยให้ช่างเครื่องที่มากับนักบินหญิงผาดแผลงของจีน เข้าใกล้หลุมจอด F-16 ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่ง ทำให้การซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ ของกองทัพไทยชะงัก นับแต่นั้นมา
แต่กระนั้นยังมีสัญญาณบวกจากสหรัฐฯ เพราะเมื่อ 3 ปีที่แล้ว “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ขณะนั้น ได้เปิดกองบัญชาการกองทัพบก จัดพิธีรับมอบยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ (Stryker Rta Icv หรือ STRYKER RTA ICV HANDOVER CEREMONY UNITED STATES ARMY-ROYAL THAI ARMY) โดยมี พล.อ.โรเบิร์ต บราวน์ ผู้บัญชากองกำลังทางบกประจำภาคพื้นแปซิฟิค มาร่วมงาน
“สไตรเกอร์” ถือเป็นยุทโธปกรณ์ล็อตแรก ที่สหรัฐอนุมัติขายให้กองทัพไทยอีกครั้ง หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งประจวบเหมาะการกลับมาเป็น นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2562 โดย พล.อ.อภิรัชต์ ย้ำในขณะนั้นว่า
“รัฐบาลสหรัฐฯออกมาแสดงท่าทีชัดเจนที่ไทยมีการเลือกตั้ง และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีผู้นำสหรัฐฯ หลายระดับให้ความสนใจและให้การสนับสนุน ส่วนการสนับสนุนด้านการทหารเป็นไปตามโครงการเอฟเอ็มเอส และทุนการศึกษา IMET ให้กำลังพลในกองทัพ การกลับมาของสหรัฐครั้งนี้ คงมีความช่วยเหลือต่างๆ อีกเยอะ"
นี่อาจเป็นความหวังเล็กๆ ของลูกทัพฟ้า เมื่อเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน สหรัฐฯ อาจมองข้ามความผิดพลาดของ ทอ.ไทยในอดีต พิจารณาอนุมัติขาย F-35 ส่วน เรือดำน้ำ คงหนีไม่พ้นติดเครื่องยนต์จีนในอนาคต ท่ามกลางสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของ ทร.ไทย