วิบากกรรม “ประยุทธ์” พลิกชนักปักหลังใน ป.ป.ช.ถึงปมร้อน หจก.หลานชาย
พลิกวิบากกรรม “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” 5 คดีชนักปักหลังในชั้น ป.ป.ช. ยังอยู่ระหว่างสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ก่อนถึงปมร้อน หจก.คอนเทมโพรารีฯ “หลานชาย” ถูก “ชูวิทย์” อ้างพัวพันเครือข่าย “ตู้ห่าว” ธุรกิจทุนจีนสีเทา
ช่วงเวลานี้ชื่อของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กำลังกลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” จากทั่วทุกสารทิศ
ทั้งประเด็นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่อง “สืบทอดอำนาจ” ถอดสูทเปิดหน้าเป็น “นักการเมือง” เต็มตัว ไปต่อกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เดินหมากรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า หวังนั่งเก้าอี้นายกฯสมัย 3
ท่ามกลางกระแส “ตกต่ำ” ของ “ประยุทธ์” โดยนับตั้งแต่รวมเสียงตั้งรัฐบาลเมื่อปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชูเป็นแคนดิเดตนายกฯ ความนิยมในตัว “บิ๊กตู่” ลดน้อยถอยลงเรื่อย ๆ ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา
สิ่งเหล่านี้สะท้อนมาจากฉายารัฐบาลจากสื่อประจำทำเนียบฯปี 2565 ถึง “ประยุทธ์” ว่า “แปดเปื้อน” หมายความถึงประเด็น “วาระ 8 ปี” สั่นคลอนภาพลักษณ์และกลายเป็นข้อครหาถึงความชอบธรรมในการครองเก้าอี้นายกฯมายาวนาน รวมถึงสังคมเคลือบแคลงสงสัย พล.อ.ประยุทธ์ ที่มักพูดเสมอว่า ไม่ยึดติดอำนาจ ทำเพื่อบ้านเมือง ไม่เอื้อประโยชน์พวกพ้อง
ยิ่งเมื่อปัญหาใต้พรมถูกขุดคุ้ยขึ้น ใกล้ตัวเกินกว่าจะปัดความเกี่ยวโยงได้ ทั้งนโยบายประชานิยม ทุนสีเทาสนับสนุนพรรคการเมือง หรือ แม้แต่นักการเมืองใกล้ตัว นายทหารใกล้ชิด ที่ได้ไปนั่งอยู่ในบอร์ดบริหารบริษัทพลังงาน แม้พิสูจน์กันทางกฎหมายไม่ได้ แต่ก็ทำให้ถูกมองว่า ไม่ได้ใสสะอาด ผุดผ่องอีกต่อไป
แม้กระทั่งผลโพลจากสำนักต่าง ๆ หลายแห่งสำรวจความนิยม “ผู้นำ” ในรอบปี 2565 ที่ผ่านมา ประชาชนหลายภาคไม่เลือก “ประยุทธ์” เป็นผู้นำแล้ว มีแค่บางภาคเท่านั้นที่ยังคะแนนนิยมสูงอยู่
ประเด็นเหล่านี้ เห็นได้อีกจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 4 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายค้านมักพุ่งเป้าซักฟอก “ประยุทธ์” ในประเด็น “คนใกล้ชิด” เข้าไปพัวพันกับเรื่อง “สีเทา” ต่าง ๆ แม้สุดท้ายหลายคดียังไม่สิ้นสุด แต่ข้อครหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ “บิ๊กตู่” ปัดไม่พ้นตัว
รวมถึงการใช้งบประมาณ-การกู้เงินต่าง ๆ ตลอดเกือบ 4 ปีที่ทำหน้าที่ “นายกฯ” สมัย 2 จนถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องความไม่คุ้มค่า เป็นแค่นโยบายประชานิยมที่อาจไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
นอกจากนี้ “ประยุทธ์” ยังถูกฝ่ายค้านยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปรากฏชื่อ “บิ๊กตู่” เป็นผู้ถูกกล่าวหาทั้งในฐานะเป็น “ครม.” และฐานะ “นายกฯ” 5 ประเด็นดังนี้
- การกล่าวหา ครม. ทั้งคณะ กรณีดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ผิดพลาด ส่อทุจริตต่อหน้าที่
- กล่าวหา ครม. ทั้งคณะ กรณีการจัดหาชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด
- กรณีออกมติ ครม. ที่ขัดต่อกฎหมายโดยเอื้อประโยชน์ให้เกิดการทุจริตสต๊อกยางพารา
- กรณี ครม. อนุมัติงบกลางและเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินผิดวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์ 2,054 ล้านบาท ผิดวัตถุประสงค์
- กรณีกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ กรณีกระทำความผิดต่อตำแหน่งราชการ ในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่ไร้ประสิทธิภาพ
นี่ยังไม่นับคนในรัฐบาลอีกหลายคนถูกร้องเรียนกล่าวใน ป.ป.ช.เช่นกัน สะท้อนตามฉายารัฐบาลปี 2565 ของสื่อทำเนียบฯที่ว่า รัฐบาล “หน้ากากคนดี”
อย่างไรก็ดีข้อกล่าวหาเหล่านี้ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นของสำนักงาน ป.ป.ช. ดังนั้นจึงยังถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็น “ผู้บริสุทธิ์” อยู่
ขณะเดียวกันปมร้อนล่าสุด จากเดิมยุทธการกวาดล้าง “มาเฟียจีนสีเทา” พุ่งเป้าไปยัง “ศัตรู” ของฝ่ายรัฐบาล กลับเป็น “บูมเมอแรง” ขว้างไปแล้วพุ่งกลับเข้าตัว “ประยุทธ์” อย่างจัง
พลันที่ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” อดีตนักการเมืองชื่อดัง ผันตัวมาเป็น “เซเลปโลกออนไลน์” ช่วยตำรวจชำแหละขบวนการ “ทุนจีนสีเทา” มาตั้งแต่ต้น ยกหลักฐานเอกสาร พร้อมพาดพิงว่า รถทัวร์ของ บริษัท เอ็ม แอนด์ เอ็ม ทรานสปอร์ต เซอร์วิส จำกัด ซึ่งมี นายสิทธิไพบูลย์ คำนิล หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา คดีฟอกเงิน พัวพันกับกรณี “ตู้ห่าว” เป็นกรรมการนั้น ได้ “เช่าซื้อ” มาจาก หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น
จนถึง ณ ขณะนี้ (6 ม.ค. 2566) หจก.คอนเทมโพรารีฯ ยังมิได้มีการชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงแก่สาธารณะ หรือสื่อมวลชนแต่อย่างใด รวมถึงไม่ได้ถูกตำรวจตั้งข้อกล่าวหาหรือเรียกตัวมาสอบสวน ดังนั้นจึงยังถือว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับกรณี “ตู้ห่าว”
หลายคนอาจทราบกันแล้วว่า หจก.คอนเทมโพรารีฯ มีนายปฐมพล จันทร์โอชา เป็นหุ้นส่วน และหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยนายปฐมพล คือบุตรชายคนโตของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชาย “บิ๊กตู่”
การพุ่งเป้าไปที่ “เบอร์ 1 ตึกไทยคู่ฟ้า” เช่นนี้ ร้อนถึงสื่อไปถามประเด็นนี้กับ “บิ๊กตู่” ที่ลงพื้นที่ จ.สิงห์บุรี ทำเอาเจ้าตัวออกอาการหงุดหงิด ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์พร้อมกับเดินออกจากวงสื่อทันที
ขณะที่กรณี หจก.คอนเทมโพรารีฯ ก็ยังไม่เคลียร์เช่นกัน ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. ในประเด็นถูกกล่าวหาว่าบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนจัดตั้งในค่ายทหารสมเด็จพระเอกาทศรถ (กองทัพภาคที่ 3) แต่กลับได้ร่วมประมูลและชนะงานโครงการของรัฐ โดยเฉพาะของกองทัพภาคที่ 3 หลายโครงการ รวมวงเงินหลายร้อยล้านบาท
ขณะที่ธุรกิจของ “หลานประยุทธ์” 2 คน คือ นายปฐมพล และนายปฏิพัทธิ์ จันทร์โอชา ลูกชาย พล.อ.ปรีชานั้น มีทั้งสิ้น 4 แห่ง คือ
- หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (นายปฐมพล ถือหุ้น 33.3333%)
- บริษัท พีทีที พาวเวอร์ กรุ๊ปคอน จำกัด ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (นายปฐมพล ถือหุ้น 33.3333%)
- บริษัท บีวิช คาร์ เร้นทอล จำกัด ทำธุรกิจการให้เช่าและให้เช่าแบบลิสซิ่งยานยนต์ชนิดรถบรรทุกและยานยนต์หนักอื่น ๆ (นายปฐมพล ถือหุ้น 16.6667%)
- บริษัท พี-ไรท์แอนด์บริส จำกัด ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (นายปฏิพัทธิ์ เป็นกรรมการ และถือหุ้นใหญ่สุด 90%)
โดยนับตั้งแต่ปี 2558 จนถึงวันที่ 11 ก.พ. 2565 มีธุรกิจของนายปฐมพล และนายปฏิพัทธิ์ จันทร์โอชา อย่างน้อย 3 แห่งที่เป็นคู่สัญญารัฐ ได้แก่ หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น บริษัท บีวิช คาร์ เร้นทอล จำกัด และบริษัท พี-ไรท์ แอนด์ บริส จำกัด รวมวงเงิน (นับรวมที่เป็นคู่สัญญาเอง และเป็นกิจการร่วมค้า) ไม่น้อยกว่า 1,167.05 ล้านบาท
เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้ยก 5 กรณีหลักที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเสี่ยงในการทุจริตคอร์รัปชันประจำปี 2564 โดยกรณีของ หจก.คอนเทมโพรารีฯ เป็นหนึ่งในตัวอย่างดังกล่าวด้วย
ข้อเท็จจริงเหล่านี้กำลังเป็น “วิบากรรม” ของ “ประยุทธ์” ว่าจะชี้แจงความบริสุทธิ์ ฝ่าขวากหนามอุปสรรคข้อกล่าวหาต่าง ๆ เพื่อนั่งเก้าอี้นายกฯสมัย 3 ตามที่หวังไว้ได้หรือไม่