การเมืองไทยปี 66 รทสช.โอกาสสูง ดัน “ประยุทธ์” นายกฯ ได้รัฐบาลหน้าเดิม
“สติธร” ฉายภาพการเมืองไทยปี 66 เชื่อ “2 ป.” ไม่ได้ขัดแย้งรุนแรง แค่ทะเลาะทางการเมือง เลือกตั้งครั้งหน้า ผู้สมัครแบบเขตสำคัญสุด รับ รทสช.โอกาสสูง ดัน “ประยุทธ์” นายกฯต่อ ได้รัฐบาลหน้าเดิม “ธำรงศักดิ์” ชี้ปี 65 สิ้นสุดสืบทอดอำนาจรัฐประหาร
เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์สรุปสถานการณ์การเมืองไทยรอบปี 2565 ว่า ไม่ค่อยมีอะไร เป็นปีที่พรรคการเมืองเตรียมเลือกตั้ง เผื่อยุบสภาก่อนขึ้นมาทำอย่างไร โดยฝ่ายรัฐบาลมีเอเปค 2022 เป็นหมุดหมายว่าจะยุบก่อนหรือหลัง รวมถึงการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ฝ่ายค้านอาจคึกคักกว่าหน่อย เพราะอยากเลือกตั้ง อยากกลับมาแก้มือแล้ว ในขณะที่ผู้มีอำนาจฝั่งรัฐบาลยังนิ่ง ๆ สบายใจประคับประคองตัวไป แล้วก็รอดจนถึงสิ้นปี แสดงว่าประสบผลสำเร็จ
ส่วน กรณี 2 ป.แยกกันไปสร้างดาวคนละดวงนั้น ดร.สติธร กล่าวว่า มองว่าเป็นละคร แต่ไม่ถึงกับว่าทะเลาะรุนแรง คงไม่ตัดพี่ตัดน้อง ชีวิตนี้คงไม่ยุ่งกันอีก แต่เป็นการทะเลาะกันภายใต้สถานการณ์บีบบังคับ คือ 2 ป. ไม่ได้เป็นในฐานะ “พี่ป้อม น้องป๊อก น้องตู่” มันไม่ได้มีแค่ 3 คน มันมีองคาพยพรายล้อม แต่ละคนขึ้นมาครองอำนาจ มีเครือข่ายขุมกำลังต้องดูแล พอปีที่ผ่านมา เป็นปีที่กระแสจากพรรคฝ่ายไม่ร่วมรัฐบาลกดดันให้ยุบสภาจัดเลือกตั้ง ฝ่ายรัฐบาลเตรียมการว่า หากฉุกเฉินอาจเลือกตั้งปลายปี 2565 ไม่อย่างนั้นยื้อไปปีหน้า ก็ต้องเตรียมตัวเหมือนกัน กลายเป็นการเตรียมตัวและแผน ทำให้ 2 ป.อาจเห็นไม่ตรงกัน ในขณะคนรายล้อมไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด มีความเห็นแตกต่างกัน เผลอ ๆ ขัดแย้งกันด้วย เช่น ขั้ว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขัดกับขั้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดย พล.อ.ประวิตรดูแลฝ่ายการเมือง ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าไม่ถึง ขออะไรแต่ละทีมันยาก เลยเป็นที่มาในการผลักดัน พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ เพราะว่าเข้าถึงได้
- เลือกตั้งครั้งหน้า ผู้สมัครแบบเขตสำคัญสุด
ดร.สติธร มองถึงภาพการเมืองไทยในการจัดเลือกตั้งช่วงปี 2566 ว่า น่าจะแข่งกันสนุกหน่อย เพราะเห็นแล้วว่า การเมืองยังมีขั้วอยู่ คล้าย ๆ เดิมตั้งแต่ปี 2562 แต่ว่าขั้วจะเจือจางไปหน่อยแล้ว เริ่มเห็นการทอดสะพานข้ามขั้ว พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เกิดการทอดสะพานหากันได้ การแข่งสนามเลือกตั้งอาจดูดุเดือด แต่การมองไปถึงการรวมรัฐบาลหลังเลือกตั้ง อาจดูผ่อนคลายประนีประนอมกันมากขึ้น จึงอาจส่งผลว่า ถ้าพรรคนี้กับพรรคนี้ไม่ได้เป็นศัตรูมากเกินไป การแข่งขันอาจเข้าทางผู้สมัครเบอร์ใหญ่ ไม่ว่าอยู่พรรคไหน คนนั้นได้เปรียบ
“การเลือกตั้งครั้งหน้ามองตัวบุคคลมากกว่าขั้วการเมือง หรือตัวพรรค ถ้ากลุ่มพรรคการเมืองแบบนี้ ยังไงก็ตั้งรัฐบาลด้วยกัน ทำให้ปัจจัยพรรคลดลง แต่เน้นตัวบุคคลมากขึ้นว่าเข้าถึงใครได้ ใครทำประโยชน์ได้มากกว่า อาจทำให้การแข่งขันเลือกตั้งปัจจัยเรื่องตัวคนสมัครในเขต กลับมามีความสำคัญ พอ ๆ กับเรื่องขั้ว นโยบาย และแคนดิเดตนายกฯ” ดร.สติธร กล่าว
- รับ รทสช.โอกาสจัดตั้งรัฐบาลสูง ดัน “ประยุทธ์” นายกฯต่อ
ดร.สติธร กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ย้ายไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ว่า พรรคนี้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลค่อนข้างมาก ต้องยอมรับว่า ตราบใดที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทะเลาะกับ พล.อ.ประวิตร ทางการเมืองเฉย ๆ การแยกกันวันนี้คือแยกกันเดิน ร่วมกันตีทางยุทธศาสตร์โดยอัติโนมัติ พอเป็นแบบนี้ทำให้สถานภาพของ 2 พรรคแม้จะแยกกัน ขนาดคงไม่ใหญ่เท่าเดิม แต่มีโอกาสที่รวมกันได้ ส.ส. ใกล้เคียงกับ พปชร. เมื่อปี 62 คือ 100 กว่าเสียง
“พอทะเลาะทางการเมือง ไม่ได้ทะเลาะกันจริง โอกาสรักษาฐาน 120 ส.ส. ได้ ก็รักษาเอกภาพของ ส.ว. ในการสนับสนุน 3 ป. ได้เหมือนเดิม แปลว่า แยกกันรอบนี้ แยกกันเพื่อคงความได้เปรียบ รักษาเอกภาพภายใน ส.ว. ไว้ได้ ถ้าเป้าหมายของ ส.ส. 2 พรรครวมกันยังเข้าเป้าอยู่ เป้าคือประมาณเดิม พปชร. เดิมเป็นอย่างน้อย หาพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันเกาะกันไว้ก่อนแน่ ๆ ให้ได้ 125 เสียง รวมกับ 250 ส.ว. ดัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หลังจากนั้นหาพรรคร่วมรัฐบาลต่อ” ดร.สติธร กล่าว
- เชื่อได้รัฐบาลหน้าเดิม
ดร.สติธร เชื่อว่า ขั้วรัฐบาลเดิมในปัจจุบันมีโอกาสสูงที่จะเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าอีก แต่ต้องดูว่า พล.อ.ประยุทธ์ พา รทสช.เข้าเป้าหรือไม่ หากทำได้จะกลับมาเป็นนายกฯอีกสมัย และอาจมีพรรคร่วมรัฐบาลหน้าใหม่เข้ามาบ้าง แต่ไม่มีสัดส่วนต่อรองอะไรมาก ส่วนโอกาสข้ามขั้วมาจับมือกับพรรคเพื่อไทยคงเป็นไปได้ยาก ส่วนจับมือกับพรรคก้าวไกลเรียกว่าเป็นไปไม่ได้เลย
โดยการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล เกิดขึ้นได้กรณีเดียวคือ พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ได้เกินกว่า 200 ที่นั่ง ส่วนพรรคก้าวไกลต้องได้ไม่ต่ำกว่า 40-50 ที่นั่ง จึงมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลในขั้วฝ่ายค้านปัจจุบัน แต่พรรคเพื่อไทยอาจต้องมีภาวะจำยอม กัดฟันรับพรรคก้าวไกลมาร่วมรัฐบาล แม้ว่าความสัมพันธ์ของแกนนำระดับสูงอาจไม่ลงรอยกัน แต่เพื่อสนองเสียงประชาชนก็ต้องยอม
- “ธำรงศักดิ์” ชี้ปี 65 สิ้นสุดสืบทอดอำนาจรัฐประหาร
ขณะที่ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต มองว่าการเมืองไทยในปี 2565 คือการสิ้นสุดในความพยายามสืบทอดอำนาจรัฐประหารจากปี 2557 โดยภาพที่เห็นเด่นชัดคือ ความพยายามของสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กลับมาเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง เช่น ความต้องการปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่ให้มีการโหวตเลือกนายกฯ รวมถึงการแก้ระเบียบเลือกตั้งให้ย้อนกลับไปลักษณะปี 2540 เป็นต้น จึงเป็นความสำเร็จของฝ่าย ส.ส. ซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง นอกจากนี้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อกลางปี 2565 ที่ผ่านมา ชัยชนะอย่างท่วมท้นของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นการปลุกเร้าความฝันของคนในสังคมไทย อยากมีนายกฯจากการเลือกตั้งที่เป็นนักการเมือง เป็น ส.ส. รวมถึงผลโพลสำรวจต่าง ๆ หลายครั้ง ชี้ให้เห็นว่าคนหลายจังหวัดไม่เอา คสช. ไม่เอาคณะรัฐประหารแล้ว