โรงไฟฟ้า กกพ.ไปต่อ! ป.ป.ช.ตีตกปมฮั้วประมูล แม้ 40 เอกชนเครือข่ายเดียวกันชนะ
มติ ป.ป.ช.ไม่รับเรื่องร้องฮั้วประมูล ปม กกพ.ประกาศชื่อ 43 เอกชนคว้างาน “โรงไฟฟ้าชุมชน” เศรษฐกิจฐานราก แม้พบถึง 40 แห่งมีกรรมการ-ผู้ถือหุ้นเครือเดียวกัน เหตุไม่มีในข้อกำหนดในคุณสมบัติ แต่แจ้ง กกพ.แล้ว หวั่นเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2566 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงต่อสื่อมวลชนว่า จากกรณีเรื่องกล่าวหาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ว่าพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าฯ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) โดยมิชอบ โดยพิจารณาให้บริษัทฯ ต่าง ๆ ที่มีกรรมการบริษัทเป็นบุคคลเดียวกันทั้งหมด เป็นผู้ผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัทดังกล่าว
โดยไม่ได้ตรวจสอบการมีผลประโยชน์ร่วมกันของนิติบุคคลที่เป็นผู้สมัครรายต่าง ๆ และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ละเว้นไม่ดำเนินการตรวจสอบและยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาครั้งดังกล่าวหรือตัดสิทธิบริษัทดังกล่าวทั้งหมดไม่ให้เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติ เป็นผลให้มีหลายบริษัทที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติมีกรรมการบริษัทเป็นบุคคลเดียวกันแบ่งได้เป็น 7 กลุ่ม รวม 40 ราย จากผู้ได้รับการคัดเลือกทั้งหมด 43 รายนั้น
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่าโครงการดังกล่าว มีผู้ยื่นข้อเสนอเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 246 ราย ในชั้นการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค คณะอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอ ขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ได้ตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ของบริษัทที่ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าในโครงการดังกล่าวพบว่ามีบริษัทผู้ยื่นคำขอเสนอขายไฟฟ้าโครงการดังกล่าวหลายบริษัท มีกรรมการบริษัทเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันทั้งหมดตามที่กล่าวหาจริง
แต่เนื่องจากระเบียบดังกล่าว มิได้มีการกำหนดข้อห้ามในลักษณะดังกล่าวไว้ คณะอนุกรรมการฯ จึงทำความเห็นเสนอคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติฯ ว่าบริษัทดังกล่าวมีคุณสมบัติครบถ้วน จากนั้นคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติฯ ได้ให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค จำนวน 95 โครงการ และมีผู้ไม่ผ่านจำนวน 151 โครงการ จากโครงการทั้งหมด 246 โครงการ โดยนายเสกสรร เสริมพงศ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ มีประกาศการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิคโครงการฯ ซึ่งเป็นประกาศที่ผู้กล่าวหาโต้แย้งว่ามีการพิจารณาคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอโดยมิชอบ จากนั้นผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติและเทคนิคฯ จำนวน 118 ราย ได้ยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และมีผู้สมัครที่ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวจำนวน 74 ราย ทำให้ท้ายที่สุดแล้วมีผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและความพร้อมด้านเทคนิค จำนวน 169 ราย
สำหรับการพิจารณาด้านราคาโครงการดังกล่าว ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว โดยพิจารณาซองเสนอราคาของผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติดังกล่าวทั้ง 169 ราย มีคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคาไม่ถูกต้อง จำนวน 10 ราย จึงนำคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคาที่ถูกต้อง จำนวน 159 ราย มาพิจารณา เรียงลำดับส่วนลดราคา (%) ศักยภาพระบบไฟฟ้า และเป้าหมายตามประเภทเชื้อเพลิงตามขั้นตอน จนได้ผู้รับการคัดเลือกรวมจำนวน 43 ราย ซึ่งมีบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกที่มีรายชื่อกรรมการและผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลเดียวกันทั้งหมด จำนวน 7 กลุ่ม รวม 40 ราย ดังที่ผู้กล่าวหาได้นำเรื่องมาร้องเรียนยังสำนักงาน ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผู้ถูกร้องที่ 1 มิได้มีหน้าที่หรือส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าในโครงการดังกล่าว ที่ได้มีการออกประกาศการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เรื่อง รายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ตามที่กล่าวหา
สำหรับกรณีกล่าวหาคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ผู้ถูกร้องที่ 2 นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เรื่องนี้คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ ได้ตอบข้อหารือสรุปได้ว่า โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) พ.ศ. 2564 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับการคัดเลือกหรือจัดหาและกำกับวิธีการดำเนินการไว้เป็นการเฉพาะ มิใช่การจัดซื้อจัดจ้างและการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุ ตามนัยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ
ดังนั้น จึงมิต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างฯ แต่อย่างใด ดังนั้น ผู้ถูกร้องที่ 2 จึงมีหน้าที่ในการพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ยื่นข้อเสนอราคาโครงการดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) พ.ศ. 2564 เมื่อระเบียบดังกล่าวดังกล่าวมิได้กำหนดให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีหน้าที่ตรวจสอบการมีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้ที่ยื่นข้อเสนอ และมิได้กำหนดให้กรณีผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าต่างรายที่มีกรรมการบริษัทเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันเป็นลักษณะต้องห้ามที่ต้องตัดสิทธิผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้ารายต่าง ๆ ที่มีกรรมการบริษัทเป็นบุคคลเดียวกัน จึงเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 2 ดังกล่าว เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าวแล้ว ไม่ปรากฏว่าเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้ารายใดแต่อย่างใด
จากการตรวจสอบไม่ปรากฏพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการไต่สวนต่อไปได้ จึงมีมติไม่รับเรื่องไว้พิจารณาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 49 และระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ. 2561 ข้อ 45 (1)
โดยมีข้อสังเกตว่าในกรณีที่บริษัทหลายบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) มีกรรมการบริษัทเป็นบุคคลเดียวกัน ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ร่วมกันและอาจจะทำให้เกิดการได้เปรียบและเสียเปรียบกันได้ จึงให้แจ้งให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้ที่เกี่ยวข้องทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป